กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--สมาคมสถาปนิกสยามฯ
ทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ ร่วมกับสมาคมมิตรภาพพม่า-ไทย ยืนยันยินดีจับมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนในการร่วมดำเนินโครงการอนุสรณ์สถานมหาเถระ พระเจ้าอุทุมพร ณ สุสานล้านช้าง เมืองอมรปุระ ประเทศเมียนมาร์ โดยทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ มีความพร้อมทั้งทางด้านบุคลากรและงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่สนับสนุนทางด้านการอนุรักษ์ ไดำเนินการโครงการทำงานภายใต้การทำงานร่วมกับ สมาคมมิตรภาพพม่า-ไทย จิตพรรณที่จดทะเบียนนิติบุคคลในประเทศเมียนมาร์ เพื่อดำเนินการโครงการนี้อย่างถูกต้องตามกฏหมายประเทศเมียนมาร์และแถลงข่าวเปิดโครงการอนุสรณ์สถานดังกล่าว เพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ที่แสดงความสัมพันธ์ในหลายมิติระหว่างประเทศพม่ากับไทย ทั้งในระดับพระมหากษัตริย์ ระดับพระมหาเถระ พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ระดับประชาชน หวังให้ชนชาติทั้งสองได้ร่วมสืบค้นหาข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติม อีกทั้งจะเป็นโครงการที่สานความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนในประเทศทั้งสอง โดยหวังว่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้จะเป็นโอกาสให้นักวิชาการ นักโบราณคดี นักประว้ติศาสตร์ทั้งพม่าและไทย จะได้ร่วมมือกันเพื่อเก็บหลักฐานและบันทึกประวัติศาสตรหน้าใหม่ของภูมิภาคนี้ต่อไป
นายวิจิตร ชินาลัย ผู้อำนวยการโครงการอนุสรณ์สถานมหาเถระพระเจ้าอุทุมพร กล่าวว่าสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์และสมาคมจิตพรรณ ยืนยันว่าโครงการดังกล่าวยังจะดำเนินการต่อไปเพราะเป็นโครงการที่ดี ที่จะเก็บรักษาพื้นที่นี้ไว้เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ทุกภาคส่วนควรได้มามีส่วนร่วมในการรักษาดูแลพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป ไม่ว่าโครงการจะดำเนินการภายใต้โครงสร้างใด เปลี่ยนจากรัฐบาลท้องถิ่นร่วมกับภาคเอกชน เป็นรัฐบาลกลางพม่า-ร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่น-ร่วมกับเอกชน โดยมีผู้สนับสนุนทางด้านงบประมาณจากฝ่ายไทย จะเป็นภาครัฐหรือเอกชนและจากการสนับสนุนทางวิชาการจากรัฐบาลไทยภายใต้การดำเนินงานของกรมศิลปากรในการหาขุดค้นทางโบราณคดีและของหลักฐานเพิ่มเติม การดำเนินการในอนาคตคงจะเป็นการบูรณาการร่วมกันจากทุกภาคส่วน เหมือนกับโครงการแรกที่ไปทำการขุดค้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2556 ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่อย่างไรก็ตามในฐานะที่คณะทำงานร่วมสมาคมจิตพรรณ และสมาคมสถาปนิกสยามฯ ซึ่งได้พยายามบริหารจัดการโครงการมาเป็นเวลา 1 ปีเต็ม มองเห็นผลกระทบของโครงการในเรื่องเงื่อนไขของเวลา และความเสื่อมสภาพของโบราณสถาน ซึ่งหากยังไม่มีความชัดเจนในเร็ววัน พื้นที่สุสานล้านช้างที่ได้รับการพัฒนาเชิงอนุรักษ์ภายใต้โครงการอนุสรณ์สถานมหาเถระพระเจ้าอุทุมพรและดูแลอย่างดีมาตลอด เมื่อมีการระงับไม่ให้ทำการใดๆ ในพื้นที่ ยิ่งนานวันไปความสกปรกรกรุงรัง และการกลายสภาพเป็นที่รกร้างก็จะคืบคลานกลับเข้ามา เป็นการสูญเสียทุนทรัพย์ที่ได้รับบริจาคมาจากทั้งสำนักงานทรัพย์สินฯ และบางส่วนจากผู้มีจิตศรัทธา ในการต้องจ้างคนมาเฝ้าพื้นที่ ถางหญ้า ดูแลความเรียบร้อย รวมทั้งอาคารสำนักงานและศาลาแสดงนิทรรศการที่ถูกรื้อถอนไปด้วยความเข้าใจผิดอย่างน่าเสียดาย เหนื่อสิ่งอื่นใดเป็นการสูญเสียขวัญกำลังใจของผู้ที่ได้ร่วมทำงานกันมาของทุกภาคส่วนในพื้นที่ในระดับท้องถิ่น รวมถึงความหวังของประชาชนชาวอมรปุระที่จะได้เห็นการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ที่น่าภาคภูมิใจทางมรดกวัฒนธรรมของชาวอมรปุระรวมทั้งชาวไทยใหญ่ และลูกหลานโยเดียในอมรปุระที่สืบทอดประเพณีวัฒนธรรมมา พร้อมๆ กับความไม่ชัดเจนในการบริหารจัดการพื้นที่ว่าใครจะเป็นผู้มารับผิดชอบในการดำเนินการให้พื้นที่นี้คงอยู่เป็นมรดกที่ทำให้รำลึกถึงมหาเถระพระเจ้าอุทุมพร มิ่งขวัญประชาราษฎรชาวอยุธยาที่พลัดถิ่นไปอยู่ในพม่า และคณะทำงานพม่า-ไทยได้พบหลักฐานว่าพระองค์ท่านได้รับความเคารพนับถืออย่างสูงสุดในฐานะมหาเถระของอมรปุระ แม้แต่กษัตริย์พม่าเองยังถวายความเคารพสูงสุดในการก่อสร้างพระพุทธเจดีย์ถวายเป็นพระราชกุศลในงานพระราชทานเพลิงศพของพระองค์ท่าน
แม้ในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องหลักฐานซึ่งขึ้นกับการตีความของแต่ละฝ่าย แต่ชาวพม่า คณะทำงานร่วมพม่า-ไทย มีความเชื่อถือและรัฐบาลท้องถิ่นมัณฑะเลย์ได้อนุญาตให้ทางโครงการเก็บพื้นที่นี้ไว้เป็นอนุสรณ์สถานแทนที่จะนำที่ดินไปทำประโยชน์เชิงพาณิชย์อื่นๆได้อีกมากมาย ประชาชนชาวไทยควรที่จะยินดีในโอกาสที่จะอนุรักษ์พื้นที่นี้ไว้ร่วมกัน คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าโครงการอนุสรณ์สถานมหาเถระพระเจ้าอุทุมพรจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อชาวไทย-พม่า และมวลมนุษยชาติ ที่จะได้มีโอกาสเก็บรักษาพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใดเหมือนในสากลโลกนี้ ที่เป็นอนุสรณ์สถานที่กษัตริย์พม่าให้เกียรติสูงสุดแก่กษัตริย์ไทยในฐานะมหาเถระ และพื้นที่นี้ล่าสุดคณะทำงานยังได้พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใหม่ๆ อีกมากมายที่กำลังศึกษาข้อมูล และเตรียมการนำเสนอในรูปการสัมมนาทางวิชาการเพื่อนำเสนอหลักฐานใหม่ที่ยังไม่เคยเผยแพร่ที่ใดมาก่อน ซึ่งจะได้แจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไป
ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ที่ปรึกษาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กล่าวว่า โครงการอนุสรณ์สถาน พระมหาเถระพระเจ้าอุทุมพร ณ สุสานล้านช้างเมืองอมรปุระนี้ นับเป็นโครงการที่มีความสำคัญยิ่งกับปวงชนชาวไทยและชาวพม่า ในการร่วมค้นหาประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงสายสัมพันธ์ของประเทศทั้งสองมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะช่วงประวัติศาสตร์หน้าที่ขาดหายไปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนโครงการตั้งแต่เดือนตุลาคม พศ 2556 ด้วยหวังจะเป็นการอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีและการจัดสร้างอนุสรณ์สถานพระมหาเถระพระเจ้าอุทุมพร เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี พุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจต่อไป โดยที่กรมศิลปากรสามารถส่งนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมทำงานกับนักโบราณคดีชาวพม่าที่ประจำอยู่ที่โครงการฯในเมืองอมรปุระได้ นอกจากนั้นเรายังหวังที่จะเห็นความร่วมมือในระดับรัฐบาลกับรัฐบาล (G TO G Project) โดยผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศ เพื่อให้เป็นโครงการที่ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติอย่างแท้จริง ในขณะเดียวกัน การทำงานร่วมกันในระดับโครงการ ณ อนุสรณ์สถานก็ยังจะต้องดำเนินการต่อไปในขณะนี้ โดยเฉพาะการดูแลโบราณสถานให้มีการระบายน้ำอย่างถูกต้อง เพราะใกล้กับฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า เพราะจะทำให้สิ่งที่ทางคณะทำงานทำมาตลอดปีจะต้องสูญเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์ จากการถูกน้ำฝนชะทำลายและ หญ้ารกขึ้นปกคลุมโบราณสถาน
ในส่วนของพระเกียรติคุณของพระมหาเถระ ซึ่งพวกเราควรจะได้นำมาเผยแผ่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ ด้วยว่าพระมหาเถระพระเจ้าอุทุมพรนั้น ซึ่งถือได้ว่าพระองค์ทรงเป็นพระสงฆ์ที่อยู่ในสมณเพศมาอย่างยาวนาน ทรงได้ดำรงตำแหน่งทางศาสนาสูงสุดถึงขั้นพระมหาเถระแห่งเมืองอมรปุระ นับได้ว่าเป็นการเชื่อมสายสัมพันธ์ทางด้านศาสนาพุทธอันเป็นศาสนาประจำชาติของทั้งชาวพม่าและชาวไทยได้อย่างดี นอกไปจากนั้น ผมมีความปรารถนาที่จะได้เห็นทางกรมศิลปากรได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ พระเจดีย์แห่งวัดประดู่ทรงธรรม เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานถวายแด่ พระมหาเถระพระเจ้าอุทุมพร พระมหากษัตริย์ พระนามสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรมหาพรพินิต หรือพระบรมราชาธิราชที่ 4 พระมหากษัตริย์องค์ที่ 32 แห่งอาณาจักรอยุธยาต่อไป
โครงการอนุสรณ์สถานพระมหาเถระพระเจ้าอุทุมพรนี้ได้นำเสนอต่อรัฐบาลท้องถิ่นมัณฑะเลย์ โดยมีวัตถุประสงค์ให้เกิดการพัฒนาเชิงอนุรักษ์พื้นที่นี้เป็นทางเลือกให้แก่รัฐบาลมัณฑะเลย์ กอรปกับหลักฐานที่ได้ค้นพบทำให้นักวิชาการท้องถิ่นและชาวอมรปุระ และรัฐบาลมัณฑะเลย์ มีความเชื่อมั่นว่าเป็นหลักฐานบ่งบอกถึงการเป็นพื้นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพรตามประเพณีพม่า จึงทำให้โครงการนี้มีน้ำหนักและทำให้รัฐบาลมัณฑะเลย์เห็นประโยชน์ในการเก็บรักษาพื้นที่นี้ไว้ ภายใต้งบประมาณทั้งหมดจาการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รัฐบาลมัณฑะเลย์จึงได้แนะนำให้ทางคณะทำงานร่วมพม่า-ไทยที่นำเสนอโครงการจัดตั้งสมาคมพม่า-ไทย ภายใต้กฏหมายพม่าเพื่อเป็นองค์กรที่รับใบอนุญาตนี้ จึงได้เกิดเป็นสมาคมจิตพรรณขึ้น และสมาคมจิตพรรณได้รับจดหมายอนุญาตให้ดำเนินโครงการนี้เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556
โครงการนี้แบ่งเป็น 2 โซน โซน A คือ โครงการอนุรักษ์โบราณสถาน มีพื้นที่ 2.5 ไร่ ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการแล้ว และเริ่มดำเนินการบูรณะพระพุทธเจดีย์องค์ประธานและกำแพงแก้ว โซน B ซึ่งเป็นโครงการอุทธยานประวัติศาสตร์ซึ่งประกอบด้วยศูนย์ข้อมูล พิพิธภัณฑ์ และหมู่บ้านโยเดีย บนพื้นที่ 7.5 ไร่นั้นยังไม่ได้รับการพิจารณา
คณะทำงานโครงการรอโอกาสที่เหมาะสมในการเปิดตัว โดยเลือกเอาวันมงคลวันที่ 15 มีนาคม 2557 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4 ปีมะเมีย ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปี ที่คณะทำงานได้นำพระบรมอัฐิ (ตามการตีความของนักวิชาการพม่า) ขึ้นมาจากองค์พระเจดีย์ เพื่อมาทำการพิธีบวงสรวงขอขมาต่อพระองค์ท่าน เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2556 ในการจัดงานสำคัญทางศาสนาตามความเชื่อของชาวไทยและพม่าเพื่อเป็นสิริมงคลสูงสุด โดยประกอบด้วยพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่กลางพระพุทธเจดีย์องค์ ตามประเพณีการสถาปนาองค์พระพุทธเจดีย์แบบพม่า โดยได้เชิญชาวพม่าและชาวไทยใหญ่จำนวนมากที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาร่วมพิธีงานบุญใหญ่ครั้งนี้ พร้อมทั้งนิมนต์พระเถรานุเถระ พร้อมทั้งพระผู้ใหญ่ที่ชาวไทยใหญ่นับถือจากเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน และก่อนงาน 1 วันคาดว่าจะจัดให้มีการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก โดยเชิญนักข่าวไทยและพม่ามาร่วมงานมากมาย
เป็นที่เสียดายว่าในวันที่ 10 มีนาคม 2557 ทางรัฐบาลมัณฑะเลย์ได้รับแจ้งจากทางกระทรวงวัฒนธรรมพม่าว่าให้ระงับการทำกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ เนื่องจากอาจมีการยกระดับโครงการเป็นระดับชาติ แต่ยังไม่มีความชัดเจนจึงไม่ต้องการให้มีการทำการใดๆ บนพื้นที่โครงการ ทางเทศบาลเมืองมัณฑะเลย์จึงได้ส่งจดหมายมายังสมาคมจิตพรรณแจ้งว่าไม่ให้มีการทำกิจกรรมใดๆ ในพื้นที่ดังกล่าวจนกว่าจะมีความชัดเจน
คณะทำงานโครงการฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะสามารถดำเนินโครงการต่อไปได้ภายในเวลาอันรวดเร็วเพื่อยังประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย