กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--สกว.
ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ในการส่งออกผลิตผลทางการเกษตรสู่ตลาดโลกรวมไปถึงการหล่อเลี้ยงคนในประเทศ มาตั้งแต่ครั้งอดีต เช่นเดียวกันกับที่เกษตรกรไทยมักต่อสู้กับปัญหาในระบบการผลิตพืชผลเหล่านั้นเรื่อยมา อาทิ ปัญหาสารพิษตกค้างจากยากำจัดศัตรูพืช ค่าใช้จ่ายในการซื้อยากำจัดศัตรูพืช ไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าแมลง ยากำจัดจุลชีพที่ก่อโรคและยาฆ่าวัชพืช เป็นจำนวนมากขึ้นทุกปี ซึ่งปัญหาการที่ต้องใช้ยากำจัดจุลชีพและเชื้อราในจำนวนมากขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการดื้อยา
จะเห็นได้ว่าปัญหาใหญ่ต่อการผลิตพืชเศรษฐกิจไทยส่วนหนึ่งอยู่ที่ผลการผลิตถูกทำลายลงด้วย จึงเกิดงานวิจัยเพื่อนำมาป้องกันและมีแนวโน้มของความเป็นไปได้ในการใช้ได้จริงกับพืชหลากชนิดในอนาคตข้างหน้า โดยวิธีการตรวจแยกหาเชื้อเอนโดรไฟท์จากต้นพืชสมุนไพรพื้นบ้าน ที่สร้างสารทุติยภูมิที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อนำไปใช้ในชีววิธีควบคุมศัตรูพืชที่ก่อโรคกับพืชเศรษฐกิจ แทนสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเชื้อจุลินทรีย์เอนโดไฟท์ยังมีเอนไซม์ไฟเทสเพื่อย่อยสารประกอบทางเคมีให้กลายเป็นสารฟอสฟอรัส ซึ่งพืชและสัตว์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเติบโตได้ โดยที่นับวันปริมาณของฟอสฟอรัสอิสระที่อยู่ในธรรมชาติจะมีน้อยลง ทำให้พืชและสัตว์เศรษฐกิจที่ต้องการฟอสฟอรัสนั้น ไม่ได้รับปริมาณฟอสฟอรัสได้ตามปริมาณที่จำเป็น มีผลกระทบต่อการเติบโต จนส่งผลกระทบต่อการผลิตพืชและสัตว์โดยรวมในที่สุด
ดร. จีรพันธ์ วรพงษ์ โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ เชื้อเอนโดไฟท์(Endophyte) หมายถึง จุลินทรีย์ใดๆที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของพืชบริเวณ ลำต้น และกิ่งโดยที่ไม่ก่อให้เกิดโรคต่อพืชเจ้าบ้าน ซึ่งเชื้อราเอนโดไฟท์และต้นพืชจะอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน (mutualistic symbiosis) โดยต้นพืชให้อาหารและที่อาศัยแก่เอนโดไฟท์ ในขณะเดียวกันเอนโดไฟท์ก็สามารถสร้างสารทุติยภูมิที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพหรือฮอร์โมนที่เป็นประโยชน์ต่อพืช และสามารถนำเอนโดไฟท์ที่สามารถสร้างเอนไซม์ไฟเทสย่อยสาร “ไฟติค” (phytic) เพิ่อให้ได้ฟอสฟอรัสที่พืชสามารถนำไปใช้โดยตรง นับว่าเป็นการให้ปุ๋ยแก่พืชในอีกรูปแบบหนึ่ง ทั้งยังสามารถพัฒนาไปเชื้อเอนโดไฟท์เหล่านั้นไปสู่การประยุกต์ใช้ความสามารถในการยับยั้งศัตรูพืช จึงมีส่วนช่วยในการพัฒนาและปรับปรุงเพิ่มผลผลิตได้อย่างมาก นอกจากนี้เฉพาะราเอนโดไฟท์ที่สามารถสร้างเอนไซม์ไฟเทสที่อุณหภูมิสูงจะทำให้การนำเอาเอนไซม์ไปใช้ในอุตสหกรรมซึ่งมักมีกระบวนการที่ต้องใช้อุณหภูมิสูงเป็นไปได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”
การเก็บตัวอย่างพืชที่ใช้ในงานวิจัยในครั้งนี้ได้มาจากพืชสมุนไพรในสวนสิรีรุกขชาติมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ในการเก็บตัวอย่างจากพืชมาทำการทดลองนั้นจะต้องคัดเลือกใบ หรือกิ่งไม้หรือลำต้นที่สด ไม่แห้งและไม่อ่อนเกินไปและรีบนำพืชมาแยกเชื้อเอนโดไฟท์ ถ้าทำการแยกเชื้อไม่ทันภายในวันที่เก็บให้นำมาเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ก่อนทำการแยกเชื้อเอนโดไฟท์จากพืชตัวอย่างมากกว่า 50 ชนิด อาทิ จาก ต้นอบเชย ชมพูพันธ์ทิพย์ จันทน์เทศ ฝาง เป็นต้น
ดร.จีรพันธ์ เปิดเผยว่า สามารถแยกได้เชื้อเอนโดไฟท์กว่า 245 สายพันธุ์ จากนั้นจึงนำมาขยายปริมาณในห้องทดลองเพื่อทดสอบผลการใช้งานกับพืชเศรษฐกิจชนิดต่างๆ โดยทดลองนำเชื้อเอนโดไฟท์สายพันธุ์ต่างที่แยกออกได้ ใส่ลงไปไปในกระถางหรือแปลงเพาะปลูกพืช เช่น พริก คะน้า ทุเรียน และข้าว เพื่อยับยั้งเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรครากเน่าในคะน้าและข้าว เพราะโรครากเน่านี้ได้นำความเสียหายมาสู่ผลผลิตทางการเกษตรเป็นอย่างมาก เมื่อทดสอบการออกฤทธิ์ของสารทุตยิภูมิที่เชื้อเอนโดไฟท์สร้างขึ้น พบว่า เชื้อเอนโดไฟท์หลายชนิดสามารถสร้างสารที่มีฤทธ์รบกวนหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคในพืช ด้วยทั้งการแพร่ไปในอาหารเลี้ยงเชื้อ พื้นดิน และปลดปล่อยสารออกฤทธิ์เหล่านั้นไปทางอากาศ เมื่อพบกับ เชื้อราหรือแบคมีเรียที่กอให้เกิดโรค สารเหล่านั้นจะทำงานด้วยการยับยั้งระบบการเจริญเติบโตของจุลชีพ จนกระทั่งไม่เกิดโรคนที่สุด
จากผลการทดสอบ พบว่า เชื้อเอนโดไฟท์ Muscodor albus สายพันธุ์MFC2 สามารถสร้างสารทุติยภูมิที่เป็นก๊าซยับยั้งเชื้อราที่ก่อโรคในเมล็ดข้าว นั่นคือสารทุติยภูมิที่เชื้อเอนโดไฟท์สร้างขึ้นนั้นจะล่องลอยไปในอากาศ แล้วออกฤทธิ์ยังยั้งการเจริญเตอบโตของเชื้อราที่ก่อโรคในเมล็ดข้าว(ดังรูป) ทั้งนี้ยังมีเชื้อราเอนโดไฟท์TRL2 สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ Phytophthora palmivora ที่ก่อให้เกิดโรครากเน่า โคนเน่าในทุเรียน เชื้อราเอนโดไฟท์VFIB1และCSC28 สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อCollectrotricchum gloeosporioides ที่ก่อโรคแอนแทรกโนสในผลไม้ เชื้อราเอนโดไฟท์ VFIB1,TRL2,และVTL7 สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ Phytophthora capsici ที่ก่อให้เกิดโรครากเน่า โคนเน่าในพริก
การวิจัยในขั้นตอนต่อไปนั้น ดร.จีรพันธ์กล่าวว่าจะเป็นไปในแนวทางของการศึกษากระบวนการยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคพืชชนิดต่างๆของเชื้อเอนโดไฟท์ ไม่ว่าจะเป็นการเจาะลึกลงไปถึงกระบวนการสร้างสารยับยั้งเหล่านั้นในระดับพันธุกรรม การทำงานของสารเหล่านั้น ทั้งในแบบการแพร่ผ่านของแข็ง ของเหลว และก๊าซ การสกัดหรือสร้างสารยับยั้งเหล่านี้ขึ้นมาในห้องปฏิบัติการเพื่อเป็นเพิ่มปริมาณสารกำจัดศัตรูพืชแบบชีววิธี และส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือการทดสอบว่าการใช้สารเอนโดไฟท์กำจัดจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคต่างๆแล้วจะไม่มีผลกระทบต่อเนื่องไปยังผู้บริโภคปลายทางหรือไม่ เพื่อจะรับรองได้อย่างแน่นอนว่า เชื้อเอนโดไฟท์สามารถใช้ในกระบวนการควบคุมโรคพืชได้อย่างมีปลอดภัยหรือไม่
การใช้เชื้อเอนโดไฟท์เป็นชีววิธีควบคุมศัตรูพืชและเพิ่มแร่ธาตุที่สำคัญให้กับพืชเศรษฐกิจ เป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาที่จะทำให้การผลิตพืชเกษตรของไทย มีจำนวนเพียงพอกับความต้องการของคนในประเทศและตลาดโลกได้อย่างมีคุณภาพ ปลอดภัยจากสารเคมีด้วยวิธีทางชีวภาพจากการศึกษาค้นคว้าและทำการทดลองโดยฝีมือของคนไทย ทั้งยังทำให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของพืชสมุนไพรพื้นบ้านอันเป็นภูมิปัญญาไทยที่นำมาใช้ได้อย่างลงตัว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ติดต่อประชาสัมพันธ์ สกว. 0-2619-6188--จบ--