กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมากลุ่มสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดงาน “นิเทศศาสตร์กับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน”เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและต่อยอดผลงาน ในการเป็นนักนิเทศศาสตร์ที่ดีในยุค AEC ณ ห้องประชุมสุวพักตร์นิเวศน์ (5724) คณะวิทยาการจัดการรองศาสตราจารย์ธีระดา ภิญโญ รองอธิการบดีฝ่ายแผนงานและประกันคุณภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานและนิทรรศการ “นิเทศศาสตร์กับอาเซียน” พร้อมทั้งชี้แนะนโยบายของมหาวิทยาลัยฯ กับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 นี้ว่า “กลุ่มสาขาวิชานิเทศศาสตร์ถือเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งของมหาวิทยาลัยฯ ที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้นักศึกษามีศักยภาพในการปฏิบัติวิชาชีพมากขึ้น พร้อมรับมือการแข่งขันกับประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน”
ภายในงานร่วมเสวนาหัวข้อ “Go & Grow นิเทศศาสตร์ไทย ร่วมใจสู่ AEC” ถึงทิศทางของนิเทศศาสตร์ไทยกับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดร.สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า ประชาคมอาเซียนเชื่อมต่อกันด้วย 3 นัยยะ คือ การเชื่อมต่อทางกายภาพ การเชื่อมโยงของสถาบันการลงทุน และการเชื่อมโยงบุคคล People and people connectivity นิเทศศาสตร์จัดอยู่ในส่วนของ People and people connectivity ซึ่งทุกอย่างคือเรื่องที่ว่าด้วยการเตรียมตัวภายใต้กระบวนการคิดถึงความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมหลาย ๆ ประเทศที่ต่างกัน ด้วยพื้นฐานการเรียนรู้ของนักศึกษาที่ควรจะต้องออกไปศึกษา สิ่งเหล่านี้จากนอกห้องเรียน ในส่วนของการสร้าง Content ไม่ควรจำกัดคนดูแค่ในประเทศ ต้องเพิ่มภาษาเข้าไปจะทำให้การรับรู้ของคนกว้างมากขึ้นกว่ามหาศาล สามารถทำให้คนบ้านข้างบ้านเรือนเคียงของเรา ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก มารับรู้ได้ นั่นแปลว่าเรากระจายไปสักเท่าไร เรายิ่งต้องระมัดระวังเรื่องของ Content มากขึ้น เพราะเราต้องมีความรู้เพิ่มมากขึ้นด้วย
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ต้องบอกจริง ๆ ว่าเราอยู่ประชาคมอาเซียนมาก่อนแล้ว ตั้งแต่มีการรวมตัวการเป็นประชาคมอาเซียน เรามักเน้นเรื่องเศรษฐกิจแต่ไม่ค่อยพูดถึงเรื่องความมั่นคง เรื่องวัฒนธรรมและสังคม ในส่วนของสังคมและวัฒนธรรมเราสามารถสร้างเครือข่ายในสังคมออนไลน์ผ่านทาง Facebook ไปได้เลย อยากจะไปรู้จักเพื่อนที่ไหน ลาว กัมพูชา เขมร มาเลเซีย เริ่มเลยครับ “ค้นหา Facebook แนะนำตัวทำความรู้จักเรียนรู้กันนะครับ ปิดเทอมแทนที่เราจะไปเที่ยวธรรมดาที่อื่น ๆ เริ่มไปกันเลย ลุยไปเลยประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มใกล้ ๆ ก่อนก็ได้ ลาวนี่ก็ได้สามารถสื่อสารได้ หรือประเทศที่ไกลออกไปอีก สื่อสารด้วยภาษาอื่น ๆ มากขึ้น เพื่อที่จะทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน อันนี้จะช่วยได้ในเรื่องของทัศนคติ คือเราต้องไปเจอ”
ในมุมมองของการใช้ภาษาและการประกอบวิชาชีพ ดร.มานะได้กล่าวว่า “เราต้องสร้างสถานการณ์บังคับตัวเองให้ใช้ภาษาอื่น มนุษย์ของเราเป็นสัตว์ประเภทที่ต้องการเอาตัวรอดสูง ถึงในสถานการณ์จำเป็นคุณต้องสื่อสาร ต้องตัดเรื่องความกลัวออกไป ตอนนี้คนจากประเทศอื่นเข้ามาประเทศเรา โดยเฉพาะประเทศที่เค้าสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีกว่าเรา บางบริษัทอาจจะต้องการจ้างคนประเภทนี้ไว้ เพราะสื่อสารได้มากกว่า 1 ภาษา นอกจากบริษัท ห้างร้านที่ต้องคนมีทักษะทางด้านภาษาเยอะ ถ้าเกิดคุณเป็นเจ้าของกิจการ หรือเป็นผู้ประกอบการ การที่คุณรู้หลายภาษามากขึ้นแล้วคุณสามารถขายของมากขึ้น มันคือคุณเพิ่มตลาดให้คุณเอง” ในส่วนการเตรียมความพร้อมของนักศึกษานิเทศศาสตร์ ต้องถามตัวเองก่อนเรามีจุดด้อยตรงไหน ถ้าใครมีจุดด้อยเรื่องภาษาก็มีเวลาเรียนรู้พัฒนาเรื่องภาษา ถ้าจุดด้อยในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ก็สามารถจะเรียนรู้ได้การที่ออกไปเปิดโลกเปิดตาทำให้เห็นอะไรกว้างขึ้น อย่าอยู่เฉย สังคมออนไลน์ที่คุณเข้ากันอยู่ทุกวันนี้อย่าใช้เพื่อการเล่นระบายอารมณ์อย่างเดียว
คุณอรรณนพ หมั่นพูล ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และศิษย์เก่านิเทศศาสตร์สวนสุนันทา ชี้แนะให้นักศึกษาเดินหน้าการเรียนรู้เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานให้มากขึ้น พร้อมทั้งให้ข้อคิดเรื่องการฝึกงานว่า “ฝึกไปเถอะครับฝึกไปหลาย ๆ ที่เขาต้องการอยู่แล้ว ฝึกไปอย่างที่บอกผิดเท่าไหร่ก็ไม่เป็นไร พออยู่ในโลกความเป็นจริงเปลี่ยนงานบ่อย ๆ ไม่ใช่เรื่องดีนะคับ รู้ตัวเร็วก็เป็นสิ่งดีจะได้รู้ว่าเราชอบอะไร อยากให้ทุกคนถามตัวเองอีกอย่างหนึ่งอย่าโกหกตัวเองต้องรู้ว่าตัวเองชอบอะไรแล้วมุ่งมั่นกับสิ่งนั้น”
โครงการสัมมนาเชิงวิชาการสร้างความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและแสดงผลงานกลุ่มสาขาวิชานิเทศศาสตร์ “นิเทศศาสตร์กับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” จัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 27 – วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2557 เวลา 09.00 - 16.30 น.