กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--นานมี
นับเป็นโอกาสอันดีที่คนรักศิลปะและประชาชนทั่วไปจะได้มีโอกาสชื่นชมผลงานศิลปะระดับบรมครูของไทย ศาสตราจารย์พิเศษ อารี สุทธิพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ในงานจัดแสดงนิทรรศการศิลปะ “The Path of Leisure Art Neo Drawing & Painting …เส้นทางตามอัธยาศัย: นวการลากและระบาย” ซึ่งได้รวบรวมผลงานกว่าร้อยภาพ ทั้งของ อ.อารี และของลูกศิษย์อีก 5 ท่าน (ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นอาจารย์สอนศิลปะตามสถาบันและมหาวิทยาลัยต่างๆ) อาทิ พิบูลย์ มังกร , ธวิท วงษ์พลาย ,มณเฑียร เรียบเรียง , วรพรรณ ภูวิจารย์ , อัสนี ทัศนเรืองรอง และ ปราโมทย์ กิจจำนงค์พันธุ์ โดยเน้นแนวคิดใหม่ “รูปและพื้น” ในการสร้างผลงาน แทนการใช้“แสงและเงา”ซึ่งเป็นแนวคิดแบบตะวันตกที่เผยแพร่มานานจนกลายเป็นทฤษฎีศิลปะต้นแบบในบ้านเรา และยังใช้การลากและระบายแบบไม่ใช่พู่กันในการสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ในครั้งนี้ด้วย
ครูอารีเล่าว่า “คนไทยเคยชินกับการทำงานศิลปะแบบแสงและเงาทั้งที่ในความจริงเป็นทฤษฎีของฝรั่ง ถ้าศิลปะไทยแท้จริง จิตรกรรมฝาผนังตามโบสถ์ตามวัดวาอาราม เป็นการทำงานศิลปะแบบรูปและพื้นทั้งนั้น ผลงานในครั้งนี้จึงใช้รูปต้นแบบเป็นรูปลายไทยพระนางของ อ.เป้า วัดพระทรง ศิลปินชาวจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งรูปต้นแบบไม่ใช่การวาดให้เหมือน แต่ศิลปินแต่ละคนได้ใช้ความรู้สึกและเทคนิคที่แตกต่างกัน โดยไม่ใช้พู่กันแต่เป็นการลากและระบายผ่านการปาด ลาก เกลี่ย ขูด และสีทับซ้อน ทำงานออกมาตามที่ใจบอก จึงเรียกว่าเป็นการทำงานบนเส้นทางตามอัธยาศัยนั่นเอง สำหรับสีที่ใช้ในครั้งนี้ก็มีความพิเศษ โดยปกติรูปไทยมักใช้สีโทนแม่สี หรือ เหลืองทอง แต่ครั้งนี้ได้นำสีพาสเทลมารังสรรค์ผลงาน โดยใช้สี “วิจิตรรงค์” สีที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงต้องการให้คนไทยทุกระดับ ได้มีสีสำหรับการสร้างสรรค์งานศิลปะที่มีคุณภาพดี ราคาย่อมเยา และผลิตโดยคนไทย โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานนาม คำว่า วิจิตร แปลว่า “งามประณีต” คำว่า รงค์ แปลว่า “สี” “วิจิตรรงค์” จึงเป็น “สีอันงามประณีต” ผลงานทั้งหมดจึงดูแปลกตาและสวยงามคงคุณค่าความเป็นไทยในรูปแบบร่วมสมัย