สอท.ทำโครงการพัฒนารหัสแท่งระบบ UCC/EAN 128 เพื่อใช้ประโยชน์ในธุรกิจไทย

ข่าวทั่วไป Thursday January 22, 1998 19:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--22 ม.ค.--สอท.
สถาบันสัญลักษณ์รหัสแท่งไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดโครงการสู่มาตรฐานสากล เตรียมนำรหัสแท่งระบบ UCC/EAN 128 มาใช้เป็นระบบมาตรฐานหลักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ธุรกิจไทยในประเทศไทย
ปัจจุบัน ได้มีการใช้ประโยชน์จากรหัสแท่งในการดำเนินธุรกิจอย่างแพร่หลาย เช่น การผลิต กรจัดจำหน่าย และการส่งออก แต่โดยส่วนใหญ่เป็นไปในรูปแบบจำกัดเพียงการติดรหัสแท่งบนสินค้าเพื่อควบคุมด้านการผลิต การจำหน่าย และการขนส่งสินค้าเฉพาะภายในบริษัทเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้บาร์โค้ดในระบบ Code 39 หรือ Code128 แต่หากต้องการใช้บาร์โค้ดเพื่อสื่อสารติดต่อกับบริษัทอื่น ๆ บริษัทเหล่านี้ต้องมีระบบรหัสแท่งที่ใช้ภายนอกเป็นมาตรฐาน เช่น EAN-13, EAN-8 หรือ UPC เพิ่มขึ้นอีก 1 ระบบ ทำให้ระบบภายในเกิดความซ้ำซ้อน และยุ่งยากในการเชื่อมโยงข้อมูลรายละเอียดของสินค้าผ่านรหัสแท่งได้ สถาบันสัญลักษณ์รหัสแท่งไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นนายทะเบียนรหัสแท่งระบบมาตรฐานในประเทศไทย จึงจัดทำโครงการพัฒนารหัสแท่งระบบ UCC/EAN 128 เพื่อนำมาใช้ในการควบคุมและดำเนินธุรกิจของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานสากล
การดำเนินโครงการในระยะต้นนี้ จะรับสมัครบริษัทในกลุ่มธุรกิจผู้ค้าปลีก ผู้ค้าส่ง ผู้จัดจำหน่าย ผู้ส่งออก กลุ่มโรงงานหรือผู้ผลิตและกลุ่มโรงพยาบาล เพื่อเป็นบริษัทตัวอย่าง โดยมีผู้แทนบริษัทละ 2 คน มาร่วมดำเนินการศึกษาระบบรหัสแท่งระบบ UCC/EAN 128 โดยสถาบันฯ ได้รวบรวมข้อมูลจาก EAN International และจากประเทศที่ประสบความสำเร็จจากการใช้ระบบนี้เพื่อนำมาวางแผนพัฒนาและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริษัทตัวอย่าง โดยมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลให้คำปรึกษาแนะนำอย่างดังกล่าวใกล้ชิดตามวัตถุประสงค์ หลังจากนั้นจะร่วมเผยแพร่และสนับสนุนให้มีการนำระบบ UCC/EAN 128 มาใช้อย่างแพร่หลายต่อไป
การที่ธุรกิจไทยจะนำรหัสแท่งระบบ UCC/EAN 128 นั้นจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินการธุรกิจที่ครอบคลุมทั้งการบริหารงานภายในบริษัทและการติดต่อสื่อสารกับภายนอกด้วยภาษาสากลจากรหัสแท่งในระบบที่สมบูรณ์แบบ โดยผู้ใช้สามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและประหยัดเวลาด้าน Supply Chain ได้ทั้งระบบ ผู้บริโภคก็ได้รับการบริการอย่างรวดเร็วแม่นยำตามความต้องการ นอกจากนี้ยังเป็นการยกระดับมาตรฐาน Logistics ของไทยให้มีความทัดเทียมกับอารยประเทศและสามารถเพิ่มศักยภาพการส่งออก ตลอดจนเป็นพื้นฐานในการนำระบบ ECR (Efficient Consumer Response) มาใช้ในประเทศไทยที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่ง--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ