กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--ปภ
ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมขับเคลื่อนการป้องกันและ ลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2557 โดยดำเนินการตามมาตรการสำคัญ 5 ด้าน ควบคู่กับมาตรการเน้นหนัก 6 ด้าน ปฏิบัติการสร้างความปลอดภัยทางถนนช่วงควบคุมเข้มข้นระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2557 ภายใต้แนวคิด “ร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย สงกรานต์ทั่วไทยไร้อุบัติเหตุ” เพื่อให้ถนนทุกสายเป็นเส้นทางแห่งความปลอดภัยและทุกชีวิตบนท้องถนนปลอดภัย
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงที่มีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าปกติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) จึงได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานระดับกระทรวง จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเตรียมความพร้อมขับเคลื่อนการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2557 เพื่อปฏิบัติการสร้างความปลอดภัยทางถนนช่วงควบคุมเข้มข้นระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2557 ภายใต้แนวคิด “ร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย สงกรานต์ทั่วไทย ไร้อุบัติเหตุ” โดยดำเนินการตามมาตรการสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่
1) ด้านบริหารจัดการ จัดตั้งศูนย์กลางเชื่อมโยงการสั่งการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนระหว่างส่วนกลางและระดับพื้นที่
2) ด้านถนนและการสัญจรอย่างปลอดภัย เร่งปรับปรุง ซ่อมแซมจุดเสี่ยง จุดอันตรายบนถนน เน้นการบริหารจัดการจราจรและอำนวยความสะดวกในการเดินทาง
3) ด้านยานพาหนะปลอดภัย คุมเข้มมาตรฐานความปลอดภัยของยานพาหนะ โดยเฉพาะรถโดยสาร รถตู้โดยสาร เพื่อป้องกันอุบัติเหตุรุนแรง
4) ด้านผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย จัดตั้งจุดตรวจเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย ควบคู่กับการรณรงค์สร้างความปลอดภัยทางถนน
5) ด้านการตอบสนองหลังเกิดอุบัติเหตุ ประสานจัดแพทย์ พยาบาล ทีมกู้ชีพกู้ภัย พร้อมอุปกรณ์ให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัย ณ จุดเกิดเหตุ ในทันที
นอกจากการดำเนินมาตรการสำคัญ 5 ด้านแล้ว เพื่อให้การควบคุมปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2557 เข้มข้นและ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ศปถ.ได้กำหนดมาตรการเน้นหนัก 6 ด้านหลักให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจังหวัดดำเนินการควบคู่ไปด้วย ดังนี้
1) เน้นการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัดใน 10 มาตรการสำคัญที่เป็นพฤติกรรมเสี่ยงหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ทั้งการควบคุมความเร็ว การเมาแล้วขับ คุมเข้มรถจักรยานยนต์ รถโดยสารสาธารณะ รถกระบะที่บรรทุกผู้โดยสารเล่นน้ำสงกรานต์ ในลักษณะเสี่ยงอันตรายเป็นพิเศษ
2)การควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับขี่หรือโดยสารยานพาหนะ
3) การบังคับใช้กฎหมายการควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยกำหนดช่วงเวลา สถานที่ในการจำหน่าย รวมถึงช่วงอายุของผู้ซื้อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551
4) การกวดขันผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอันตรายและสภาพรถไม่ปลอดภัย 5)การจัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่ปลอดภัยและปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
6) จังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านให้กำหนดแนวทางดูแลความปลอดภัยทางถนนที่เหมาะสม เพื่อสร้างการสัญจรที่ปลอดภัย ให้ทุกเส้นทางเป็นถนนปลอดอุบัติเหตุและทุกชีวิตบนท้องถนนปลอดภัย