กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ฐานะการคลังภาคสาธารณะ (รัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ)ตามระบบสถิติเพื่อการศึกษาและวิเคราะห์นโยบายการคลัง (สศค. หรือ GFS)ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม – ธันวาคม 2556)
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกระทรวงการคลัง แถลงฐานะการคลังภาคสาธารณะตามระบบ สศค. (รัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และรัฐวิสาหกิจ) สำหรับไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม – ธันวาคม 2556) ว่า “การคลังภาคสาธารณะยังเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไปได้” โดยมีรายได้ 1,840,059 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 31,432 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.7 เป็นผลจาก อปท. และรัฐวิสาหกิจมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ สำหรับผลการเบิกจ่ายมีทั้งสิ้น 2,178,212 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 66,381 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.1 โดยเป็นผลจากรัฐบาลเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ในขณะที่รัฐวิสาหกิจมีการเบิกจ่ายลดลง 8,879 ล้านบาท จากรายได้และรายจ่ายดังกล่าวส่งผลให้ดุลการคลังภาคสาธารณะขาดดุล 338,153 ล้านบาท โดยขาดดุลเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 34,949 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.5 สำหรับดุลการคลังเบื้องต้นของภาคสาธารณะ (Primary Balance) ซึ่งเป็นดุลการคลังที่สะท้อนถึงผลการดําเนินงานและทิศทางของนโยบายการคลังอย่างแท้จริง (ไม่รวมรายได้ รายจ่ายจากดอกเบี้ย) ขาดดุล 283,941 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 2.3 ของ GDP)
นายสมชัยฯ สรุปว่า “การขาดดุลการคลังของภาคสาธารณะในช่วงที่ผ่านมาเป็นไปตามนโยบายการคลังของรัฐบาลที่จัดทำงบประมาณแบบขาดดุล เพื่อขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่องในสภาวะความอ่อนไหวด้านการเมืองที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทย”
ฐานะการคลังภาคสาธารณะ (รัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ)
ตามระบบสถิติเพื่อการศึกษาและวิเคราะห์นโยบายการคลัง (สศค. หรือ GFS)
ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม – ธันวาคม 2556)
ฐานะการคลังภาคสาธารณะในไตรมาสแรก ของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม - ธันวาคม 2556) มีรายได้ 1,840,059 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 31,432 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.7 เป็นผลจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีรายได้จากเงินอุดหนุนเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ สำหรับผลการเบิกจ่ายมีทั้งสิ้น 2,178,212 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 66,381 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.1 โดยเป็นผลจากรัฐบาลเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ส่งผลให้ดุลการคลังภาคสาธารณะขาดดุล 338,153 ล้านบาท ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 34,949 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.5 ในขณะที่ดุลการคลังเบื้องต้นของภาคสาธารณะ (Primary Balance) ซึ่งเป็นดุลการคลังที่สะท้อนถึงผลการดําเนินงานและทิศทางของนโยบายการคลังอย่างแท้จริง (ไม่รวมรายได้ รายจ่ายจากดอกเบี้ย) ขาดดุล 283,941 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 2.3 ของ GDP)
1.1 ฐานะการคลังรัฐบาล รัฐบาลมีรายได้รวม 636,104 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 52,585 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.6 ประกอบด้วยรายได้รัฐบาล 519,075 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 460 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.1 สำหรับรายได้ของกองทุนนอกงบประมาณมีจำนวน 117,029 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 52,125 ล้านบาท หรือร้อยละ 30.8 เนื่องจากในปีงบประมาณ 2557 กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองได้รับเงินอุดหนุนลดลง
ด้านรายจ่ายมีจำนวนทั้งสิ้น 1,003,381 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 47,316 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.9 ประกอบด้วยรายจ่ายรัฐบาล 831,659 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 55,411 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักจากการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในไตรมาสแรกยังมีรายจ่ายที่สำคัญ คือ รายจ่ายเพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ 2,336 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายของโครงการขนาดเล็ก เช่น การก่อสร้างคันกั้นน้ำ การขุดลอกคูคลอง เป็นต้น และเป็นการเบิกจ่ายของกรมทางหลวงชนบทสูงถึง 1,126 ล้านบาท รายจ่ายจากเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) 2,074 ล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายสำหรับโครงการจัดหาระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ระยะที่ 5 ของกรมศุลกากร 1,069 ล้านบาท รายจ่ายตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง (TKK) 578 ล้านบาท และรายจ่ายเงินกู้ต่างประเทศ 294 ล้านบาท สำหรับกองทุนนอกงบประมาณมีรายจ่าย 166,440 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 5,501 ล้านบาท สาเหตุหลักเป็นผลจากกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองได้ดำเนินการจัดเตรียมความพร้อมให้กับหมู่บ้านเกือบครบจำนวนแล้ว จึงทำให้มีรายจ่ายการดำเนินงานลดลง 6,853 ล้านบาท
ดุลการคลังของรัฐบาลในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2557 ขาดดุล 367,277 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 2.9 ของ GDP) ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 99,901 ล้านบาท หรือร้อยละ 37.4
1.2 ฐานะการคลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อปท. จำนวน 7,853 แห่ง มีรายได้ 191,611 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 52,243 ล้านบาท หรือร้อยละ 37.5 มีสาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากเงินอุดหนุนเป็นสำคัญ โดยเพิ่มถึง 51,658 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 56.1 ในขณะที่รายได้ที่ อปท. จัดเก็บเอง และรายได้จากการจัดสรรภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บและแบ่งให้ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปีก่อน ในด้านรายจ่ายคาดว่า อปท. มีรายจ่ายรวม 120,136 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 17,728 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.3 จากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว ส่งผลให้ดุลการคลัง อปท. เกินดุล 71,475 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.6 ของ GDP) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 34,515 ล้านบาท หรือร้อยละ 93.4
1.3 ฐานะการคลังรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน มีรายได้จำนวน 1,216,106 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 21,558 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.8 และมีรายจ่ายรวม 1,258,457 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 8,879 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.7 ทั้งนี้ มีรายจ่ายลงทุนที่สำคัญคือ โครงการจัดหาเครื่องบินของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 15,346 ล้านบาท จากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว ส่งผลให้ดุลการคลังของรัฐวิสาหกิจตามระบบ สศค. ขาดดุลทั้งสิ้น 42,351 ล้านบาท ขาดดุลลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 30,437 ล้านบาท หรือร้อยละ 41.8