กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--
การสร้างแรงบันดาลใจ การริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการดำเนินธุรกิจ ดั่งในอดีต โทมัส อัลวา เอดิสัน จากเทียนเล่มเล็กเมื่อร้อยกว่าปีก่อน สามารถประดิษฐ์ดัดแปลงกลายเป็นหลอดไฟสร้างแสงสว่างให้กับโลก หลุดพ้นจากความมืดมนยามค่ำคืน และได้รับการต่อยอดจนกลายเป็นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก
ตอกย้ำด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ท่ามกลางเทคโนโลยีที่ทันสมัย การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันรุนแรง ธุรกิจแบบดั้งเดิม ที่ยึดติดกับกาลเวลาเดิมๆ ขาดการริเริ่มสร้างสรรค์ อาจไม่สอดรับกับค่านิยม และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง ไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ ทำให้หลายธุรกิจประสบปัญหา และล้มเหลวในที่สุด
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (AKU) หนึ่งในสถาบันการศึกษาที่มุ่งมั่นพัฒนาความเข้มแข็งทางวิชาการและบุคลากรคุณภาพด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม และโดดเด่นในเรื่องสถาปัตยกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนมาอย่างยาวนาน ล่าสุดได้จัดงานฉลองครบรอบ 20 ปี “สองทศวรรษ ...สถาปัตย์เกษตร” จัดกิจกรรมเชื่อมโยง นักคิด นักสร้างสรรค์ นักออกแบบ รวมทั้งศิษย์เก่า มาแบ่งปันประสบการณ์ความรู้สู่สังคม ผสมผสานเครือข่ายนักวิชาการ นักธุรกิจและนักวิชาชีพในแวดวงการออกแบบ เพื่อสร้างไอเดียและแรงบันดาลใจแก่สังคม ภายใต้หัวข้อ AKU Innovation talk “ When Design meets…Business” โดยได้เชิญวิทยากร ทั้งสถาปนิก นักออกแบบ และผู้บริหารคนดัง มาร่วมแบ่งปัน บอกเล่าประสบการณ์การทำงานในแวดวงการออกแบบและสร้างสรรค์ การสร้างแรงบันดาลใจ ริเริ่ม ขับเคลื่อนธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ รวมถึงการออกแบบเพื่อสังคม สร้างการรับรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ทั้งนิสิต ศิษย์เก่า คณาจารย์ และบุคลากรผู้เกี่ยวข้องในองค์กร มาฟังมุมมองของวิทยากรต่างๆ อาทิ
ญารินดา บุนนาค สถาปนิกมากด้วยความสามารถจากหลากหลายรางวัลระดับประเทศที่ได้รับระหว่างการศึกษาที่สหรัฐ เธอจบปริญญาตรีด้านสถาปัตยกรรม จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และปริญญาโท จาก Graduate School of Design มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตร International Program in Design and Architecture (INDA) ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยประสบการณ์การทำงานวิชาชีพทั้งต่างประเทศและในประเทศกับ บริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด ควบคู่ไปกับอีกสถานะในด้านพิธีกร นักร้องและนักแสดงที่รู้จักคุ้นเคยกันดี เธอได้นำเสนอผลงานการออกแบบวิทยานิพนธ์ที่ได้รับรางวัลของเธอสมัยเรียนปริญญาโทด้วย ผลงาน “House of Endeavour” โดยใช้จินตนาการ หลากหลายศาสตร์ เชื่อมโยง ผสมผสาน ถ่ายทอดเป็นเรื่องราวของสถาปัตยกรรมที่ล้ำยุคสมัย ประกอบกับการบอกเล่าแนวคิดการออกแบบที่ผูกเป็นเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจราวกับการนั่งชมภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดก็ปาน ผนวกกับพลังในน้ำเสียงและลีลาท่าทางทำให้ตรึงผู้ฟังให้ติดตามอย่างจดจ่อไปตั้งแต่ต้นจนจบ
อรรถพร คบคงสันติ(ป๊อก) ผู้บริหารบริษัท T.R.O.P จำกัด ภูมิสถาปนิกที่ Hot ที่สุดคนหนึ่งในบ้านเรา จบปริญญาตรีคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์ และปริญญาโท จาก มหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด ได้ทำงานร่วมกับสถาปนิก ดีไซเนอร์ชื่อดังระดับโลกคือ Sir Norman Foster ผลงานแรกนำเสนอผลงานออกแบบสวน และเซลล์ออฟฟิตให้กับผู้พัฒนาโครงการที่พัทยา ตนเป็นผู้รับจ้างออกแบบรายสุดท้าย เพราะฉะนั้นข้อจำกัดในการออกแบบจึงมีเยอะมาก โจทย์คือต้องสร้าง “สวนและเซลล์ออฟฟิต” ให้เสร็จภายใน 2 เดือน
ข้อจำกัด คือ ความชันและแคบยาวของพื้นที่ มีบ้านเรือนขนาบข้าง การออกแบบทำเป็นสนามหญ้า ลาดลงตามความชัน ให้ลืมความเป็นพัทยาเป็นชั่วขณะ ปรับแต่งเนินหญ้าให้มีความซิกแซก ตอนกลางคืนมีไฟประดับเพิ่มความน่าสนใจ และสวยงาม สวนที่ออกแบบเราตั้งชื่อว่า “Pause” มาจาก Pattaya + Useให้ความหมาย หยุดชั่วขณะ ไม่ว่าจะหยุดพักผ่อน หยุดผ่อนคลาย หยุดความเป็นพัทยา หรืออะไรก็แล้วแต่ ตามที่ผู้สัมผัสจะจินตนาการหยุดพักให้กับตัวเองได้
สำหรับเซลล์ออฟฟิต ออกมาได้ความโค้งเว้า ส่วนผสมทุกเหลี่ยมมุมถูกซ่อนอยู่หลังกำแพง สร้างกำแพงใต้ต้นไม้ใหญ่ให้เรียบที่สุด โดยให้ต้นไม้ สะท้อนกับแสงธรรมชาติเป็นตัวละเลง หรือออกแบบลวดลายบนกำแพงเองตามใจชอบ และแสงที่มากให้ธรรมชาติเป็นตัวละเลงสี.
อีกโครงการหนึ่ง คือ โครงการออกแบบภูมิทัศน์ของคอนโดมีเนียมย่านเอกมัย ด้านหน้าติดสถานรถไฟฟ้า ด้านหลังตึกเก่า ปรับความเป็นกล่องของพื้นที่ สร้างความโค้งมน สร้างสวนในโครงการให้สวยงาน เมื่อผู้พักอาศัยเดินเข้าประตู ได้รู้ผ่อนคลายความเครียดจากที่ทำงานมาตลอดทั้งวัน ลดความร้อนของจิตใจ รถไฟฟ้าเป็นฉากหลังที่เราสร้างขึ้น สร้างว่ายน้ำ sky pool เพิ่มมุมต่อสภาพแวดล้อมของสระว่ายน้ำ จัดภาพท้องฟ้าเป็นชิ้นๆ และไม่ใช่เป็นตึกที่น่าเบื่อ“การออกแบบภูมิทัศน์และสวนที่สวยงาน มีความสร้างสรรค์ จนเป็นแบรนด์ดิ้งของโครงการ ดึงดูดให้ลูกค้าสนใจเข้ามาซื้อโครงการเลยทีเดียว”
พลวิทย์ เภตรา จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จากสถาบันเดียวกัน เป็นศิลปินนักถ่ายภาพ ครีเอทีฟ และนักออกแบบ โดยมีอาชีพหลักคือ เจ้าของร้านกาแฟ ไล-บรา-รี่
เล่าถึงประสบการณ์เป็นตัวอักษรล้วนๆ ว่า หลังจบปริญญาตรี 2539 ในปี2541 ต่อปริญญาโท ได้เรียนรู้หลายอย่าง และได้พบกับแฟนคนปัจจุบัน และเป็นปีที่สตาร์บัคเปิดแห่งแรกในประเทศไทย ในความคิดขณะนั้นสตาร์บัคไม่ได้ขายกาแฟ แต่ขายประสบการณ์การกินกาแฟ แม้กระทั่งเมเจอร์ ซินิเพล็กซ์ ก็ไม่ได้ขายการฉายหนังแต่ขายประสบการณ์ดูหนัง
ความคิดดังกล่าวยังฝังอยู่ในหัว หลังจากนั้น7ปี คบแฟนรู้ว่าผู้หญิงชอบมีร้านเล็กๆ อะไรก็ได้ เลยมีความคิดเปิดร้านกาแฟเล็กๆ อันเป็นจุดเริ่มต้นของร้านกาแฟ “ไล-บรา-รี่” เป็นร้านที่ไม่ได้ขายกาแฟ แต่เป็นร้านที่มีพื้นที่ (space) สำหรับการทำงาน การเสนอความคิด การเสนอความฝันของบางคน ด้วยคอนเซปป์ “ It's all about space” ไม่ใช่ทำธุรกิจแค่หาผลกำไร แต่ทำเพื่อให้มีพื้นที่ที่สุด “Best space” สำหรับลูกค้า..... “entrepreneurs do best product”
“ไล-บรา-รี่ คือพื้นที่ที่ผมชอบมากสุด ผมออกแบบ Space เพื่อขายกาแฟเป็นส่วนประกอบไม่ใช่ทำร้านกาแฟ แต่ทำพื้นที่ที่ตนเองชอบ ช่วงนั้นร้านกาแฟจะเป็นแบบ Active. มี Movement ตลอดเวลา ที่นั่งTurnover สูง ผมไม่ต้องการแบบนั้น ผมอยากทำแบบ Passive สามารถใช้พื้นที่คิดงานได้ ใช้เวลากับมันได้หรือ A Slow Space. ไม่เลือกสเปกเครื่องกาแฟ แต่เลือกแบบคันโยก เพราะมันเท่ดี และชอบ และคิดว่าคนเราทำอะไรที่ชอบแล้วจะทำได้ ไล-บรา-รี่จึงเป็นชีวิตของผม ผมคิดว่าเราสามารถ เงิน ชีวิตและธุรกิจ แล้วแต่จะออกแบบอย่างไร ไล-บรา-รี่ เปิดแล้ว 4 สาขาจะเปิดสาขาที่ 5 กลางปีนี้ แต่ผมยังมีเวลาไปส่งลูก ภรรยา ท่องเที่ยว และมีเวลาไปนั่งคิดงานในร้านกาแฟ ตามที่ใจที่ผมได้ออกแบบมันทุกประการ”
นพดล สุเนต์ตา เจ้าของบูติกโฮเต็ลแบรนด์ “Suneta” จบจากคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับเรื่องเล่าแฝงอารมณ์ขันแบบตลกร้ายว่า “หัวหมา” ด้วยเกรดเฉลี่ยอันต่ำต้อย ทำงานผิดพลาดโดนเชิญออกจากงาน ทำบริษัทกับเพื่อนจนเจ๊ง ช่วงชีวิตกว่า 10 ปีธุรกิจทั้งหมดที่แกทํา มีหลายกิจการมาก เห็นลู่ทางอะไร ลองทํามันทุกอย่าง มีเจ๊งบ้างก็แค่สองครั้งเท่านั้นเอง คือ “ครั้งแล้ว กับครั้งเล่า”
“ประสบการณ์ชีวิต ของผม ถ้าพูดว่าผิดเป็นครู ผมคงได้เป็นคณบดีแน่นอน สิ่งที่ผมจะเปรียบเทียบ คือ “หัวหมา” ที่กำหนดชีวิตตัวเอง เริ่มผมเป็นหาง แม้จะรู้สึกภูมิใจกับสิ่งใหญ่ แต่ไม่รู้ถึงความเป็นตัวเอง เลยกลายเป็นหัวเน่า แม้จะทำงานหนักเพียงใดก็ไม่รวยซะที”
“ผมเลยต้องหยุดทบทวนชีวิตตัวเองซักแป๊บ เริ่มจากถามตัวเองก่อนเลย ว่าตนเองอยากใช้ชีวิตแบบไหนสมัยก่อน ทํางานหนักแทบตาย ไม่เคยมีเงินเก็บซักที”
เราอยากอยู่ในจุดที่มีโอกาส รายได้ดี มีเวลา เราอยากกินมาม่ากินเมื่ออยากกิน ไม่ใช่กินเพราะยาก (จน) นพดลประเมินแหล่งที่มาของรายได้ในชีวิตคนเรา เปรียบกับพืชไร่และพืชสวน งานออกแบบที่ทำกันอยู่เทียบได้กับพืชไร่ เป็นงานบริการ ทำ1ครั้งได้เงินหนึ่งครั้ง งานง่าย ลงทุนน้อย ได้เงินเร็ว แต่ความกดดันก็สูง เพราะไม่รู้ว่างานจะมาอีกหรือไม่ ถ้ามีงานใหม่ก็เข้าสู่วงจรเดิมอดหลับอดนอนเพื่อให้ได้เงินอีกครั้ง แต่ถ้าเป็นพืชสวน งานเชิงรับ ลงทุนกับธุรกิจครั้งแรก แม้จะใช้เวลา การลงทุนและบำรุงรักษา แต่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอด ยาวนาน ต้องถามตัวเองว่าจะเป็นอะไร ตนเลือกงานแบบพืชสวน ลงทุนก่อสร้างโรงแรมเล็กๆแห่งแรก ที่เชียงคาน ซึ่งปัจจุบันปัจจุบันขยายไปแล้ว 3 สาขา การริเริ่มในสิ่งต่างๆ เราต้อง ตั้งโจทย์ กำหนดไคทีเรีย สร้างโซลูชั่น เพิ่มการสร้างสรรค์ ที่สุดแล้วดำรงชีวิตกับการริเริ่มได้อย่างมีความสุข
กษมา แย้มตรี หรือ พลอย ศิษย์เก่าสถาปัตยกรรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จาก Openspace สถาปนิกชุมชนที่เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยการดึงคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างคุณค่าให้กับสิ่งก่อสร้าง มาช่วยออกแบบจากโจทย์ที่มีอยู่ ทำงานร่วมกับคนหลายส่วนผู้ใหญ่ เด็ก อาสาสมัคร ให้ชีวิตความเป็นอยู่ในพื้นที่นั้นๆดีขึ้น
“จากประสบการณ์การเรียน เราคิดว่าความคิดสร้างสรรค์ มีไปทำไมถ้าใช้แล้วไม่สร้างสรรค์ อยากคิดสร้างสรรค์ร่วมกับคน ช่วยให้เราตัดสินใจ เลยมาทำกลุ่มผู้ด้อยโอกาส อาทิ สร้างสนามเด็กเล่น ชุมชนคลองเตย พิพิธภัณฑ์ชุมชน ชวนชุมชนมานั่งคุยกัน ใช้พื้นที่มาแชร์กันได้ ตอนนี้กลุ่มopen space. ทำร่วมกับหลายองค์กร” และในปัจจุบันยังหันมาให้ความสำคัญกับการออกแบบ Universal Design ในพื้นที่สาธารณะและชุมชน ตลอดจนงานสถาปัตยกรรมสำหรับความสามารถที่แตกต่างของผู้ใช้ ด้วยการก่อตั้งองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมชื่อ “ตาแสง” อีกด้วย
ผศ. บุญเสริม เปรมธาดา หัวหน้าภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในงานประกวดสถาปัตยกรรมยอดเยี่ยมระดับโลก (The ar+d Awards for Emerging Architecture 2011) งานของบุญเสริมสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถที่หลากหลายทางสถาปัตยกรรมทั้งในเชิงสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อ ม ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาสผ่านงานสถาปัตยกรรม“สถาปัตยกรรมของผมเป็นมากกว่าสิ่งมีชีวิต หลังทำงานไปแล้วเราเจออะไรบ้าง เรียนรู้ ถ่ายทอดและวนเวียนมาใหม่ บางคนอยากเป็นแค่สถาปนิกดารา แต่ความจริงคงไม่ใช่”
จูน เซคิโน่ สถาปนิกลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น ปริญญาตรีสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ก่อตั้งบริษัท จูน เซคิโน อาร์คิเทคต์ แอนด์ ดีไซน์ จำกัด ผู้ออกแบบให้คำปรึกษา พัฒนางานสถาปัตยกรรม ภูมิทัศน์ และอินทีเรีย บอกเล่าแนวคิดและประสบการณ์ของตนเองผ่านผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมหลายงาน“เอาภาพของการดีไซน์ ถ้าเราทำงานเหมือนสมัยเรียนได้ ชอบอะไร สนใจอะไร ก็ทำสิ่งนั้น ทีมเวิร์คเป็นเรื่องสำคัญ ผมโชคดีมีทีมงานทุมเท ใส่ใจในทุกงาน คิดว่าลูกค้าอยากเห็นอะไรก็ ลงมือทำ โดยไม่ต้องรอคำสั่ง ซึ่งงานของบริษัทไม่ว่าค่าแบบจะถูกหรือแพง ลูกค้าจะต้องได้รับมาตรฐานทัดเทียมกันทั้งหมด”
ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ สถาปนิกหญิงชื่อดังผู้บริหาร Department of Architecture ซึ่งมีผลงานการออกแบบที่มีรางวัลการันตีผลงานจากทั้งสมาคมสถาปนิกสยามฯ และในต่างประเทศ ได้บอกเล่าถึงมิติในความงามของการออกแบบสถาปัตยกรรมในแง่มุมใหม่ ที่ชักชวนผู้ฟังให้หันมาสนใจกับผนังว่างเปล่าซึ่งสามารถแต่งเติมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ได้จากทั้งการออกแบบเชิงกายภาพและจินตภาพผ่านแสงและเงา รวมทั้งในทำให้เห็นถึงความสำคัญของ Positive & Negative Space ในอาคารผ่านผลงานหลากหลายรูปแบบ
ม.ล.วรุตม์ วรวรรณ จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ปริญญาโทจากCentral Saint Martins College of Art & Design ในด้าน Communication Design และเข้าเรียนต่ออีกที่ Architectural Association School of Architecture ลอนดอน ประเทศอังกฤษ รวมใช้ชีวิตในต่างแดนเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปี บินกลับเมืองไทย ก่อตั้งบริษัทเป็นของตัวเอง VIN VARAVARN ARCHITECTS
เป็นสนใจในนวัตกรรมใหม่ๆ เรื่องง่ายๆอยู่รอบตัวเรา พฤติกรรมของคน วัสดุงานศิลปะ ราคาถูกแพง ธรรมชาติ ความสกปรก สามารถนำมาเป็นไอเดียได้ แต่และงานจะไม่เหมือนกัน เพื่อให้เจ้าของเห็นว่าเราคิดมาเพื่อเขา เราใช้พลังความคิดมาให้ได้เพื่อเค้า ไม่มีกรอบ มีความอิสระ
“สิ่งที่เป็นตัวผม ผลักดันการออกแบบ ผลักดันงาน เราทุกคนมีความเป็นเด็กอยู่ในตัว ออกมาสร้างความเดือดร้อน หรือสุขให้กับเรา เราสามารถทำอะไรเพี้ยนๆไม่อาย ไม่มีกรอบ ความเป็นเด็กเป็นพลังสำคัญมีทั้งดีและเลว ขึ้นอยู่กับว่าเราจะดึงอะไรออกมา ความเป็นผู้ใหญ่ มีความกลัวต่างๆที่กรอบเราไว้ ทิ้งฟอร์มทิ้งอัตตาช่วยให้เราผ่อนคลายขึ้น ต้องเสี่ยงที่จะนำเสนอความคิด บางครั้งสำเร็จ บางครั้งไม่สำเร็จ พร้อมยอมรับ แต่ที่ได้รับแน่นอนคือการ คิดอะไรใหม่ๆ ให้เกิดการพัฒนา ฝึกฝนพลังความเป็นเด็กในตัวของเราอยู่เสมอ”
สรกล อดุลยานนท์ นักสื่อสารมวลชน และนักเขียนชื่อดัง นามปากกา “หนุ่มเมืองจันท์” เริ่มต้นการบรรยายด้วยภาพความว่างเปล่า เพราะเห็นว่าการสร้างสรรค์ทุกอย่างจะเริ่มต้นจากความไม่มี เช่นเดียวกับตนที่ไม่เคยมีความฝันเป็นนักเขียน ไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจ คนบางคนอาจกลัวไปกับสิ่วที่ตนเองไม่เคยทำว่าจะทำไม่ได้ แต่บางสิ่งบางอย่างเรากลัวไปเอง ตนเองกลับเห็นว่างานต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายไม่ว่าจะเคยทำหรือทำไม่ได้ ถือเป็นโอกาสในการเรียนรู้มากกว่า
“เหมือนกับทฤษีฎีไมโล ชาวกรีกคนหนึ่งอยากเป็นนักยกน้ำหนัก มั่นฝึกฝนแบกลูกแพะทุกวันๆ จนสามารถแบกวัวตัวใหญ่เป็นตันๆได้ เช่นกัน กว่าจะมาเป็นผมต้องอาศัยการฝึกฝน เชื่อว่านวัติกรรมไม่ได้มาจากความคิดสร้างสรรค์อย่างเดียว ต้องลงมือทำด้วย ทักษะ ประสบการณ์ จะทำให้เกิดความสร้างสรรค์มากขึ้น ทางที่เห็นในวันนี้ เป็นทางที่ไม่เคยเดินมาก่อน ความฝันเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่ควรควรมี แต่ความฝันจะเป็นจริงไม่ได้ ถ้าไม่มีการลงมือ”
การเขียนงาน ง่ายๆ ความง่าย คือ ความงาม น้อยจะนำไปสู่มากได้ดังเช่น มูจิ แบรนด์ระดับโลกที่มีชื่อเป็นคำย่อง่ายๆ 4 ตัวอักษรว่า MUJI ซึ่งเจ้าของชาวญี่ปุ่นได้รับแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อหลังเดินทางมาเมืองไทย ด้วยคำเต็มจาก Man. mUang. Jan. Hi. หรือ หนุ่มเมืองจันท์ นั้นเอง (ฮา)
พร้อมกับทิ้งท้ายไว้ว่าในเชิงธุรกิจ การเอาศิลปะมาใช้ เป็นการเพิ่มมูลค่า ไม่มีลิมิต เป็นสุดยอดในเชิงธุรกิจ
ประธาน ธีระธาดา บรรณาธิการบริหารนิตยสาร art 4d ผู้สร้างปรากฏการณ์และประสบการณ์การเรียนรู้เรื่องออกแบบให้กับคนในสังคม เริ่มเล่าเรื่องราวจากประสบการณ์การทำหนังสือ Art 4 D ฉบับแรกในปี1995 ที่เน้นรูปใหญ่ ตัวหนังสือน้อยเข้ากับจริตของกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักออกแบบซึ่งชอบดูรูปมากกว่า และเน้นว่าตนเองมีความสุขที่ได้ทำหนังสือ เพราะเป็นโอกาสได้เจอพี่น้อง ได้เจอคนที่มีชื่อเสียงระดับโลก หรือแม้กระทั่งคนธรรมดา และวิทยากรหลายคนในเวทีนี้ก็เคยรู้จักคุ้นเคยกันดี งานออกแบบที่ดีไม่จำเป็นต้องเน้นความสวยงาม แต่ขอให้มีความหมาย บางอย่างไม่ใช่function อย่างเดียว มันเป็นสัญลักษณ์ด้วย
“ทุกวันนี้ สังคมคนเก่งรอด เลือกเกมส์ที่ถนัดกว่า แต่ถ้าไม่ถนัด ก็เรียนรู้ และทำมันให้ได้”
เจรมัย พิทักษ์วงศ์ บรรณาธิการอำนวยการกลุ่มนิตยสารบ้านและสวน ....การทำหนังสือ เกิดจากการตีโจทย์แบบ ดีไซเนอร์ด้วยมุมมองของนักธุรกิจ โดย Focus ไปที่กลุ่มเป้าหมายของหนังสือแต่ละเล่มต่างมีneed มีความอยากรู้ในสิ่งไม่รู้ การทำหนังสือเพื่อตอบสนองความต้องการความอยากรู้นั้นๆ ให้ข้อมูล สร้างความสุขให้กับลูกค้า นอกจากงานหนังสือแล้ว ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้าน Event การออกแบบด้วย และอยู่ระหว่างวางแผนจัดทำหนังสือสำหรับบ้านในภูมิภาคอาเซี่ยน ให้คนในภูมิภาคได้อ่านร่วมกันได้ เป็นไปตามกระแส AEC
“เราต้องหาตัวเองให้เจอ สินค้าประเทศไทยไม่ถูกเหมือนจีน ไม่แฟชั่นเหมือนอิตาลี หรือมีเทคโนเท่ากับญี่ปุ่น อย่าพยายามทำตัวเป็นคนอื่น สร้างมูลค่า สร้างแบรนด์ให้กับตัวเอง ทั้งการนำเสนอความคิดที่ละงานช่างฝีมือการก่อสร้าง”
เทวินทร์ วรรณะบำรุง ดีไซน์ไดเร็กเตอร์ ผู้อยู่เบื้องหลังงานออกแบบวัสดุก่อสร้างภายใต้แบรนด์คอตโต้และตราช้างในเครือบริษัท SCGผมอยู่ SCG มาตั้งแต่ในยุคที่ ทำอะไรก็ขายได้ มาถึงทำอะไรก็ขายไม่ได้ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ จนปัจจุบันยุคที่ต้องคิดว่าทำอะไรถึงขายได้ เราเล่นกับข้อมูล ให้การดีไซน์กับธุรกิจมาเจอกันได้อย่างไร เห็นความเคลื่อนไหวของโลก และคน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ปรุงแต่งเป็นเรื่องราววัตถุดิบ สีสัน ลวดลายที่เกิดขึ้น สิ่งไหนคือ ความชอบ และความเป็นตัวตนของลูกค้า
สิ่งสำคัญคือเรื่องข้อมูล เราผลิตและออกแบบให้กับลูกค้า ไม่ใช่ขายแค่วัสดุก่อสร้าง มีการทำ Care Book ประกอบกับวัสดุที่ขายนั้นดีไซน์ออกมาจากอะไร แม้จะทำของเหมือนกับคนอื่น แต่มีกลยุทธ์วิธีการอย่างไรที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่า มีเรื่องราวของ Crack da Code. บอกให้รู้ว่าเป็นแบบนี้ควรจะเลือกวัสดุแบบนี้ ซึ่งก็ตรง ลูกค้าก็พึงพอใจ เราทุ่มเท คาดหวัง ให้ลูกค้าได้ใช้ของดีๆ
วุฒิชัย หาญพานิช จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโททางด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์จากประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้เวลากว่าสิบปีอาศัยอยู่ต่างประเทศ ก่อนจะกลับมาริเริ่มสร้างธุรกิจของตนเองในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2542 ด้วยการผู้ผลิตสบู่ธรรมชาติระดับ High End รายแรกของประเทศไทย ภายใต้แบรนด์ Harnn
“ผมมองว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์ ก็ไม่ต่างจากงานออกแบบของสถาปัตย์ คือมีคอนเซ็ปต์ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ดีไซน์ร้านค้า มีคอนเซ็ปต์แทบทั้งนั้น ในขณะที่สถาปนิกจะมีสิ่งได้เปรียบคือจากมุมมองที่ไม่เหมือนคนอื่น เวลาทำธุรกิจควรทำในสิ่งที่เรามีความสุข เป็นการเปิดประตูสวรรค์ เรียนรู้จากประสบการณ์ ส่วนใหญ่คนไทยยังไม่มี ไม่ต้องกลัว มั่นใจว่าคนไทยเก่ง กว่าอีกหลายประเทศแน่นอน”
เอก ทองประเสริฐ ปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เกียรตินิยมอันดับ 2) สาขาแฟชั่นดีไซน์จากรอยัล อะคาเดมี ออฟ ไฟน์ อาร์ต อันท์เวิร์ป (Royal Academy of Fine Arts Antwerpen) Hogeschool Antwerpen Fashion Department ประเทศเบลเยียม ปริญญาโท สาขาแฟชั่นดีไซน์จาก Royal College of Fine Arts Antwerpen ประเทศเบลเยียม เจ้าของแบรนด์ EK Thongprasert
เกริ่นนำประสบการณ์ของตนเองในสถาบันด้านการออกแบบที่เบลเยี่ยม ซึ่งถือเป็นสถาบันที่ “หิน” ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก การเพาะบ่มจากสถาบันทำให้ตนเองและคนที่จบจากสถาบันนี้ต้องมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนของตัวเอง และถือเป็น Key สำคัญของคนที่เป็น Fashion Designer นอกจากนี้แล้ว การออกแบบทุกสาขามีอะไรที่เชื่อมโยงกัน เช่น การทำดนตรีคู่กับอาหาร เราจบดีไซน์ ไม่ใช่เสื้อผ้าอย่างเดียวด้วย ซึ่งเทียบกับอุตสาหกรรมเป็นอะไรที่ตรงข้ามกันอย่างมาก จริงๆแล้วจิวเวลรี่ส่วนใหญ่มาทางตะวันตก ปัจจุบันแบรนด์ของตนเองจึงเน้นการออกแบบจิวเวลรี่ไปทางเอเซียมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงบางอย่าง สิ่งที่ตามมาคือการรับรู้ใหม่ ในรูปแบบของแฟชั่นมากขึ้น
ยุทธนา อโนทัยสินทวี จบปริญญาตรี สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เจ้าของแบรนด์สินค้า “The Remaker” พิสูจน์ให้เห็นว่าคนที่ทำงานสร้างสรรค์ไม่จำเป็นจะต้องเรียนจบจากสาขาการออกแบบเสมอไป
งานออกแบบวัสดุสินค้าของ The Remaker เรียกว่า UP cycle. โดยเราเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ อาทิ เอาเสื้อผ้าเหลือใช้ เอามาทำเป็นสินค้า ป้ายไวนิลเอามาออกแบบเป็นกระเป๋า ส่งออกไปขายต่างประเทศ ทำแจกเด็กนักเรียนบ้าง หรือจากการใช้วัสดุเศษยางในรถ ต้องออกแบบให้สวยงามกระเป๋ามีหลายฟังก์ชั่น ยางรถบรรทุกใช้แล้วมีค่ามาก ทำเป็นถังขยะ หรือออกแบบเป็นแจกัน
“รีไซเคิลคือทางออกในอนาคต ทำไงให้เป็น Zero Waste ทดแทนธรรมชาติ ผมไม่ได้จบการออกแบบ แต่ยังสามารถสร้างสรรค์ทำได้ ผมคิดว่าคนเราต้องหาตัวตนของตัวเองให้เจอ เมื่อเจอแล้วก็ทำให้ออกมาให้ได้ "
ผศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าศูนย์ Scrap Lab และเจ้าของผลงานดีไซน์ผลิตภัณฑ์รีไซเคิล “OSISU”
การใช้ชีวิตในอยู่ในต่างประเทศ แม้จะมีแค่เรือใบ กับจักรยานเพียงหนึ่งคัน ไม่ได้ฟุ่มเฟือยในชีวิต แต่อาจารย์สิงห์ กับรำพึงถึงสิ่งที่ตนสามารถทำอะไรได้บ้างสำหรับอนาคตของโลกใบนี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเดินทางกลับมาเมืองไทย เริ่มต้นแนวคิดนี้จากการออกแบบอาคารที่มุ้งเน้นการใช้วัสดุเก่า เศษวัสดุมาประกอบอาคาร เพื่อประหยัดพลังงานในกระบวนการผลิต
ต่อมาได้เริ่มออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้วัสดุเหลือใช้ เป็นที่สนใจของคนหมู่มาก ภาคธุรกิจ หน่วยงานต่างๆติดต่อเข้ามาให้ช่วยออกแบบมากมาย อาทิ สตาร์บัค ใช้กากกาแฟทำเฟอร์นิเจอร์ จนปัจจุบันเริ่มขยายวงสู่การศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของวัสดุเหลือใช้ในวงการก่อสร้างมากขึ้น เพื่อคืนชีวิตให้กับเศษวัสดุเหล่านี้หรือ Upcycling
“ชีวิตหลักๆของผมคือนักวิชาการ ไม่ได้นักธุรกิจแท้ เป็นธุรกิจได้เพราะเกิดโดยอุบัติเหตุ ประเทศไทยแม้จะเล็ก แต่ใหญ่ในเลือกของโอกาสการออกแบบกลุ่มสินค้าประเภทนี้ การหาทางเลือกให้เจอ และสร้างสรรค์ให้สำเร็จ” จะมีโอกาสอีกมาก
รัฐ เปลี่ยนสุข design director ของแบรนด์ “Phato” เป็นนักสถาปัตย์ ไปสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์ จากงานInterior มาออกแบบผลิตภัณฑ์ เก็บเศษไม้มาทำ โครงสร้างธรรมชาติ งานขัดไม้ งานสานไม้สักงานการออกแบบไม่ใช่จบแค่ออกแบบ ต้องมีการใช้งาน และความพึงพอใจของลูกค้าด้วย
ตัวอย่างความสำเร็จ ไม่ใช่เพียงแค่นั่งเฉยและรอโอกาส การริเริ่มสร้างสรรค์ การหมั่นสร้างแรงบันดาลใจให้กับตนเองและธุรกิจอยู่เสมอ พร้อมกับการลงมือทำ จึงเปรียบเสมือนการพรวนดินใส่ปุ๋ยให้ธุรกิจมั่นคงออกดอกผลแผ่กิ่งก้านสาขาที่งดงามประสบความสำเร็จดังวิทยากรทุกท่าน