กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--JC&CO PUBLIC RELATIONS
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) มองเห็นศักยภาพของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวที่ใหญ่ที่สุดและดีที่สุดของไทย จึงมุ่งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ภาคอีสาน ให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ข้าวด้วยการปลูกข้าวอินทรีย์ ซึ่งมีการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกข้าวอินทรีย์จาก 4 จังหวัดในภาคอีสาน ได้แก่ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ เป็นกลุ่มเครือข่ายข้าวอินทรีย์ร้อยแก่นสารสินธุ์ โดยสร้างความรู้ ความเข้าใจในการผลิตข้าวอินทรีย์แก่สมาชิกฯ หวังนำข้าวไทยสู่ข้าวคุณภาพระดับโลก นอกจากนี้ ภาคอีสานยังมีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงอาเซียน โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยสูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และยังเป็นจุดเชื่อมแนวระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) รวมทั้ง ยังเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าของไทยสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เป็นศูนย์กลางทางการศึกษาและเทคโนโลยีของภูมิภาค และที่สำคัญเป็นที่ตั้งกงสุลใหญ่ของจีน ลาว และเวียดนาม ทำให้มีโอกาสพัฒนาสู่ศูนย์กลางการค้าในอาเซียนในอนาคต จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนให้พร้อมในการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภาคอีสานและอาเซียนเมื่อก้าวสู่ AEC ดังนั้น กสอ. จึงได้จัดฝึกอบรมเรื่อง “การสร้างความรู้ความเข้าใจ ด้านการผลิตข้าวอินทรีย์” และการสัมมนาเรื่อง “กลยุทธ์การตลาดรุกและรับ AEC” รวมทั้งการจัดนิทรรศการและจำหน่ายสินค้าในงาน “ตลาดนัดสินค้าหัตถ-อุตสาหกรรมอีสาน” โดยคาดว่าจะสามารถสร้างความรู้แก่ SMEs และวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง ได้มีความรู้ ความสามารถในการวิเคราะห์โอกาส อุปสรรค จุดอ่อนและจุดแข็ง ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในระบบเศรษฐกิจ AEC นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจในกลยุทธ์การตลาดทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ ตลอดจนเป็นการสร้างช่องทางการตลาดและกระจายรายได้สู่วิสาหกิจชุมชน
ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปที่ต้องการเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของกรมฯ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4414-8 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ศักยภาพภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากจะเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงในภาคอุตสาหกรรมแล้ว ยังจะเป็นแหล่งอุตสาหกรรมเกษตรที่สำคัญของประเทศโดยเฉพาะข้าว เนื่องจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแหล่ง ปลูกข้าวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และเป็นดินแดนที่ปลูกข้าวที่ดีที่สุดในโลก โดยมีสัดส่วนการผลิตข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็นร้อยละ 36 ของการผลิตข้าวทั้งประเทศ (สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย) โดยในปี 2555 ไทยส่งออกข้าว 6.9 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 4,632.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อนที่ส่งออกได้มูลค่า 6,040 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ที่มา : สํานักงานเศรษฐกิจการเกษตร,2555) ซึ่งข้าวของไทย ส่วนใหญ่เป็นข้าวคุณภาพดีจึงมีต้นทุนการผลิตสูง ทำให้ราคาส่งออกข้าวไทยสูงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม นอกจากการผลิตข้าวเพื่อการบริโภคแล้ว การนำข้าวไทยไปสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น เช่น ผลิตภัณฑ์สปาและเครื่องสำอาง ฯลฯ ยังมีแนวโน้มความต้องการค่อนข้างมาก โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจำเป็นจะต้องใช้ข้าวอินทรีย์มาเป็นส่วนประกอบหลักในการแปรรูป ซึ่งจะสามารถสร้างความมั่นใจในคุณภาพให้กับผู้บริโภค ดังนั้น ภาครัฐจึงควรหันมาให้การส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการผลิตข้าวอินทรีย์ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการรวมตัวของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ ใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ เป็นกลุ่ม “เครือข่ายข้าวอินทรีย์ร้อยแก่นสารสินธุ์” ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มในการสร้างศักยภาพตลาดสินค้ามาตรฐานคุณภาพเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ภาคอีสาน
ทั้งนี้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการผลิตข้าวอินทรีย์ให้แก่วิสาหกิจชุมชน พบว่าผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนยังคงมีปัญหาในการดำเนินกิจการ ได้แก่
- ขาดแคลนเงินทุนในการผลิต แปรรูป และจัดจำหน่าย เป็นต้น
- ขาดความรู้ความเข้าใจในการปลูกข้าวอินทรีย์ให้มีมาตรฐาน
- ขาดแคลนเครื่องมือเครื่องใช้ในการแปรรูปข้าว เช่น อุปกรณ์ทำข้าวฮางงอก เครื่องคัดเมล็ด เครื่องบดข้าว และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดึงดูดลูกค้า ฯลฯ
- ขาดการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานราชการ เพราะขั้นตอนปฏิบัติมาก
- ปัญหาด้านแรงงาน เช่น คุณภาพแรงงาน แรงงานไม่มีคุณภาพ ค่าจ้างสูง เป็นต้น
- ขาดแคลนช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าแบบถาวร
- ไม่มีโรงสีข้าวที่ได้มาตรฐานของชุมชน
นายกอบชัยกล่าวต่อว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง เนื่องจากมีความได้เปรียบเรื่องที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ มีศักยภาพที่เหมาะสมในการเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงอาเซียน โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่น ซึ่งตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีประชากรราว 1.8 ล้านคน มีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยสูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และยังเป็นจุดเชื่อมแนวระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก - ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) รวมทั้งยังเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าของไทย-จีน-เมียนมาร์ และลาว ออกสู่ประเทศเวียดนาม มีระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ครบครัน และที่สำคัญยังเป็นจังหวัดศูนย์กลางทางการศึกษาและเทคโนโลยีของภูมิภาค จึงถือเป็นเมืองหลวงทางเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและมีโอกาสพัฒนาสู่ศูนย์กลางการค้าในอาเซียนในอนาคต
จังหวัดขอนแก่น มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วน ร้อยละ 30.9 ภาคการเกษตรร้อยละ 13.7 ภาคการค้าส่งและค้าปลีกร้อยละ 11.0 ภาคบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ ร้อยละ 9.7 และภาคการศึกษาร้อยละ 8.7 มีมูลค่าผลิตภัณฑ์ มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product : GPP) กว่า 1.65 แสนล้านบาท (ที่มา : ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดขอนแก่น ปี 2554) ซึ่งมีศักยภาพพร้อมรองรับการลงทุนด้วยเหตุนี้ จังหวัดขอนแก่น จึงเป็นศูนย์กลางในการทำการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติมองเห็นศักยภาพในการลงทุนในอนาคต จึงมีนักลงทุนเคลื่อนย้ายเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้มีสถานกงสุลใหญ่จาก3 ประเทศ ตั้งในจังหวัดขอนแก่น ได้แก่ กงสุลใหญ่จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ลาว และเวียดนาม ยิ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางด้านการลงทุนอย่างเห็นได้ชัด
ด้านนายวุฒิ มณีโชติ ประธานบริษัท เพิ่มพูนพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด และที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่าบริษัทเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสำลีและคัตเติ้ลบัด โดยเลือกจังหวัดขอนแก่นเป็นที่ตั้งโรงงาน เนื่องจากเป็นจังหวัดศูนย์กลางของอีสาน มีการขนส่งที่สะดวก มีระบบอำนวยความสะดวกครบครันและไม่ไกลจากกรุงเทพ ฯ มากนัก ขณะเดียวกันก็ใกล้กับเขตชายแดน จึงสะดวกในด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ โดยแต่เดิมบริษัทมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 80 และส่งออกไปยังต่างประเทศ ร้อยละ 20 แต่เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมองเห็นโอกาสในการเข้าสู่ AEC จึงขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ทำให้มีการเพิ่มสัดส่วน การส่งออกไปยังต่างประเทศเป็นร้อยละ 50 และขายในประเทศเหลือเพียงร้อยละ 50 โดยประเทศที่ส่งออกสูงสุด ได้แก่ ฟิลิปปินส์ รองลงมาคือ มาเลเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน และเมียนมาร์ ตามลำดับ ปัจจุบันบริษัทมียอดขายกว่า 500 ล้านบาทต่อปีสำหรับก้าวต่อไปในการทำธุรกิจใน AEC บริษัทเน้นการทำ Business Matching และสร้างพันธมิตรในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะกับประเทศเมียนมาร์ ที่มองว่าการทำ Matching คุ้มค่ากว่าการลงทุนเปิดโรงงานในต่างประเทศ ซึ่งต้องคำนึงถึงกฏเกณฑ์ ข้อจำกัดหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นประเพณี วัฒนธรรม กฎหมาย และระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ จึงเลือกทำธุรกิจโดยการให้ผู้ประกอบการเมียนมาร์ผลิตโดยใช้วัตถุดิบจากประเทศเรา และส่งกลับมาขายที่ประเทศไทย เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำของพม่าถูกกว่าค่าแรงไทยกว่า 3 เท่า โดยค่าแรงพม่าประมาณ 1,500 บาท ต่อคน ต่อเดือน ในขณะที่ค่าแรงไทยอยู่ที่ 6 – 7 พันบาท ต่อคน ต่อเดือน
ทั้งนี้ การเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค นอกจากจะช่วยเสริมสร้างความสามารถของประเทศภายในกลุ่มแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสทางด้านการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาคให้กว้างขวางยิ่งขึ้น หลายปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอาเซียนเฉลี่ยอยู่ประมาณ ร้อยละ 5 ซึ่งถือว่ามีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน คือ ประเทศจีน (เป็นหนึ่งในประเทศอาเซียน +3) เป็นประเทศ ที่มีประชากรกว่า 1.36 พันล้านคน เป็นประเทศคู่เจรจากับอาเซียนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 และมีการพัฒนาความสัมพันธ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี ค.ศ. 2012 การค้าจีนกับอาเซียนมีมูลค่าสูงถึง 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่า ปี 2015 จะสามารถเพิ่มมูลค่าการค้าเป็นเป็น 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ นายกอบชัยกล่าวสรุป
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 จึงมุ่งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบ SMEs และวิสาหกิจชุมชน เพื่อเตรียมพร้อมสู่ตลาด AEC โดยจัดฝึกอบรม เรื่อง “การสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการผลิตข้าวอินทรีย์” เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในการผลิตข้าวอินทรีย์ เพื่อหวังสร้างมูลค่าเพิ่มให้ข้าวไทยสู่ระดับโลกและการสัมมนาเรื่อง “กลยุทธ์การตลาดรุก-และรับ AEC” เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนสามารถวิเคราะห์โอกาส อุปสรรค และปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในระบบเศรษฐกิจ AEC และรู้จักปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรรมงาน
นิทรรศการและจำหน่ายสินค้า “ตลาดนัดสินค้าหัตถ-อุตสาหกรรมอีสาน” ซึ่งจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมและอุตสาหกรรม 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสินค้าธงฟ้าราคาถูก กลุ่มสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) กลุ่มสินค้าผู้ใช้บริการเงินทุนหมุนเวียน และกลุ่มสินค้าผู้ประกอบการ SMEs รวมกว่า 70 คูหา เพื่อเป็นการสร้างช่องทางการตลาดและกระจายรายได้สู่วิสาหกิจชุมชน โดยกิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปที่ต้องการเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของกรมฯ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4414 – 18 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th
สถานการณ์การส่งออกข้าวในระดับโลก ปี 2555
อินเดียส่งออกข้าวสู่ต่างประเทศมากที่สุด 10.25 ล้านตัน รองลงมา คือ เวียดนาม 7.7 ล้านตัน (สัดส่วนร้อยละ 20.3)
ไทย 6.9 ล้านตัน (สัดส่วนร้อยละ 18.0) ปากีสถาน 3.5 ล้านตัน (สัดส่วนร้อยละ 8.6) และสหรัฐฯ 3.3 ล้านตัน (สัดส่วนร้อยละ 8.5) ตามลําดับ (ที่มา: Grain: World Market and Trade, USDA, 2013)
ประเทศผู้ผลิตข้าวสำคัญของโลก
ประเทศจีน ผลิตข้าวมากเป็นอันดับ 1 ของโลก คือ ผลิตได้ 140.7 ล้านตัน รองลงมากคือ อินเดีย 104.3 ล้านตัน อินโดนีเซีย 36.5 ล้านตัน บังคลาเทศ 34.0 ล้านตัน เวียดนาม 26.7 ล้านตัน ไทย 20.5 ล้านตัน และอื่น ๆ 102.3 ล้านตัน รวม 465.0 ล้านตัน (ที่มา: Grain: World Market and Trade, USDA, 2013)
การส่งออกข้าวไทยในอาเซียน
ประเทศอินโดนีเซีย นำเข้าข้าวไทย 337,711 ล้านตัน รองลงมาคือ สิงคโปร์ 127,706 ล้านตัน มาเลเซีย 70,768 ล้านตัน บรูไน 40,026 ล้านตัน ลาว คือ 11,240 ล้านตัน ฟิลิปปินส์ 3,323 ล้านตัน กัมพูชา 7,222 ล้านตัน เวียดนาม 4,104 ล้านตัน เมียนมาร์ 1,065 ล้านตัน