กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--สสค.
สสค. เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำเร็จ “10 จังหวัดดีเด่น” ต้นแบบพื้นที่นำร่องปฏิรูปการศึกษา ประสานเครือข่ายการทำงานระดับจังหวัด ต่อยอดขยายผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม สร้างแรงกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษา “เพื่อท้องถิ่น โดยท้องถิ่น”
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ คณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้จังหวัดน่าน จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งที่ 2 “10 จังหวัดแห่งความสำเร็จ เพื่อยกระดับการเรียนรู้” ณ วิทยาลัยสงฆ์นครน่าน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ภายใต้ “โครงการติดตามและสนับสนุนการยกระดับการพัฒนาการเรียนรู้ระดับจังหวัด” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำเร็จของการปฏิรูปการเรียนรู้ของทั้ง 10 จังหวัด ประกอบด้วย น่าน, ลำพูน, กำแพงเพชร, อำนาจเจริญ, สุรินทร์, ชัยภูมิ, จันทบุรี, เพชรบุรี, ภูเก็ต และยะลา
นายนรินทร์ เหล่าอารยะ นายก อบจ.น่าน และที่ปรึกษาคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ จ.น่าน ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น...ฟันเฟืองสำคัญของการยกระดับการเรียนรู้” มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า วันนี้ท้องถิ่นเป็นทางออกของการแก้ปัญหาเรื่องการเรียนรู้สมัยใหม่ เพราะการเรียนรู้ในปัจจุบันไม่ได้เป็นการเรียนรู้แต่ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเรียนรู้ที่จะต้องอยู่กับร่วมธรรมชาติ ชุมชน และสังคม ซึ่งการเตรียมพร้อมในเรื่องเหล่านี้ไม่มีในตำราเรียน
“การปฏิรูปการเรียนรู้มีทางเดียวก็คือ ต้องให้ท้องถิ่นเป็นผู้เติม เพราะว่าท้องถิ่นจะสามารถเติมเต็มในสิ่งที่ขาดได้ตรงจุดมากกว่าการเติมเต็มที่มาจากส่วนกลาง ซึ่งก็อาจจะไม่ตรงกับปัญหาหรือในสิ่งที่ขาด บางครั้งการไปเติมเต็มในสิ่งที่มีอยู่แล้วกลับจะยิ่งก่อให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้นอีก ในขณะที่สิ่งที่ขาดก็ไม่ได้รับการแก้ไข เพราะฉะนั้นทางออกของการปฏิรูปการศึกษาก็คือท้องถิ่นนั่นเอง” นายนรินทร์ระบุ
โดยภายในงานเสวนาได้มีการแบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อถอดบทเรียนความสำเร็จคณะทำงานจากทั้ง 10 จังหวัดออกเป็น 4 กลุ่ม และนำข้อสรุปที่ได้รับจากการระดมความคิดเห็นร่วมกันมานำเสนอต่อที่ประชุมอีกครั้งหนึ่ง โดยในประเด็นแรก “นางสุมาลี สังขะไชย” ตัวแทนกลุ่มที่หนึ่งได้ให้ข้อสรุปถึง “ผลผลิตและผลลัพธ์ของโครงการที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในจังหวัด” ว่า ผลที่ได้จากการทำงานนั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ โดยได้ทำให้เกิดกระบวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วมในทุกภาคในจังหวัดเพิ่มมากขึ้น เกิดระบบดูแลช่วยเหลือเด็กที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย และเกิดเป็นองค์กรหรือสถาบันซึ่งทำหน้าที่เป็นคนกลางในการประสานความร่วมมือทำงานร่วมกันด้านการศึกษา
“สิ่งที่สำคัญก็คือทุกจังหวัดได้เกิดกลไกการทำงานด้านการยกระดับคุณภาพการศึกษาขึ้นในจังหวัดของตนเอง เกิดระบบฐานข้อมูลด้านเด็กและเยาวชนซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการทำงานต่อไปในระยะยาว และผลลัพธ์สุดท้ายก็คือในทุกจังหวัดมีเป้าหมายในการพัฒนาเด็กและเยาวชนไปในทิศทางเดียวกันคือทำอย่างไรให้ลูกหลานของเรามีคุณภาพชีวิตที่ดี” นางสุมาลีกล่าว
ด้าน “นางสาวสุปราณี ศรีใหญ่” ตัวแทนของกลุ่มที่สองในประเด็น “ผลจากการสร้างความตระหนักและความสำคัญของการยกระดับการเรียนรู้” กล่าวว่า ผลลัพธ์ที่คณะกรรมการจากทุกจังหวัดได้รับจากการดำเนินงานก็คือ วิธีการหรือกระบวนการทำงานที่จะทำให้ประชาชนหรือท้องถิ่นเกิดความตระหนักในเรื่องของการศึกษารวมไปถึงแนวทางที่จะทำให้เกิดความต่อเนื่องในพื้นที่
“ต้องสร้างความตระหนักด้วยการมีส่วนร่วม ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัว แล้วก็มองหาวิสัยทัศน์ร่วมกันในการทำงานเพื่อเด็กและเยาวชน โดยมีฐานข้อมูลในด้านต่างๆ เป็นเครื่องมือในการที่จะทำให้เห็นแนวทางการทำงานที่ชัดเจน และทำงานบนพื้นฐานของความจริงใจ” น.ส.สุปราณีกล่าว
ในประเด็นที่สาม “นายมานพ ตรัยตรากุล” ตัวแทนกลุ่มได้กล่าวถึง “ผลการดำเนินงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ว่าเป้าหมายของทุกจังหวัดนั้นเหมือนกันคือ ทำอย่างไรเด็กของเราจะได้รับการพัฒนาในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเรื่องของการความขาดแคลน
“คำว่าขาดแคลนในที่นี้หมายถึงการขาดแคลนในเชิงของสติปัญญา ที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมกันในเชิงของศักยภาพ และความขาดแคลนในเชิงของภาพทางสังคม ที่ก่อให้เกิดกระบวนการทำงานที่หลากหลาย โดยมีฐานข้อมูลเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาต่อไป ซึ่งการที่เราจะปฏิรูปการเรียนรู้ให้เกิดความยั่งยืนในระดับท้องถิ่นได้นั้นทุกจังหวัดจะต้องมีองค์กรกลางที่ไม่ใช่หน่วยงานราชการ มาเป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุน และทำหน้าประสานความร่วมมือกับท้องถิ่น โดยเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นได้ทำงานอย่างเต็มที่ในด้านการจัดการศึกษา โดยมีเป้าหมายที่เราจะต้องทำร่วมกันอยู่ที่นักเรียนและชุมชน เพื่อให้เขาได้มีสัมมาชีพและอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข” นายมานพกล่าว
ส่วนประเด็นสุดท้าย “ก้าวอย่างไรให้ต่อเนื่องและยั่งยืน เพื่อยกระดับการเรียนรู้” นั้นตัวแทนกลุ่มที่สี่ “นายทองอินทร์ เพียภูเขียว” กล่าวว่าจะต้องขยายหลักคิดในการทำงานด้านการจัดการศึกษาเหล่านี้ออกไปสู่กลุ่มอื่นๆ ให้มากขึ้น โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ต่อไปในอนาคตทั้งที่เป็นการเมืองและข้าราชการประจำ มีความจำเป็นที่จะต้องปลูกฝังแนวคิดและแนวทางต่างๆ เหล่านี้ให้กับบุคลากรในทุกระดับ และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ
“ความสำเร็จของการปฏิรูปการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ ความคิดต้องต่อเนื่อง คนต้องต่อเนื่อง และปัจจัยสุดท้ายก็คือต้องนำเอาสิ่งเหล่านี้บรรจุเข้าไปในวาระหรือในแผนของจังหวัดและในแผนของท้องถิ่นให้ได้ เพราะเมื่อแผนเหล่านี้มีความชัดเจน ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็น ส.ส. ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้บริหารองค์กร แผนงานต่างๆ ก็จะสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างต่อเนื่อง” นายทองอินทร์ระบุ
นายบัณฑูร ทองตัน ประธานสภาการศึกษา จ.ภูเก็ต กล่าวเสริมถึงแนวทางการทำงานให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนในพื้นที่ว่า สสค. จะต้องผลักดันให้เกิดสภาการศึกษา เพราะคณะกรรมการต่างๆ ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ก็จะส่งผลให้ อบท.ทุกแห่งไม่สามารถสนับสนุนงบประมาณได้
“ถ้ามีกฎหมายที่สามารถยกระดับของสภาการเรียนรู้หรือสภาการศึกษา ให้หน่วยงานราชการสามารถสนับสนุนเงินงบประมาณลงไปได้ ตรงนั้นจะทำให้เกิดความยั่งยืนสำหรับคนที่จะทำงานด้านการศึกษาไปได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้แต่ละจังหวัดจะต้องขยายผลไปทำงานร่วมกับเยาวชนคนรุ่นใหม่เพราะพวกเขาเหล่านั้นจะเป็นคนที่จะมาทำหน้าที่แทนพวกเราในอนาคต อย่างจังหวัดภูเก็ตก็ได้นำเอาเรื่องนี้ไปจุดประกายและขยายผลต่อกับสภาผู้นำนักเรียน” นายบัณฑูรกล่าว
นายทองสุข รวยสูงเนิน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ จ.สุรินทร์ ร่วมเสนอแนะข้อคิดเห็นว่าทางออกของความยั่งยืนคือการทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง เพราะภาระงานของของท้องถิ่นนั้นเหมารวมไปหมดทุกเรื่องทั้งด้านอาชีพ ศาสนา วัฒนธรรม การศึกษา ความปลอดภัย สาธารณสุขฯลฯ
“ถามว่าถ้าจะทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็งเฉพาะการศึกษาเราไปไม่มีทางไปรอด เพราะทุกเรื่องล้วนเกี่ยวโยงกัน เพราะฉะนั้นถ้าจะทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง จะต้องทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็งในทุกองค์รวมของความเป็นมนุษย์ ซึ่งการศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นพื้นฐานที่ทำให้คนเกิดความเข้มแข็ง และเมื่อใดที่คนในสังคมหรือชุมชนมีความเข้มแข็ง ท้องถิ่นก็จะเข้มแข็งไปด้วยเช่นกัน” นายทองสุขระบุ
นายนพพร สุวรรณรุจิ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสค. กล่าวถึงการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ว่า ทาง สสค. จะรวบรวมกระบวนการต่างๆ ที่ทำให้การทำงานของทั้ง 10 จังหวัดประสบความสำเร็จ เพื่อที่จะนำมาเผยแพร่เพื่อให้จังหวัดอื่นๆ ได้มองเห็นว่าการยกระดับการเรียนรู้ เป็นเรื่องที่แต่ละจังหวัดสามารถทำได้ผ่านพลังของทุกภาคส่วนในพื้นที่ และพลังความร่วมมือของคนในท้องถิ่น
“นอกจากจะเผยแพร่องค์ความรู้เหล่านี้ในรูปแบบต่างๆ ให้แพร่หลายออกไปในวงกว้างแล้ว สสค. ก็จะเชิญคณะทำงานจากทั้ง 10 จังหวัด มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอีกครั้งในระหว่างการจัดงานประชุมวิชาการอภิวัฒน์การเรียนรู้...สู่จุดเปลี่ยนประเทศไทย ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของพลังความร่วมมือสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษา ที่จะจัดขึ้นวันที่ 6 ถึง 8 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ณ อาคารอิมแพค ฟอรัม เมืองทองธานี เพื่อที่จะได้บอกเล่าในสิ่งที่ทำมา วิธีการดำเนินงาน ปัญหา แนวทางการแก้ไข ปัจจัยความสำเร็จ ถ่ายทอดทุกองค์ความรู้ที่ได้รับจากการทำงานของตนเองให้กับจังหวัดใหม่ๆ ได้รับทราบ และเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำงานเพื่อยกระดับการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ของตนเองต่อไป” อ.นพพร กล่าวสรุป.