กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--สกว.
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 3 ฉบับ ร่วมกับมหาวิทยาลัย 3 แห่ง (ม.รามคำแหง ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ม.ศิลปากร) และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อมุ่งสนับสนุนงานวิจัยเชิงสถาบันให้เป็นแหล่งพัฒนาวิชาการที่มีความเป็นเลิศเฉพาะด้าน เกิดองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง พร้อมสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า “สกว. ร่วมกับมหาวิทยาลัย 3 แห่งและ 1 หน่วยงาน สนับสนุนให้มีการสร้างองค์ความรู้ บุคลากรวิจัย และโครงสร้างพื้นฐานวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยมีขอบเขตความร่วมมือ ดังนี้ 1) การพัฒนาศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านแบบจำลองภูมิอากาศระดับภูมิภาค โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง2) การพัฒนาศูนย์วิจัยระบบพยากรณ์อากาศรายฤดูสำหรับประเทศไทย โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและ 3) การพัฒนาวิชาการด้านฟิสิกส์บรรยากาศเขตร้อน โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากรและกรมฝนหลวงและการบินเกษตร โดย สกว. ให้การสนับสนุนทุนวิจัยหน่วยงานละ 7.5 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี รวมทั้งหมด 30 ล้านบาท เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างเครือข่ายวิจัยที่มีความเป็นเลิศด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง และเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศไทยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งรูปแบบความร่วมมือระหว่าง 5 องค์กรในลักษณะนี้จะเป็นแนวทางการยกระดับการสนับสนุนงานวิจัยเชิงสถาบัน ซึ่งจะมีการขยายรูปแบบการดำเนินงานแบบนี้ไปสู่องค์กรอื่นๆ ต่อไป”
ด้าน รศ.ดร.อำนาจ ชิดไธสง ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานและพัฒนางานวิจัยด้านโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สกว.กล่าวว่า “ที่ผ่านมารูปแบบการให้ทุนสนับสนุนวิจัยของ สกว. ได้มีการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ นอกจากสนับสนุนในรูปแบบปกติคือ การให้ทุนวิจัยรายโครงการแล้ว สกว. ได้ให้ทุนวิจัยในรูปแบบความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อให้เกิดผล2ส่วนคือ 1) ความรู้ความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงและความแปรปรวนภูมิอากาศ โดยเฉพาะเรื่องปริมาณและการกระจายของฝน ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญต่อการวางแผนและจัดการทรัพยากรน้ำและการเกษตรของประเทศ รวมถึงสร้างทรัพยากรบุคลและหลักสูตรการศึกษา และ2)ระบบข้อมูลภูมิอากาศหรือ climate information service ที่สนับสนุนและตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ในระดับต่างๆ นอกจากนี้การทำงานเป็นเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเช่นนี้ทำให้เกิดงานวิจัยเชิงลึก มีความต่อเนื่อง สามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศ และเป็นแหล่งความรู้ที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง”
โครงการพัฒนาศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านแบบจำลองภูมิอากาศระดับภูมิภาค
เป็นความร่วมมือระหว่าง สกว. กับม.รามคำแหง (มร.)ในการจัดตั้ง “โครงการพัฒนาศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านแบบจำลองภูมิอากาศระดับภูมิภาค”เพื่อเป็นแหล่งความเป็นเลิศด้านการย่อส่วนแบบจำลองภูมิอากาศโลกและการประยุกต์ใช้ประโยชน์ข้อมูลภูมิอากาศให้กับผู้ใช้ในระดับต่างๆ ในการจัดการความเสี่ยงจากความแปรปรวนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เพื่อให้ศูนย์ดังกล่าวมีความพร้อมทั้งองค์ความรู้ บุคลากรวิจัย และโครงสร้างพื้นฐานวิจัยโดยมีขอบเขตความร่วมมือได้แก่ 1) ดำเนินการจัดตั้งโครงการพัฒนาศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านแบบจำลองภูมิอากาศระดับภูมิภาคภายในมร. 2) สนับสนุนการวิจัยด้านการย่อส่วนแบบจำลองภูมิอากาศโลกทั้งวิธีสถิติและวิธีพลวัต 3) พัฒนาระบบเผยแพร่ข้อมูลภูมิอากาศ (Climate Information Services) เพื่อการประยุกต์ใช้ให้กับผู้ใช้ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค 4) ร่วมมือกับเครือข่ายวิชาการในภูมิภาคเอเชีย ภูมิภาคอาเซียน และสถาบันการศึกษาในประเทศ ในการวิจัยระดับนานาชาติด้านแบบจำลองภูมิอากาศ 5) พัฒนาโมดูลสำหรับการฝึกอบรมด้านแบบจำลองภูมิอากาศและการประยุกต์ใช้เพื่อการประเมินผลกระทบและการปรับตัว รวมทั้งการฝึกอบรมให้แก่บุคลากรภาครัฐที่รับผิดชอบการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 6) พัฒนาหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาที่สามารถรองรับการผลิตบัณฑิตในด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและ 7) ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นสมควรร่วมกัน
โครงการพัฒนาศูนย์วิจัยระบบพยากรณ์อากาศรายฤดูสำหรับประเทศไทย
เป็นความร่วมมือระหว่าง สกว. กับ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.)ในการจัดตั้ง “โครงการพัฒนาศูนย์วิจัยระบบพยากรณ์อากาศรายฤดูสำหรับประเทศไทย”เพื่อเป็นแหล่งความเป็นเลิศด้านแบบจำลองภูมิอากาศรายฤดู และการประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการคาดการณ์ภูมิอากาศรายฤดูเพื่อการจัดการความเสี่ยงจากความแปรปรวนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีผลต่อการเกษตรและทรัพยากรน้ำ เพื่อให้ศูนย์วิจัยดังกล่าวมีความพร้อมทั้งองค์ความรู้ บุคลากรวิจัย และโครงสร้างพื้นฐานวิจัยโดยมีขอบเขตความร่วมมือ ได้แก่ 1) ดำเนินการให้มีการจัดตั้งโครงการพัฒนาศูนย์วิจัยระบบพยากรณ์อากาศรายฤดูสำหรับประเทศไทย ภายในมจธ. 2) สนับสนุนการวิจัยด้านการพัฒนาเครื่องมือและแบบจำลองที่รวมปัจจัยที่มีผลต่อสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยเพื่อให้ผลการคาดการณ์ภูมิอากาศรายฤดูมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น 3) พัฒนาระบบเผยแพร่ข้อมูลภูมิอากาศ (Climate Information Services) เพื่อการประยุกต์ใช้ให้กับผู้ใช้ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค 4) ร่วมมือกับ Institute of Atmospheric Physics (IAP) ประเทศจีนพัฒนาเทคนิคและวิชาการด้านแบบจำลองพยากรณ์อากาศล่วงหน้ารายฤดู 5) พัฒนาหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาที่สามารถรองรับการผลิตบัณฑิตในด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยผ่านโครงการพัฒนาเครือข่ายวิจัยนานาชาติและ 6) ดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นสมควรร่วมกัน
โครงการพัฒนาหน่วยวิจัยฟิสิกส์บรรยากาศเขตร้อน
เป็นความร่วมมือระหว่าง สกว. กับ ม.ศิลปากร (มศก.)และกรมฝนหลวงและการบินเกษตรในการจัดตั้ง “โครงการพัฒนาหน่วยวิจัยฟิสิกส์บรรยากาศเขตร้อน”เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งวิชาการด้านฟิสิกส์บรรยากาศเขตร้อนและประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการพยากรณ์อากาศรายฤดู การคาดการณ์ภูมิอากาศล่วงหน้าในคาบเวลาต่างๆ รวมทั้งพัฒนาและปรับปรุงแบบจำลองภูมิอากาศ และเสริมประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงร้อนโดยขอบเขตความร่วมมือระหว่าง สกว. กับ มศก.ได้แก่ 1) ดำเนินการให้มีการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของหน่วยวิจัยฟิสิกส์บรรยากาศเขตร้อน ภายในมศก. 2) สนับสนุนการวิจัยด้านข้อมูลการตรวจวัดสมบัติของเมฆ รังสีดวงอาทิตย์ ฝุ่นละออง และการพัฒนาแบบจำลองด้านเมฆและฟิสิกส์บรรยากาศ 3) พัฒนาศักยภาพบุคลากรของคณะวิทยาศาสตร์ ม.ศิลปากร ในด้านฟิสิกส์บรรยากาศเขตร้อน 4) พัฒนาและ/หรือปรับปรุงหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา โดยเน้นการผลิตบัณฑิตในด้านฟิสิกส์บรรยากาศเขตร้อน
ขณะที่ขอบเขตความร่วมมือระหว่าง สกว. กับ กรมฝนหลวงฯได้แก่ 1) สนับสนุนการวิจัยด้านฟิสิกส์บรรยากาศเขตร้อนเพื่อเสริมประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง 2) สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรการวิจัยของกรมฝนหลวงฯ 3) ประยุกต์ผลการวิจัยด้านเมฆและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศสำหรับสนับสนุนภารกิจของกรมฝนหลวงฯและในส่วนขอบเขตความร่วมมือระหว่าง มศก. กับ กรมฝนหลวงฯได้แก่ 1) ร่วมกันดำเนินการวิจัยด้านฟิสิกส์บรรยากาศเขตร้อนเพื่อประยุกต์ใช้ในภารกิจของกรมฝนหลวงฯ และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 2) สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรการวิจัยด้านฟิสิกส์บรรยากาศเขตร้อนของกรมฝนหลวงฯ และของมศก.3) แลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการเพื่อใช้ในการพัฒนางานวิจัยของทั้ง 2 หน่วยงาน 4) ทั้ง 3 ฝ่ายจะร่วมมือกับเครือข่ายวิชาการในประเทศและต่างประเทศเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งการวิจัยด้านฟิสิกส์บรรยากาศเขตร้อนของประเทศไทย และ 5) ดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ที่ทั้ง 3 ฝ่ายเห็นสมควรร่วมกัน เช่น จัดประชุมวิชาการ และนำข้อมูลเผยแพร่สู่สาธารณชนในรูปแบบที่เหมาะสม เป็นต้น