กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--Syllable
งาน BIG+BIH April 2014 ฟื้นคืนชีพ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสินค้าไลฟ์สไตล์ไทย-เทศเดินทัพจัดแสดงสินค้าใหม่เทรนด์ใหม่ล่าสุด สะท้อนศักยภาพในการออกแบบของดีไซเนอร์ไทยในยุคบ้านเมืองวิกฤติ เผยดีเอ็นเอแห่งไอเดียสร้างสรรค์ได้ในทุกสถานการณ์ ชี้อุตสาหกรรมฯ ยังเข้มแข็ง และมีช่องทางการตลาดใหม่ๆ ให้เดินหน้าลุย งานแสดงสินค้าของขวัญและงานแสดงสินค้าของใช้ในบ้าน เดือนเมษายน 2557 หรือ “BIG+BIH April 2014” กลับมาอีกครั้งอย่างสมศักดิ์ศรีงานแสดงสินค้าไลฟ์สไตล์ที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน โดยจะจัดขึ้น ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา วันเจรจาธุรกิจวันที่ 19 - 21 เมษายน 2557 เวลา 10.00 - 18.00 น. และวันจำหน่ายปลีกวันที่ 22 - 23 เมษายน 2557 เวลา 10.00 - 21.00 น.
สินค้าของขวัญ สินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้าตกแต่งและของใช้ในบ้านจำนวนกว่า 1,600 คูหา จากผู้เข้าร่วมงานกว่า 600 บริษัทจากนานาประเทศซึ่งรวมถึง อินเดีย อินโดนีเซีย จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ กานา แอฟริกาใต้ อิตาลี ไต้หวัน ปากีสถาน ฮ่องกง พม่า ลาว กัมพูชา เนปาล สิงค์โปร์ และญี่ปุ่น จะมาจัดแสดงร่วมกับสุดยอดผู้ผลิต ผู้ประกอบการของไทย บนพื้นที่จัดแสดง 40,000 ตารางเมตร
คุณนิพนธ์ ระตะนะอาพร นายกสมาคมการค้าเครื่องใช้ในครัวเรือนไทย หนึ่งในสมาคมที่มีบูธผู้ประกอบการเข้าร่วมงานกว่า 200 บูธ เปิดเผยถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ในครัวเรือนไทยว่า “สินค้าเครื่องใช้ในครัวเรือนและของใช้บนโต้ะอาหารยังคงเดินหน้าไปได้เรื่อยๆ โดย Growth Rate อยู่ที่ประมาณ 5-10% ต่อปี ในอดีตที่ผ่านมา Growth Rate ดีมาโดยตลอดคืออยู่ที่ราวๆ 10% มีเพียงระยะหลังที่มีวิกฤติการเมืองทำให้ตกมาอยู่ที่ 5% ในส่วนของปีหน้าเราตั้งเป้าไว้ที่ 5% แต่ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าวิกฤติการเมืองต้องจบในไตรมาสแรก”
“จุดเด่นของสินค้าไทยคือเรื่องของคุณภาพ และเรื่องของดีไซน์ อีกประการคือพ่อค้าคนไทยรักษาคำพูด ในอดีตที่ผ่านมามีอยู่ยุคหนึ่งเกาหลีค่อนข้างจะโดดเด่น แต่มาสะดุดตอนราคาวัตถุดิบเปลี่ยน ออร์เดอร์ที่ลงกับทางเกาหลีเขายกเลิกหมดเลย หลังจากนั้นออร์เดอร์ก็ไหลมาทางไทยเกือบหมด คนไทยนี่ถึงจะขาดทุนก็จะยังส่ง อันนี้คือจุดเด่นอันหนึ่งของพ่อค้าไทย เรารักษาภาพลักษณ์ รักษาคำพูด เพื่อรักษาตลาด บางครั้งการค้าไม่ใช่ว่าการค้าแล้วคุณจะกำไรตลอด บางครั้งในช่วงวิกฤติถึงจะขาดทุนเราก็ต้องทำ อันนี้เป็น Mindset ของผู้ประกอบการไทย” คุณนิพนธ์กล่าวให้ความมั่นใจว่า สินค้าไทยที่นำมาจัดแสดงนั้นโดดเด่นในเรื่องของเทรนด์ รวมถึงผู้ผลิตไทยยังอยู่ในฐานะเทรนด์เซตเตอร์
คุณจิรบูลย์ วิทยสิงห์ เลขาธิการสมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทย ตั้งประเด็นในเรื่องของวิกฤติที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญ รวมถึงทางออกในการแก้ไขปัญหา “วิกฤติในตอนนี้ก็คือ การเมืองทำให้เกิดการขาดความเชื่อมั่น รวมถึงเรื่องของการเข้าถึงแหล่งทุนของ SMEs ต้องเรียกว่า SMEs กำลังมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง การแก้ไขปัญหาในตอนนี้คือการใช้เครื่องมือของภาครัฐที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย SMEs Pro-active วงเงิน 300 ล้านบาท กองทุนนวัตกรรม หรือการพัฒนาวิจัยจากสภาวิจัยแห่งชาติ สวทช. เป็นต้น”
คุณจิรบูลย์และคุณนิพนธ์ยังเห็นไปในแนวทางเดียวกันคือ ผู้ประกอบการต้องปรับตัวโดยการหาตลาดใหม่ๆ โดยตลาดที่มาแรงได้แก่ออสเตรเลีย รัสเซีย อัฟริกา และญี่ปุ่น เนื่องจากตลาดดังกล่าวกำลังชะลอการซื้อสินค้าจากประเทศจีน ทั้งนี้ ภาครัฐควรเดินนำหน้าเพื่อลดความเสี่ยง
เกี่ยวเนื่องกับวิกฤติทางการเมืองไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทางสมาพันธ์ได้มีการแจ้ง ติดต่อผู้ที่เข้ามาสมัครร่วมงาน และประชาสัมพันธ์ยืนยันออกไปว่า ตอนนี้สถานการณ์ดีขึ้น และมีแนวโน้มจะดีขึ้นเรื่อยๆ ในปีนี้ การเข้าร่วมในส่วนของ Visitor ในแถบอเมริกาหรือยุโรปอาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวจะมีการวางแผนระยะยาว เมื่อยกเลิกแล้วยากที่จะปรับเปลี่ยน ในขณะที่คนเอเชียจะวางแผนในระยะเวลาที่สั้น เนื่องจากเดินทางง่าย งานในครั้งนี้จึงตั้งเป้าไปที่ตลาดเอเชียเป็นหลัก ทั้งนี้ ตลาดเอเชียเองได้รับผลกระทบทางด้านวิกฤติน้อยกว่าตลาดยุโรปหรืออเมริกา
งาน BIG+BIH เดือนเมษายนปีที่แล้ว มีผู้เข้าร่วมเจรจาการค้าจากทั้งในและต่างประเทศจำนวน 7,487 ราย และเป็นที่คาดหมายว่างานแสดงสินค้า BIG+BIH เดือนเมษายน 2557 จะได้รับความสนใจจากนักธุรกิจเข้ามาชมงานในวันเจรจาธุรกิจ 7,500 ราย มูลค่าธุรกิจไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านบาท และวันจำหน่ายปลีกไม่น้อยกว่า 40,000 ราย โดยมีผู้เข้าชมงานจากนานาประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เยอรมนี ไต้หวัน ฮ่องกง อังกฤษ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และจีน