กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มอบหมายให้ ม.หอการค้าไทย ทำการศึกษาการปฏิรูปโครงสร้างภาษีสรรพสามิต เพื่อนำเสนอแนวทางการปฏิรูปให้สอดคล้องกับหลักการภาษีที่ดี ลดความยุ่งยากซับซ้อน สร้างความโปร่งใส เป็นธรรม เป็นสากลทัดเทียมกับนานาประเทศ พร้อมรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อันจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต
ศ.(พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานคณะกรรมการกฎหมายภาษีอากร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า คณะกรรมการภาษีอากร สภาหอการค้าฯ ได้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปฏิรูปโครงสร้างภาษีสรรพสามิตตามหลักของระบบภาษีที่ดี (good tax system) เนื่องด้วยขณะนี้ระบบภาษีสรรพสามิตเผชิญกับประเด็นปัญหาใหญ่ 3 ประการคือ
1. การจัดเก็บรายได้สรรพสามิตในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 ต่ำกว่าประมาณการถึงร้อยละ 11 หรือประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท
2. ปัญหาโครงสร้างภาษีสรรพสามิตในปัจจุบัน มีปัญหาเรื่องโครงสร้าง (tax structure) ที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ปัญหาเรื่องความโปร่งใส เช่นข้อโต้แย้งเรื่องการแจ้งราคา ณ โรงอุตสาหกรรม หรือการสำแดงราคานำเข้าต่ำกว่าความเป็นจริง ปัญหาเรื่องประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี (tax administration)ที่สร้างภาระกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และปัญหาเรื่องอัตราภาษีที่เหมาะสม (tax rate)
3. การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ซึ่งจะทำให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการในกลุ่มประเทศ AEC ได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น จึงอาจทำให้การแข่งขันสูงมากขึ้น
ศ.(พิเศษ) กิติพงศ์ฯ กล่าวว่า “จากการที่ภาษีสรรพสามิตสามารถทำรายได้ให้กับรัฐถึง 432,868 ล้านบาท หรือเกือบร้อยละ 17 ของรายได้รัฐในปีงบประมาณ 2556 และเป็นภาษีที่สำคัญในการจัดการกับภาระภายนอก (externality cost) จึงมีการจัดทำ “โครงการศึกษาการปฏิรูปโครงสร้างภาษีสรรพสามิต” เพื่อเสนอแนวทางในการปฏิรูปภาษีสรรพสามิต เพื่อลดความยุ่งยากซับซ้อน สร้างความโปร่งใส เป็นธรรม เป็นสากลทัดเทียมกับนานาประเทศ พร้อมรับการเปิดเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาซียน (AEC) ที่จะมาถึงในปี 2558 นี้ โดยมอบหมายให้สถาบันวิชาการนโยบายกิจการสาธารณะกับธุรกิจและการกำกับดูแล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อนำเสนอต่อกระทรวงการคลังและรัฐบาลชุดใหม่ต่อไป”
ด้าน ดร. ศิริญญา ดุสิตนานนท์ คณะนิติศาสตร์ ม.หอการค้าไทย หัวหน้าโครงการศึกษาการปฏิรูปโครงสร้างภาษีสรรพสามิต กล่าวว่า “วัตถุประสงค์ของการจัดทำโครงการฯนี้ก็เพื่อศึกษาวัตถุประสงค์ของการเก็บภาษีสรรพสามิตในประเทศไทย และเพื่อศึกษาประเด็นปัญหาสำคัญเกี่ยวกับภาษีสรรพสามิตของอุตสาหกรรมหลักในภาพกว้าง โดยเน้นที่การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ น้ำมัน รถยนต์ เครื่องดื่ม และสินค้าอื่นๆ บางรายการ ซึ่งเป็นภาษีหลักที่ทำรายได้สูงสุดให้กรมสรรพสามิต รวมถึงศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในระดับสากล เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการกำหนดแนวทางที่เหมาะสมที่สุดในการปฏิรูปภาษีสรรพสามิตสำหรับประเทศไทย โดยมีระยะเวลาในการศึกษาโครงการฯ 5 เดือน ก่อนนำเสนอรัฐบาลชุดใหม่พิจารณากำหนดเป็นวาระเร่งด่วนต่อไป”
การจัดทำโครงการศึกษาการปฏิรูปโครงสร้างภาษีสรรพสามิตในครั้งนี้ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับคือทำให้รัฐบาลมองเห็นสภาพปัญหาของระบบภาษีสรรพสามิตของไทยและความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องปฏิรูปภาษีสรรพสามิตแบบจริงจังและสอดคล้องกับหลักการของระบบภาษีที่ดี รวมทั้งชี้ให้เห็นว่าหากไม่ปฏิรูปภาษีสรรพสามิตจะเกิดผลกระทบอย่างไรขึ้นบ้าง รวมทั้งนำเสนอข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างกฎหมายภาษีสรรพสามิตของประเทศไทย เพื่อนำมาใช้พัฒนาระบบภาษีสรรพสามิตในประเทศไทยให้มีความโปร่งใส่ เป็นธรรม ลดความยุ่งยากซับซ้อน รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตให้กับรัฐบาลในระยะยาวต่อไป ศ.(พิเศษ) กิติพงศ์ฯ กล่าวในที่สุด
ภาษีสรรพสามิตที่มำรายได้สูงสุด 5 ประเภท
ปีงบประมาณ พ.ศ.2556
รายการ จำนวนเงิน (ล้านบาท)
1. ภาษีรถยนต์ 153,874
2. ภาษีเบียร์ 69,086
3. ภาษียาสูบ 67,891
4. ภาษีน้ำมัน 63,532
5. ภาษีสุรา 52,671
รวม 432,868
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง