กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ (คนที่ 2 จากซ้าย) เป็นประธานในงานประกาศเกียรติคุและแสดงความยินดีแก่ ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (คนที่ 4 จากซ้าย) คณบดีคณะวิศวลาดกระบัง ซึ่งเป็นผู้อุทิศตนในการพัฒนาปฎิรูปการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีวิศวกรรมให้ก้าวไกลเพื่อคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน ล่าสุดได้รับเลือกเป็นนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์(วสท.) จัดโดย ชมรมศิษย์เก่าเทคโนโลยีพระจอมเกล้า 3 สถาบัน และ สมาคมศิษย์เก่าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ณ โรงแรมดิเอมเมอรัลด์
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จบการศึกษาปริญยาเอกจากสถาบันเอ็มไอที แมสซาชูเสท สหรัฐอเมริกา เป็นนักวิชาการด้านวิศวกรรมสาธารณูปโภค และนักบริหารที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ได้รับรางวัลนานาชาติมากมาย ล่าสุดคือ รางวัล Einsenhower Fellowship 2013 นอกจากนี้ยังเปี่ยมความมุ่งมั่นในการปฏิรูปการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ของไทย ไม่เป็นสองรองใครในภูมิภาคอาเซียนนี้ ทุ่มเทแรงกายแรงใจและกำลังสมองตลอดเวลาเกือบ 4 ปี ของการอยู่ในตำแหน่งคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล) เพื่อสร้างให้ “วิศวลาดกระบัง” เป็นที่จดจำ ทั้งในฐานะสถาบันอุดมศึกษาที่มีการปฏิรูปหลักสูตรและการเรียนการสอนวิศวกรรมศาสตร์ซึ่งตอบสนองความต้องการของทั้งของผู้เรียน สถานประกอบการ สังคมและประเทศชาติได้มากที่สุดแห่งหนึ่ง รวมถึงการรักษาอัตลักษณ์ของ “บัณฑิตวิศวลาดกระบัง” ให้เป็นที่ยอมรับในความเชี่ยวชาญทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ เพราะสามารถนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เล่าเรียนมา มาสร้างนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างได้ผล
จากความเชื่อมั่นว่า “เมื่อโลกเปลี่ยนไป เราก็ต้องปรับตาม” ศ.ดร.สุชัชวีร์ จึงได้พัฒนา “คณิตศาสตร์ปฏิรูป” (Reform Math) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เนื่องจากคณิตศาสตร์เป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยคัดสรรตำราจากมหาวิทยาลัยดังระดับโลก เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด มหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐแอริโซนา มหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐอาร์คันซอ เป็นต้น ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐมูลค่ากว่า 60 ล้านบาท และเป็นที่ยอมรับขององค์กรวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Science Foundation,NSF)
และที่สำคัญได้วางหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ ของ สจล. ให้มีความหลากหลายตอบรับกับวิถีอาเซียนและโลกที่เปลี่ยนแปลง 6 หลักสูตรใหม่นับเป็น Signature เฉพาะของสถาบันที่ได้ริเริ่มและเปิดสอนขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ได้แก่ วิศวกรรมชีวการแพทย์ วิศวกรรมปิโตรเคมี วิศวกรรมขนส่งทางราง วิศวกรรมป้องกันประเทศ วิศวกรรมดนตรีสื่อประสม และวิศวกรรมพลังงานไฟฟ้า
“หลักสูตรวิศวกรรมชีวการแพทย์ เป็นการนำความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ทุกแขนงมาบูรณาการเข้ากับองค์ความรู้ด้านแพทยศาสตร์ เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถในการผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ พัฒนาซอฟแวร์ และอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อช่วยให้แพทย์บำบัดรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวมากขึ้น
“หลักสูตรวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม บัณฑิตจากสาขานี้จะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในแวดวงดนตรีและมัลติมีเดีย สามารถใช้เทคโนโลยีสร้างสรรค์งานเพื่อส่งมอบความบันเทิงสู่ผู้บริโภคในยุคดิจิตอลได้อย่างครบวงจร ไม่ว่าจะในรูปแบบของเสียงเพลงหรือทีวีดิจิตอลที่เข้าถึงผู้คนได้ทุกวัย ทุกที่ ทุกเวลา ตลอดจนร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ไทยก้าวเข้าสู่การเป็นฮับวิศวกรรมดนตรีแห่งอาเซียนได้ในที่สุด
“หลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางราง มุ่งผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านระบบขนส่งมวลชนทางราง ที่มีศักยภาพในการผลิตและพัฒนาเครื่องจักร ออกแบบวางผังเมือง และเส้นทางเดินรถไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบุคลากรด้านนี้จะเข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาเมืองอย่างมีนัยสำคัญ ช่วยเสริมพลังให้ภาคการผลิตและการบริการ จะเป็นโครงข่ายคมนาคมหลักที่เชื่อมต่อประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเข้าด้วยกันอีกด้วย”
ศ.ดร.สุชัชวีร์ ได้วางทิศทางในการผลิตบัณฑิต “วิศวลาดกระบัง” ให้เป็นวิศวกรคุณภาพโดยได้วางอัตลักษณ์ของบัณฑิตวิศวลาดกระบังให้เป็น Creative Engineer และบัณฑิตที่จะได้ชื่อว่าเป็น Creative Engineer ที่สมบูรณ์จะต้องมีคุณสมบัติครบตามมิติต่างๆต่อไปนี้
“แม่นทฤษฎี เชี่ยวชาญงานปฏิบัติ รอบรู้ทางวิชาการที่เข้มแข็งแล้ว ยังต้องเป็น“Hand on Engineer” เมื่อเข้าไปสู่ตลาดแรงงานแล้วต้องทำงานได้ทันที ต้องเลอะได้ สู้งาน ขณะที่เขาก็ต้องเป็นนักคิดด้วย คือ เราผลิต “นวัตกร” ซึ่งมีจิตวิญญาณเดินหน้าลุยทุกงาน ไม่ใช่แค่วิศวกรที่ทำงานอยู่แต่ในห้องแอร์เท่านั้น
“มีความเป็นผู้นำ และเข้าใจสังคม บัณฑิตวิศวลาดกระบัง ต้องมีความเป็นผู้นำ กล้าพูดกล้าทำ กล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง รวมทั้งเป็นคนที่เพื่อนฝูงรัก ผู้บังคับบัญชาเมตตาด้วย สุดท้ายแล้วต้องยึดมั่นในความซื่อสัตย์ ตามคติพจน์สถาบันของเรา คือ ซื่อสัตย์ ใฝ่รู้ สู้งาน เราจัดให้มี “ห้องเรียนผู้นำ” ขึ้นทุกสัปดาห์ โดยเชิญผู้นำทางความคิดในสังคม และบุคคลตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมาบรรยายให้นักศึกษาของเราฟัง
“คิดนอกกรอบเป็น สร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลกได้ ผมเชื่อว่าประเทศไทยเราก็มีบุคคลที่น่ายกย่องอย่าง สตีฟ จ็อบ หรือมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ได้ เพียงแค่กระตุ้นให้เยาวชนของเรากล้าที่จะแสดงความคิดสร้างสรรค์ให้ถูกทาง โดยยึดหลักให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง อย่างการจัดพื้นที่ให้นักศึกษาได้แสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ผ่านการจัดกิจกรรมหลากหลาย เช่น ชมรมโรบอต หรือกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาใช้ความรู้ที่มีมาสร้างนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ ช่วยบรรเทาทุกข์ให้ประชาชนในช่วงที่สังคมเกิดวิกฤตการณ์ เช่น น้ำท่วม นอกจากนั้น เรายังสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมในการเรียนรู้ ด้วยการทำให้อาจารย์ทุกคนในคณะสามารถเข้าถึงได้ง่าย พวกเขาก็กล้าที่จะพูดคุยและปรึกษาอาจารย์ทันทีที่มีเรื่องสงสัย ทั้งหมดนี้ทำให้นักศึกษามีความมั่นใจ เป็นวิศวกรที่กล้าคิดนอกกรอบ กล้าทำ “นวัตกรรมเปลี่ยนโลก” ได้ในที่สุด
ไม่เพียงแค่หลักสูตรการเรียนการสอนและชื่อเสียงของบัณฑิตที่เป็นที่จดจำของผู้คนเท่านั้น หากแต่ วิศวลาดกระบัง ยังโดดเด่นในเรื่องของ ผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคมได้จริงด้วย และสร้างประโยชน์มหาศาลให้ผู้คนในสังคม ไม่ว่าจะเป็น แผ่นรองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ที่สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ได้คิดค้นขึ้น ซึ่งสามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน และช่วยลดความเสี่ยงของผู้ป่วยจากการถูกตัดขาเมื่อเกิดแผลกดทับที่ฝ่าเท้าอย่างได้ผล หรือจะเป็น ผลงาน ลาดกระบังโมเดลและศูนย์เฝ้าระวังภัยพิบัติวิศวลาดกระบัง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อครั้งมหาอุทกภัย ปี 2554 โดยนวัตกรรมนี้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายใน 61 ชุมชน ซึ่งสามารถช่วยเตือนภัยเมื่อมีระดับน้ำสูงขึ้นและเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ได้จริง
เหล่านี้สะท้อนปณิธานของ ศ.ดร.สุชัชวีร์ ในการมุ่งสู่...”ความเป็นหนึ่ง เป็นที่พึ่งของสังคม” ได้อย่างชัดเจน