ประเทศไทย: บาดแผลที่เจ็บปวด ทำให้เสือแห่งเอเชียปราดเปรียวลดลง

ข่าวทั่วไป Friday September 19, 1997 12:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--19 ก.ย.--สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
เศรษฐกิจไทยในระยะนี้ กล่าวได้ว่าอยู่ในสภาพที่ยากลำบากและเจ็บปวด นับจากปี 1985-1994 เป็นเวลาหนึ่งทศวรรษที่ระบบเศรษฐกิจของเรานำหน้าประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก เมื่อวัดจากอัตราการเจริญเติบโตโดยเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัวที่มากกว่าปีละ 8% การเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงดังกล่าว ทำให้มาตรฐานการครองชีพของประชาชนดีขึ้นอย่างรวดเร็ว และดูเหมือนจะดียิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุด เราคนไทยภูมิใจในความสำเร็จนี้ แต่เราอาจจะภูมิใจมากเกินไปจนมองไม่เห็นสัญญาณอันตรายแต่เนิ่น ๆ
ปีที่แล้ว เศรษฐกิจของเราเริ่มอยู่ในสภาพที่เติบโตมากเกินไป เราได้รับคำแนะนำจากมิตรประเทศให้ขอคำแนะนำจากกองทุนระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ แต่ด้วยความยึดมั่นในศักดิ์ศรีและปัจจัยทางการเมือง ทำให้เราละเลยข้อเสนอนี้
เศรษฐกิจที่ร้อนแรงที่ผ่านมา มีแรงกระตุ้นที่สำคัญคือ ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกู้ยืมเงินจำนวนมากมาลงทุน ทำให้อุปทานมากกว่าอุปสงค์ อาคารสำนักงาน ที่พักอาศัยจำนวนมากต้องว่างเปล่า ขายไม่ออก ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่มีรายได้พอที่จะชำระหนี้ธุรกิจเงินทุนซึ่งปล่อยสินเชื่อมากเกินไปต้องกู้จากธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง สถานการณ์เช่นนี้ ยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้วจากปัญหาการส่งออกตกต่ำในช่วงก่อนหน้า ให้ปักหัวดิ่งลงอย่างรวดเร็ว
ปัญหาเหล่านี้เลวร้ายยิ่งขึ้นจากสาเหตุที่ภาคธุรกิจการเงินของเรายังไม่พร้อมกับการรับมือกระแสโลกาภิวัฒน์ กระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้น พัดเร็วและแรงจนเราตั้งตัวไม่ติด การขาดระบบที่สมบูรณ์และไม่มีเครื่องมือในการควบคุม ทำให้ระบบเศรษฐกิจไม่มีเวลาในการเตรียมตัวและไร้ประสบการณ์ในการบริหารเศรษฐกิจมหาภาคตกอยู่ในสภาพที่ยากลำบาก และนี่คือกับดักที่ซ่อนอยู่บนเส้นทางพัฒนาที่เร่งรุดไป
ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทย เมื่อมองในกรอบของภาพรวมแล้ว ก็คือตัวอย่างความยากลำบากที่เกิดขึ้นกับประเทศกำลังพัฒนา ปัญหาเหล่านี้ทำให้เราตระหนักว่า การเปลี่ยนผ่านจากประเทศที่ยากจนไปสู่เศรษฐกิจที่มั่งคั่งนั้น ต้องมีการวางแผน เตรียมการอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง ต้องมีมาตรการควบคุมความทะเยอทะยานและการก่อหนี้ที่เกินตัว
ในที่สุด เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม รัฐบาลไทยก็ตัดสินใจยอมรับเงื่อนไขตามแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไอเอ็มเอฟ เพื่อแลกกับการกู้เงิน และนับจากวันนั้นเป็นต้นมา ประชาชนชาวไทยต้องร่วมแบกรับความเจ็บปวดจากการ "เยียวยา" ของไอเอ็มเอฟ
อย่างไรก็ตาม แม้จะยากลำบาก แม้ว่าจะเจ็บปวด แต่หลังจากกระบวนการบำบัดแก้ไขฟื้นฟูเศรษฐกิจ เศรษฐกิจของประเทศจะมีความมั่นคง และเข้มแข็งมากขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โทร. 537-8111--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ