กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--โรงพยาบาลมนารมย์
โรงพยาบาลมนารมย์ ขอเชิญทุกท่านเข้าร่วมฟังบรรยายเพื่อ เรื่อง “ผู้สูงวัยเป็นหลักชัยของครอบครัว” โดย แพทย์หญิงภัทรวรรณ ขันธ์แก้ว จิตแพทย์ ประจำโรงพยาบาลมนารมย์ ในวันเสาร์ที่ 29 มีนาคม 2557 เวลา 08.30 – 12.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 2 โรงพยาบาลมนารมย์ (สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส - บางนา) สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือสำรองที่นั่งได้ที่ โทร. 02-725-9595 สำรองที่นั่งด่วน ไม่มีค่าใช้จ่าย
ก้าวสู่วัยสูงอายุอย่างมีความสุข
แพทย์หญิงภัทรวรรณ ขันธ์แก้ว
จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์
โรคที่เกิดจากอารมณ์ สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัยและมักจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นตามจำนวนปีของอายุที่เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งๆ ที่เมื่อมีอายุมากขึ้น คนเราน่าจะมีความสงบสุขและอยู่อย่างสบายๆ ไม่ต้องวุ่นวายกับสภาวะแวดล้อมมากนัก แต่ตามความเป็นจริงแล้วกลับกลายเป็นว่า หากคนเราไม่ได้เตรียมพร้อมกับชีวิตในวัยสูงอายุไว้ล่วงหน้า ผู้สูงอายุก็ต้องเผชิญกับปัญหายุ่งยากไม่ผิดกับคนในวัยอื่นๆ โดยเฉพาะปัจจุบันที่ภาวะเศรษฐกิจรัดตัว ผู้สูงอายุไม่สามารถอาศัยอยู่กับลูกๆ หลานๆ ได้เหมือนสมัยก่อน สิ่งเหล่านี้ก็ยิ่งเพิ่มความเครียดให้กับชีวิตมากขึ้น
โรคคนแก่ก็คือโรคที่เกิดจากอารมณ์ ความเจ็บป่วยในวัยนี้นอกจากเจ็บป่วยทางกาย เช่น ปัญหาความจำ ปัญหาเกี่ยวกับข้อ ปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น การได้ยิน การกลั้นปัสสาวะไม่ได้ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ที่ทำให้ชีวิตและกิจกรรมที่เคยทำของผู้สูงอายุเปลี่ยนไปแล้ว โรคเหล่านี้ยังส่งผลต่อภาวะจิตใจจนอาจกลายเป็นปัญหาทางอารมณ์ได้
ความเจ็บป่วยทางจิตใจส่วนหนึ่งมักมีสาเหตุมาจากความรู้สึกไม่มั่นคงและไม่ปลอดภัย ทั้งเรื่องการเงิน เรื่องสุขภาพและความไม่มั่นคงของชีวิต จนก่อให้เกิดความวิตกกังวล ผิดหวัง ท้อแท้ใจ เบื่อหน่ายจนกลายเป็นโรควิตกกังวลหรือ โรคซึมเศร้า ดังนั้น สาเหตุหลักมี
1. ความไม่มั่นคงทางการเงิน ปัจจุบันสังคมมีแนวโน้มที่จะไม่จ้างคนที่อายุ 45 ปีเข้าทำงาน ดังนั้นพอถึงอายุ 65 ปี จะพบว่ามีคนจำนวนมากที่ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ดังนั้นเรามักจะมีคำถามในใจเสมอว่า แล้วการเงินของเราจะเป็นอย่างไร เมื่ออายุ 65 ปี
2. ความไม่มั่นคงในเรื่องงาน ไม่มีหน่วยงานไหนจ้างงานคนสูงอายุ เพราะทุกคนมองว่าเป็นไม้ใกล้ฝั่ง ไม่คล่องแคล่ว เชื่องช้า น่าจะอยู่ในครอบครัวมากกว่าที่จะออกไปทำงานนอกบ้าน
3. ความไม่มั่นคงทางอารมณืที่เกิดจากพฤติกรรมของลูกๆ หลานๆ
4. ผู้สูงอายุถูกมองว่าเป็นภาระของครอบครัวและสังคม แทนที่จะมองว่าเป็นคนเชื่อมโยงระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าให้ใกล้ชิดกันมากขึ้นหากเรารับคนวัยนี้ไว้ทำงานในหน่วยงานหรือเลี้ยงดูพ่อแม่ที่บ้าน ทางแก้เพื่อช่วยเหลือและลดความเครียดจึงอยู่ที่ลูกๆ ต้องปรับตัวปรับใจ หันมาดูแลเอาใจใส่พ่อแม่มากขึ้น และสังคมควรมองผู้สูงอายุด้วยความเมตตาและให้ความช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ
5. ความกลัวการเจ็บป่วย เมื่อมีปัญหาต่างๆ รุมเร้าเข้ามามาก ทั้งโรคทางกายและโรคทางอารมณ์ก็ยิ่งทำให้รู้สึกวิตกกังวลมากยิ่งขึ้น กลัวว่าจะพิการ กลัวจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
6. ความกลัวตาย
7. ความสูญเสียเพื่อนผู้ใกล้ชิด คนในวัยเดียวกัน เริ่มทยอยล้มหายตายจากไปทีละคนสองคน ทั้งเพื่อนสนิท ภรรยาหรือสามี ผู้สูงอายุจะรู้สึกเหงา เพราะชีวิตแทบจะไม่เหลืออะไรอีกแล้ว
8. ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุของภาวะเครียดในผู้สูงวัยที่ทุกคนควรตระหนัก หากทุกคนมองว่าปัญหาของผู้สูงอายุก็เป็นปัญหาของเราด้วยเนื่องจากทุกคนหนีไม่พ้นและในไม่ช้าก็ต้องชราไปตามธรรมชาตินั้นก็ต้องช่วยกันดูแลเอาใจใส่และผลักดันให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นทั้งกายและใจ
ดังนั้นในวัยหนุ่มวัยสาวที่ชีวิตเป็นช่วงขาขึ้น ต้องฝึกวางแผนการใช้ชีวิตในแต่ละช่วงชีวิตให้ดี เพราะหากคุณคิดวางแผนได้เร็วว่าจะทำอะไรเมื่อคุณกลายเป็นผู้สูงอายุได้เร็วเท่าไหร่ คุณก็จะเป็นผู้สูงอายุที่มีความสุขมากขึ้นเพียงนั้น แล้วจะทำอย่างไดีล่ะ
1. พัฒนาอารมณ์ให้มั่นคง มีความคิดให้เป็นผู้ใหญ่สมวัยในด้านการดำเนินชีวิต ต้องรู้จักหาความสุขและความสนุกสนานได้เสมอจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว เช่น กับเพื่อนฝูง กับครอบครัว กับอาชีพการงานและการใช้เวลาว่างทำสิ่งที่ชอบ นอกจากนั้นต้องพัฒนาตัวเองให้มีใจเมตตากรุณา เป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ มีความสามารถในการประนีประนอมและยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากเราพัฒนาไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้เราปรับตัวในวัยสูงอายุได้ดีขึ้น
2. วางแผนการเงินในอนาคต
3. วางแผนเรื่องที่อยู่อาศัย
4. หางานอดิเรกทำเพื่อไม่ให้เหงา
5. ช่วยกันรณรงค์เรื่องปัญหาผู้สูงอายุ เพื่อเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมที่มีต่อผู้สูงอายุเสียใหม่แทนที่จะมองว่าเป็นภาระครอบครัวและสังคม ก็หันมาให้ความเห็นอกเห็นใจและทำกิจกรรมร่วมกัน
และหากเป็นผู้สูงอายุแล้วล่ะ จะปฏิบัติตัวอย่างไรดี
1. ยอมรับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ปัจจุบันให้ได้
2. หาเพื่อนใหม่ๆเพื่อทดแทนเพื่อนเก่าๆ ที่ทยอยไปแล้ว ชีวิตจะอบอุ่นหรือจะเหงาขึ้นอยู่กับตัวเอง
3. ปรับความคิดให้รู้จักยืดหยุ่นและปรับตัวได้ตามยุคสมัย ลดการบ่นหรือการตำหนิติเตียนลูกหลานหรือคนรุ่นใหม่
4. แต่งกายให้ดูดี สะอาดสะอ้าน
5. อย่าปล่อยเวลาให้ผ่านไปอย่างไร้ค่า หาสิ่งที่เป็นประโยชน์ทำ
6. รักษาอารมณ์ให้สดชื่นอยู่เสมอ
7. อย่ากังวลเรื่องความตาย เพราะทุกคนต้องตายเหมือนกัน ให้คิดว่าเกิดมาก็ต้องตายกันทุกคน เราไม่ใช่คนแรกที่ต้องตายแล้วก็ไม่ใช่คนสุดท้าย
วัยสูงอายุเป็นวัยทองของชีวิต จงทำใจให้พอใจกับสภาพชีวิตปัจจุบันแม้จะลำบากทางกายอย่างไรแต่ก็ต้องทำใจให้เป็นสุข ส่วนโรคภัยไข้เจ็บทางกายหากสามารถรักษาได้ต้องไปรักษาต่อเนื่องเช่นเดียวกันกับการรักษาทางจิตใจและอารมณ์ต้องทำควบคู่กันไป