กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” โดยแนวโน้มยังคง “Positive” หรือ “บวก” อันดับเครดิตสะท้อนถึงความสำเร็จในความพยายามสร้างความหลากหลายของธุรกิจและผลประกอบการที่ดีขึ้นภายหลังการรวมกิจการกับ บริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความเชี่ยวชาญของคณะผู้บริหารในธุรกิจหลักของธนาคารคือธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และธุรกิจตลาดทุน รวมถึงระดับเงินทุนของธนาคารที่อยู่ในระดับสูงด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนจากส่วนแบ่งทางการตลาดที่มีขนาดเล็ก รวมทั้งเครือข่ายที่มีอยู่อย่างจำกัด และต้นทุนทางการเงินที่สูง ทั้งนี้ คุณภาพสินทรัพย์และการเติบโตทางธุรกิจของธนาคารในอนาคตอาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจไทยและความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ ในขณะที่การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจหลักทรัพย์อาจจำกัดความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (กลุ่มเกียรตินาคินภัทร) ได้เช่นกัน ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” หรือ “บวก” สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารจะได้ประโยชน์จากการรวมกิจการเพื่อที่จะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและรักษาระดับความสามารถในการทำกำไรไว้ได้ อีกทั้งยังสะท้อนความสามารถในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ รวมทั้งการรักษาฐานเงินทุนที่มีเสถียรภาพไว้ได้ด้วยต้นทุนที่เหมาะสมและดำรงเงินกองทุนอย่างเพียงพอเพื่อรองรับความเสียหายที่เกินกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้ได้
ธนาคารเกียรตินาคินเป็นธนาคารขนาดเล็กที่มีสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 11 จากธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งสิ้น 15 แห่ง โดย ณ เดือนธันวาคม 2556 มีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อที่ 1.9% และเงินรับฝากที่ 1.4% ภายหลังการรวมกิจการ กลุ่มเกียรตินาคินภัทรได้มีการปรับโครงสร้างโดยแบ่งธุรกิจออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มธุรกิจธนาคารพาณิชย์และกลุ่มธุรกิจตลาดทุน ธนาคารสามารถเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินแก่ลูกค้าได้อย่างครบวงจร การรวมกิจการยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในธุรกิจตลาดทุน อีกทั้งแหล่งรายได้ของกลุ่มธุรกิจในปัจจุบันก็มีการกระจายตัวมากยิ่งขึ้นจากการมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากกลุ่มธุรกิจตลาดทุนจำนวนมาก ทั้งนี้ สถานะทางการเงินของธนาคารจะดียิ่งขึ้นหากได้รับประโยชน์จากการผสานความร่วมมือภายในกลุ่มได้อย่างดี
ธนาคารมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของสินเชื่อ โดย ณ สิ้นปี 2556 ธนาคารมีสินเชื่อขนาดใหญ่ 2 กลุ่ม ได้แก่ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ (73% ของสินเชื่อรวม) และสินเชื่อโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย (19%) สินเชื่อของธนาคารขยายตัวอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 21% ระหว่างปี 2551-2555 อย่างไรก็ตาม ในปี 2556 ธนาคารชะลอการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เพื่อปรับปรุงคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อรายย่อย ทั้งนี้ สินเชื่อรถยนต์เติบโต 10% ในปี 2556 เทียบกับ 27% ในปี 2555 อย่างไรก็ตาม สินเชื่อโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยกลับขยายตัวอย่างมาก โดยเติบโตถึง 32% ในปี 2556 เทียบกับ 21% ในปี 2555 ณ เดือนธันวาคม 2556 สินเชื่อรวมดอกเบี้ยค้างรับมีทั้งสิ้น 192.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากปี 2555 ธนาคารยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับสูงโดยมีสินเชื่อที่มีความเสี่ยงและผลตอบแทนในระดับสูงเพื่อลดทอนต้นทุนทางการเงินที่สูง นอกจากนี้ ธนาคารยังมีความเสี่ยงด้านเครดิตในสินเชื่อรถยนต์ใช้แล้ว รวมถึงสินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งนับเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงในระดับกลางถึงสูงอีกด้วย
ธนาคารพยายามเพิ่มคุณภาพสินทรัพย์โดยทำการปรับปรุงนโยบายการบริหารความเสี่ยงให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม คุณภาพสินเชื่อของธนาคารถดถอยลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยปริมาณสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นจาก 4.7 พันล้านบาทในปี 2554 เป็น 5.6 พันล้านบาทในปี 2555 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเพิ่ม 19% และเพิ่มขึ้นเป็น 7.3 พันล้านบาทในปี 2556 หรือคิดเป็นอัตราการเพิ่ม 29% อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมสำหรับปี 2556 เท่ากับ 3.8% เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.3% ธนาคารได้ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสำหรับลูกหนี้เช่าซื้อในปี 2556 โดยใช้วิธีประมาณค่าความเสียหายเป็นกลุ่มลูกหนี้ (Collective Approach) เพื่อปรับปรุงระบบการบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น สัดส่วนของปริมาณสำรองที่ธนาคารมีอยู่เทียบกับปริมาณสำรองขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจาก 141% ในปี 2555 เป็น 187% ในปี 2556 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพลดลงจาก 110% ในปี 2555 เป็น 100% ในปี 2556 ทั้งนี้ ธนาคารยังคงเผชิญกับความท้าทายในการรักษาคุณภาพสินเชื่อมิให้เสื่อมถอยลงไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่เอื้ออำนวยและสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มีเสถียรภาพ
สถานะทางการเงินของธนาคารดีขึ้น โดยในปี 2556 ธนาคารมีกำไรสุทธิจากงบการเงินรวม 4.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% อันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย รวมทั้งการควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงาน รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างมากจากค่าธรรมเนียมนายหน้าค้าหลักทรัพย์ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวม
ถัวเฉลี่ยในปี 2556 เท่ากับ 1.8% เพิ่มขึ้นจาก 1.6% ในปี 2555 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธนาคารจะรักษาระดับผลตอบแทนที่สูงในธุรกิจหลักเอาไว้ได้ แต่ยังคงมีต้นทุนทางการเงินที่สูงที่สุดในระบบซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันของคู่แข่งที่สูงกว่า
ธนาคารมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในระดับหนึ่ง โดยธนาคารยังคงพึ่งพิงเงินฝากและเงินกู้ยืมจากกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ซึ่งนอกจากจะมีต้นทุนทางการเงินที่สูงแล้วยังเป็นแหล่งเงินทุนที่มีความผันผวนง่ายอีกด้วย อย่างไรก็ดี ธนาคารมีนโยบายที่จะเพิ่มจำนวนบัญชีเงินฝากรายย่อยเพื่อให้แหล่งเงินทุนมีการกระจายตัวและมีเสถียรภาพดียิ่งขึ้น
เงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคารยังคงแข็งแกร่ง โดยในปี 2556 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับ 13.10% และอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับ 13.66% ซึ่งลดลงจากผลกระทบของการขยายตัวของสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนของธนาคารยังคงสูงกว่าอัตราส่วนขั้นต่ำที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระดับ 6.00% และ 8.50% ตามลำดับ
ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (KK)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
KK144A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,485 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A-
KK14OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A-
KK165A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A-
KK168A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A-
KK16DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 975 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A-
KK187A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 240 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A-
KK18DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 625 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A-
KK18DB: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 10 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A-
หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2563 A-
- KK154A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A-
- KK172A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Positive