กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--ปตท.
ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานสรุปสถานการณ์น้ำมันดิบในสัปดาห์ล่าสุด เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 106.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 103.61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 99.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูปลดลงเช่นกัน โดยน้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 ลดลง 2.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 117.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล ลดลง 0.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 120.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- ในช่วงต้นสัปดาห์ ตลาดคลายกังวลว่าอุปทานปิโตรเลียมจากรัสเซียอาจหยุดชะงัก ทั้งนี้สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ต่างประกาศมาตรการคว่ำบาตร ต่อผู้ที่ดำเนินการแบ่งแยกไครเมียออกจากยูเครน อย่างจำกัด โดยอายัตทรัพย์สิน และระงับวีซ่าเดินทางเข้าประเทศ เท่านั้น
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE3) ลงอีก 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ /เดือน มาอยู่ที่ 5.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ /เดือน เริ่มตั้งแต่ เม.ย. 57 และประธานฯ นาง Jenet Yellen แถลงอาจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย จาก 0 % - 0.25 % ภายใน 6 เดือนหลัง QE3 ยุติลง
- เศรษฐกิจจีนยังส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง โดย HSBC / Markit รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Managers’ Index) ในเดือน มี.ค. 57 อยู่ที่ 48.5 จุด แสดงภาวะถดถอย
- Commodity Futures Trading Commission (CFCT) รายงานนักลงทุนปรับลดสถานะเข้าซื้อสุทธิ (Net Long Position) สัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์ก และ ICE ที่ลอนดอน ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 มี.ค. 57 โดยลดลง 25,775 สัญญา หรือ 7.9% จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 302,320 สัญญา
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- เหตุการณ์ความรุนแรงในไครเมีย โดยทหารยูเครนที่ประจำการถูกโจมตีเสียชีวิต1 นาย และความตึงเครียดระหว่างชาติตะวันตกและรัสเซียเพิ่มขึ้น ภายหลังสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรบุคคลใกล้ชิดประธานาธิบดีรัสเซีย นายวลาดิมีร์ ปูติน เพิ่มอีก 20 ราย และรัสเซียได้ตอบโต้โดยการคว่ำบาตรบุคคลในรัฐบาลสหรัฐฯ 9 ราย
- ท่อขนส่ง Seawayในสหรัฐฯ ซึ่งระบายน้ำมันดิบจากคลังบริเวณกลางประเทศ ไปยังฝั่งอ่าว (Gulf Coast) มีแผนขยายกำลังการสูบถ่ายกว่าเท่าตัว เป็น 850,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ค.- มิ.ย.นี้
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
จากปัจจัยพื้นฐาน ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มอ่อนตัวลงในไตรมาส 2/57 นี้ เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันต่างทยอยเข้าสู่ช่วงปิดซ่อมบำรุงตามแผน อาทิ โรงกลั่นในสหรัฐฯ นำน้ำมันดิบเข้ากลั่น ต่ำสุดตั้งแต่ ต.ค. 56 อยู่ที่ 15 ล้านบาร์เรลต่อวัน และสหรัฐฯ ผลิตน้ำมันได้สูงสุดตั้งแต่ปี 31 โดย EIA รายงานปริมาณในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 มี.ค. 57 อยู่ที่ 8.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน กอปรกับอุปสงค์น้ำมันของสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. 57 ลดลง 0.6% จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 18.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตามวิกฤติยูเครนร้อนแรง หลังรัสเซียประกาศผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ และปฏิบัติการเข้ายึดครองฐานทัพในไครเมียซึ่งมีทหารยูเครนประจำการ สหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรข้าราชการและนักธุรกิจที่ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีรัสเซียเพิ่มอีก ทวีความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและกลุ่มชาติตะวันตก ทำให้นักลงทุนวิตกว่าอุปทานน้ำมันจากรัสเซียอาจเข้าสู่ตลาดได้ยากขึ้น ทั้งนี้รัสเซียผลิตน้ำมันดิบในปี 56 ที่ระดับ 10.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และส่งออกน้ำมันกว่า 7.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยส่วนหนึ่งผ่านท่อขนส่ง Druzbha ขนาด 300,000 บาร์เรลต่อวัน ผ่านยูเครน ไปยังฮังการี สโลวะเกีย สาธารณรัฐเชก ในสัปดาห์นี้ คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 105.3109.1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคา Dubai อยู่ในกรอบ 102.4-106.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคา WTI อยู่ในกรอบ 97.4101.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ปรับตัวลดลง โดยโรงกลั่นน้ำมัน Mailiao ในไต้หวัน ขนาด 540,000 บาร์เรลต่อวัน กลับมาดำเนินการหน่วยกำจัดกำมะถัน (Residue Desulfurizer หรือ RDS หมายเลข 1) ขนาด 80,000 บาร์เรลต่อวัน และอุปสงค์ของอินโดนีเซียชะลอตัว โดยเลื่อนการนำเข้าน้ำมันเบนซิน จำนวน 2 เที่ยวเรือ จากการส่งมอบในเดือน มี.ค.ไปเป็น เม.ย. 57 เนื่องจากปริมาณสำรองในประเทศอยู่ในระดับสูง ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 116.9-120.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลง โดยความต้องการใช้เชื้อเพลิงสำหรับทำความอบอุ่นลดลงภายหลังสิ้นสุดฤดูหนาว และอุปสงค์ของจีนลดลง 6.0 % จากปีก่อนหน้า ประกอบกับผลิตน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1.1 % ทำให้ผู้ค้ากังวลว่าจีนจะส่งออกเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามอุปทานน้ำมันสำเร็จรูปในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 2/57 เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมัน อาทิ เกาหลีใต้ ต่างเริ่มทยอยเข้าสู่ช่วงปิดดำเนินการเพื่อซ่อมบำรุงตามแผน โดยคาดว่าจะปิดซ่อมบำรุงสูงสุดในเดือน พ.ค. 57 ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 119.34-123.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล