กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--แคสเปอร์สกี้ แลป
แคสเปอร์สกี้ แลป เผย 4 เคล็ดลับ ลดเสี่ยง เลี่ยงโจร
เป็นเรื่องแสนจะธรรมดาสำหรับเราๆ ท่านๆ ที่เมื่อออกนอกบ้านแล้ว ก็อาศัยไวไฟฮอตสปอตในการต่อเชื่อมสัญญานต่างๆ ซึ่งมีอยู่ทั่วไป ตามสถานที่สาธารณะต่างๆ ร้านอาหาร ร้านคาเฟ่น่านั่ง ล้วนใช้ไวไฟฟรีเป็นตัวดึงดูดและเอาใจลูกค้าที่มาใช้บริการ ให้นั่งสบายๆ เล่นอินเทอร์เน็ตกันเพลินๆ ต่อเฟซบุ๊ก ซื้อของออนไลน์ ใช้บริการแบ้งกิ้งออนไลน์ หรือแม้แต่ส่งอีเมลงานนาทีสุดท้ายแบบฉิวเฉียดเส้นตาย จนพากันลืมเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์กันไป
ลองคิดดูนะว่าคุณจะเดาใจ หรือรู้ได้อย่างไรว่าคนที่เล่นคอมพิวเตอร์อยู่ข้างๆ คุณในคาเฟ่นั้นกำลังทำอะไรอยู่ อาจจะแค่เช็คอีเมลเหมือนคุณ เล่นเฟซบุ๊กเหมือนคุณ หรืออาจจะกำลังสืบเสาะหาช่องทางเจาะเข้าสัญญานสื่อสารของคนอื่น ซึ่งอาจจะเป็นของคุณก็ได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง เมื่อลองได้ข้อมูลการล็อกอินของคุณแล้ว เพียงเท่านี้ก็เข้าควบคุมชีวิตดิจิตัลของคุณได้เกือบทั้งหมดแล้ว และบางครั้งคนที่เข้ามายุ่มย่ามชีวิตคุณ ก็อาจจะไม่ใช่คนที่นั่งปนๆ อยู่ในคาเฟ่กับคุณเท่านั้น เพราะไวไฟเราต์เตอร์นั้นปกติส่งสัญญานได้กว้างในวิถี 100 เมตร จึงอาจเป็นใครก็ไม่รู้ อยู่ในที่จอดรถหรือร้านอาหารฝั่งตรงข้ามก็ได้
การสืบเสาะหาวิธีเจาะสัญญานตามคาเฟ่นั้น เป็นเพียงแค่ประเด็นหนึ่งเท่านั้น แต่หากสัญญานที่คุณใช้นั้น ปรับแต่งลวงมาให้คุณต่อเชื่อมต่อใช้งานเพราะเข้าใจผิด เรียกว่าการโจมตีแบบ ‘Man-in-the-middle’ ซึ่งจะหลอกฉกข้อมูลสำคัญของคุณไปได้ทั้งหมด แถมยังล็อกอินเข้าเครื่องของคุณได้ ติดตั้งมัลแวร์บนเครื่องของคุณ ใช้เครื่องของคุณส่งต่อสแปมไปที่เหยื่อรายอื่นก็ได้!!!
จากการสำรวจล่าสุดของแคสเปอร์สกี้ แลป พบว่า 34% ของคนที่ใช้คอมพิวเตอร์ทั่วไปไม่มีมาตรการป้องกันใดๆ เมื่อออนไลน์ผ่านฮอตสปอต มีเพียง 13% เท่านั้นที่ตรวจเช็คมาตรฐานการเข้ารหัสของจุดปล่อยสัญญานก่อนเชื่อมต่อใช้สัญญาน
และยังพบว่าผู้ใช้งานจำนวน 14% รู้สึกเฉยๆ สบายดีกับการทำธุรกรรมช้อปปิ้งและแบ้งกิ้งออนไลน์ แม้ต่อเชื่อมผ่านไวไฟฮอตสอตสาธารณะทั่วไป
ผู้เชี่ยวชาญของแคสเปอร์สกี้ แลป ทิ้งท้ายว่า การที่คุณจัดเตรียมมาตรการป้องกันข้อมูลของตนเองนั้น จะเป็นการลดความเสี่ยง ลดโอกาสของอาชญากรไซเบอร์ที่จะมาทำนาบนหลังคุณ โดยอาศัยช่องโหว่ของสัญญานฟรี พร้อมแนะขั้นตอนง่ายๆ ที่ทำได้ด้วยตนเอง คุณก็สามารถลดการตกเป็นเหยื่อลงได้ ดังนี้
1. ต่อเชื่อมสัญญานผ่านไวไฟที่คุณเชื่อที่ได้ หรือเน็ตเวิร์กที่คุณวางใจได้เท่านั้น ทุกครั้งที่คุณทำธุรกรรมที่มีความล่อแหลม อาทิ การต้องพิมพ์ชื่อ พาสเวิร์ด หรือส่งข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญๆ
2. ต้องแน่ใจว่า การล็อกอินเข้าเว็บไซต์ใดๆ นั้นปลอดภัยเสมอ ให้มองหา ‘https’ สัญญลักษณ์แม่กุญแจที่ยังล็อกอยู่ และเช็คเอกสารประกอบด้านระบบความปลอดภัย
3. ติดตั้งโซลูชั่นเพื่อความปลอดภัยที่เชื่อถือได้บนเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณ
4. อย่าลืมปกป้องดีไวซ์ทุกประเภทที่คุณใช้งานอยู่ ไม่ว่าจะเป็น เน็ตบุ๊ก แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน