กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--คอร์ แอนด์ พีค
โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา มองเยาวชนในยุค Gen Y ในปัจจุบันเป็นเด็กที่เติบโตมากับเทคโนโลยี เผยการจัดโครงการ “เอกตรา....สุภาพบุรุษชาวดิน” เพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจในชีวิตและสังคมไทยที่แท้จริง ที่แตกต่างจากภาพที่รับรู้ผ่านสื่อออนไลน์หรือคำบอกเล่า ด้วยการลงพื้นที่ออกค่าย ใช้ชีวิตกับครอบครัวชนบท
อาจารย์บุษรารัตน์ เกิดเพิ่มพูล รองผู้อำนวยการแผนกมัธยม โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา โรงเรียนเอกชนสองภาษาแห่งแรกของประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปัจจุบัน ปัญหาของเด็กกลุ่ม Gen Y ที่เติบโตมาพร้อมกับเกมคอมพิวเตอร์- อินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีไอที จะมีโลกส่วนตัวสูง ไม่ชอบอยู่ในกรอบและไม่ชอบเงื่อนไข และส่วนใหญ่ไม่มีความเข้าใจในวิถีชีวิตสังคมชนบท ซึ่งถือเป็นรากเหง้าของสังคมไทย โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา จึงได้จัดโครงการ “เอกตรา.....สุภาพบุรุษชาวดิน” เป็นปีที่ 16 ติดต่อกัน สอดคล้องกับปรัชญาของโรงเรียน “คุณธรรมนำวิชา ภูมิปัญญาพาพัฒนา”
ความมุ่งหวังจากการจัดกิจกรรมนี้ เพื่อให้เด็กนักเรียนได้เข้าใจชีวิตมากขึ้น เข้าใจโลกของคนอื่นๆ ไม่ได้มองเฉพาะโลกของตัวเอง โดยเฉพาะสังคมชนบท ที่มีสภาพแวดล้อมและปริบทแตกต่างจากสังคมเมือง มองเห็นความขาดแคลน และโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกัน ได้ลงมือปฏิบัติในสิ่งที่ไม่เคยได้มีโอกาสทำในช่วงเวลาที่อยู่บ้าน หรืออยู่ในสังคมเมือง เป็นการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต และเปิดมุมมองให้ได้รู้จักกับการใช้ชีวิตในสังคมที่ยังไม่จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีสื่อสารมากเช่นในสังคมเมืองใหญ่ โดยในปีแรกๆที่จำนวนนักเรียนยังไม่มากนัก ได้จัดให้นักเรียนไปอยู่กับครอบครัวพ่อแม่บุญธรรมในต่างจังหวัด เป็นเวลา 7-15 วัน ซึ่งชาวบ้านจะสอนให้เด็กได้ทดลองทำอะไรด้วยตัวเอง เด็กหลายคน เมื่ออยู่บ้าน จะมีแม่บ้านหรือพี่เลี้ยงคอยดูแลให้ทุกอย่าง แทบจะทำอะไรไม่เป็นเลย แม้แต่งานบ้านเล็กๆน้อยๆ แต่เมื่อเด็กได้ออกค่ายอยู่กับครอบครัวใหม่ในต่างจังหวัด เด็กจะต้องดำรงชีวิตด้วยตนเอง กินและอยู่ให้ใกล้เคียงชาวบ้านที่สุด ไม่มีไอศกรีม เบเกอรี่ แฮมเบอร์เกอร์ พิซซ่า ไม่มีซุปเปอร์มาร์เก็ต แบบที่พบเห็นได้ในห้างสรรพสินค้าทั่วไป มีแต่ตลาดเช้าท้องถิ่น ไม่มีห้องแอร์หรือฟูกที่นอนหนานุ่ม มีแต่ที่นอนบางๆกับผืนเสื่อ และมุ้งกางกันยุง และที่สำคัญที่สุด ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ทให้นักเรียนได้อัพสเตตัสตลอดเวลา
อาจารย์บุษรารัตน์ กล่าวต่อว่าการจัดโครงการ “เอกตรา....สุภาพบุรุษชาวดิน” นั้น ก่อนการออกค่าย เด็กจะต้องเรียนรู้ในการหาแหล่งทุนเพื่อไปพัฒนาและจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนไปให้โรงเรียนในพื้นที่ที่ไปออกค่าย อาจจะด้วยการหาสปอนเซอร์จากบริษัทห้างร้านต่างๆ หรือเล่นดนตรีเปิดหมวกเพื่อระดมทุน จากนั้นก็ต้องวางแผนการจัดกิจกรรมที่จะไปสอนหนังสือ หรือทำกิจกรรมกับน้องๆในชนบท เตรียมหาอุปกรณ์ที่จะต้องนำไปใช้หรือบริจาค เมื่อไปออกค่ายจริง ก็ต้องไปทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการบูรณะสิ่งก่อสร้างต่างๆ เช่นโรงเรียน ศาลาวัด หรือจัดกิจกรรมสอนภาษาอังกฤษ เล่นเกม เล่นดนตรี สร้างความสนุกสนานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเด็กท้องถิ่น
ส่วนการกินอยู่นั้น ในบางปีที่มีจำนวนนักเรียนไม่มาก นักเรียนจะถูกส่งไปอยู่กับครอบครัวชาวบ้าน ถ้าครอบครัวไหนประกอบอาชีพทำขนมขาย เด็กต้องตื่นเช้า ฝึกทำขนม และขายขนมหน้าบ้านที่ไปพัก ครอบครัวไหนที่ไปทำนา เด็กๆ ก็ต้องไปทำนา เรียนรู้ชีวิตการทำนาจริงๆ ถ้าเด็กผู้ชายก็ให้ไปฝึกทำงานในโรงสีด้วย เด็กต้องเรียนรู้ที่จะทำงานบ้าน เรียนรู้ที่จะกินอาหารท้องถิ่น รู้จักอดทนอดกลั้นต่อความไม่เคยชิน และความไม่ชอบใจ หรือความไม่สะดวกสบายต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าเด็กหลายคนไม่มีความสุข แต่เมื่อเวลาผ่านไป ครูที่ไปออกค่าย ให้การอภิบาลและพูดคุย ชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ได้รับ อีกทั้งการได้แลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนๆที่สนุกสนานกับประสบการณ์แปลกใหม่ที่ได้รับนี้ และที่สำคัญ ความมีน้ำใจที่ได้รับจากชาวบ้านทั้งผู้ใหญ่และเด็กในหมู่บ้าน ก็ทำให้นักเรียนเริ่มปรับเปลี่ยนทัศนคติ และเริ่มมีความสุขกับการทำกิจกรรมในครั้งนี้
เมื่อจบโครงการ สิ่งที่เด็กได้รับ นอกจากจะได้ประสบการณ์แล้ว ยังได้เข้าใจสังคมไทยที่เป็นจริงมากขึ้น เริ่มเข้าใจและให้ความสำคัญกับโลกของคนอื่นมากขึ้น มีมุมมองกว้างขึ้น อย่างไรก็ตาม นักเรียนเหล่านี้ อยู่ในสังคมเมืองมาตลอด เพียงระยะเวลาไม่กี่วัน อาจไม่สามารถทำให้นักเรียนเปลี่ยนทัศนคติ หรือพฤติกรรมได้ทั้งหมดทุกคน แต่อย่างน้อยก็ได้ซึมซับการใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ในโลกที่ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีตลอดเวลา ไม่ต้องหรูหรา ได้เรียนรู้การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ได้ช่วยเหลือเพื่อน เรียนรู้ที่จะก้าวข้ามความไม่คุ้นชิน ลดละความสะดวกสบายต่างๆ ดูได้จากพฤติกรรมของเด็กเมื่อกลับมา ทุกคนจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น มากบ้าง น้อยบ้าง แตกต่างกันไป แต่เชื่อแน่ว่า ไม่มีใครที่จะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย
โรงเรียนเชื่อว่า ในอนาคตเด็กนักเรียนเหล่านี้ ต่างต้องเติบโตทำหน้าที่สืบทอดกิจการของครอบครัว หรือดำรงตำแหน่งที่มีบทบาทต่อสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากสิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนี้ จะมีส่วนทำให้เขาได้ประกอบอาชีพบนพื้นฐานของคุณธรรมความดีงาม ได้ทำอะไรเพื่อตอบแทนและลดช่องว่างความแตกต่างทางสังคมบ้าง ย่อมหมายถึงว่าโครงการนี้ บรรลุวัตถุประสงค์แล้วโดยสมบูรณ์