กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: AFDM) ในระหว่างวันที่ 1-2 เมษายน 2557 ณ กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เปิดเผยผลของการประชุมว่า
“การรวมตัวในสาขาการเงินการคลังของประเทศอาเซียน 10 ประเทศเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) มีความเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่อาเซียนได้ดำเนินการตามแผนการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้ตามเป้าหมายในช่วงระหว่างปี 2552-2557 ไปแล้วถึงร้อยละ 72.2 ขณะที่ประเทศไทยได้ดำเนินการตามเป้าหมายในช่วงระยะเวลาเดียวกันได้สูงถึงร้อยละ 81.1 ซึ่งเป็นความคืบหน้าที่น่าพึงพอใจอย่างมาก”
สำหรับความคืบหน้าของความร่วมมือด้านการเงินการคลังของประเทศสมาชิกอาเซียน มีสาระสำคัญ
สรุปได้ดังนี้
1. ในด้านการรวมกลุ่มทางการเงิน
1.1 การเปิดเสรีบริการด้านการเงิน ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้เสร็จสิ้นการเจรจา
การเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินรอบที่ 6 ได้ตามแผน โดยคาดว่าจะลงนามในร่างพิธีสารอนุวัติ ข้อผูกพัน
การเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินรอบที่ 6 ในช่วงงานสัมมนานักลงทุนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน
ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557
1.2 การเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียน ภายหลังจากที่อาเซียนได้เริ่มดำเนินการเชื่อมโยง
การซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างตลาดหลักทรัพย์ (ASEAN Trading Link) ของไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เมื่อปลายปี 2555 แต่มูลค่าการซื้อขายระหว่างกันยังอยู่ในระดับที่ต่ำ เนื่องจากนักลงทุนขาดความรู้ความเข้าใจในหลักทรัพย์ต่างชาติ และปัญหาอุปสรรคด้านกฎระเบียบการชำระราคาในบางประเทศ ดังนั้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายหลักทรัพย์ข้ามประเทศและเป็นการสนับสนุนให้มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มมากขึ้น การประชุม AFDM ในรอบนี้ได้พิจารณาสนับสนุนระบบการเชื่อมโยงการดำเนินการหลังการซื้อขายหลักทรัพย์อาเซียน ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมโยงของระบบการโอน การชำระราคา และการรับฝากหลักทรัพย์ )Clearing, Settlement and Depository) เพื่อรองรับระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ อาเซียนยังมีความคืบหน้าในการจัดทำบันทึกความเข้าใจในการกำหนดแนวทาง
การยอมรับมาตรฐานหน่วยลงทุนซึ่งกันและกันระหว่างไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เพื่อส่งเสริมการเสนอขายกองทุนรวมข้ามประเทศในอาเซียน ซึ่งจะเปิดให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) ในประเทศที่ร่วมมือกันสามารถ
นำหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ได้รับการอนุญาตแล้วในประเทศของตนไปเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไปในประเทศภาคีได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น
ทั้งนี้ นายเอกนิติฯ ได้เน้นย้ำในการประชุมนี้ว่าอาเซียนควรเร่งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่กลุ่มนักลงทุนประเภทสถาบันและประชาชนทั่วไป เพื่อสร้างอุปสงค์ให้กับการซื้อขายหลักทรัพย์ข้ามพรมแดนดังกล่าวด้วย
1.3 เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการจัดตั้งเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูล
ในการดำเนินมาตรการและกลไกการปกป้องเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย
ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต
2. ในด้านการรวมกลุ่มทางการคลัง
2.1 ความร่วมมือด้านภาษี ที่ประชุมได้หารือแนวทางการประสานนโยบาย และความโปร่งใส
ในด้านภาษีอากรระหว่างประเทศสมาชิก โดยได้เน้นให้สมาชิกอาเซียนที่ยังไม่จัดทำความตกลงว่าด้วยการเว้น
การเก็บภาษีซ้อนดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว นอกจากนี้ นายเอกนิติฯ ได้สนับสนุนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนโยบายภาษีระหว่างกัน เพื่อสนับสนุนการค้าขายและการลงทุนในภูมิภาค และลดการแข่งขันกันลดภาษี ซึ่งในที่สุดจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์และความยั่งยืนกับประเทศสมาชิกอาเซียนในระยะยาว
2.2 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าของกองทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Infrastructure Fund) ที่ได้เริ่มปล่อยกู้โครงการแรกให้กับโครงสร้างพื้นฐานในประเทศอินโดนีเซีย โดยนายเอกนิติฯ ได้ร่วมกับผู้แทนกระทรวงการคลังของอาเซียน กระตุ้นให้ผู้จัดการกองทุนฯ หาแนวทางลดอัตราดอกเบี้ยที่คิดกับผู้กู้ยืมไปใช้ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศอาเซียนอื่นๆ รวมทั้งพิจารณาแนวทางการปล่อยกู้ให้ภาคเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจนอกเหนือจากการปล่อยกู้โดยตรงให้รัฐบาลประเทศสมาชิก เพื่อให้กองทุนฯ มีกิจกรรมในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น
2.3 การจัดสัมมนารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนพบนักลงทุน ที่ประชุมได้อนุมัติให้ประเทศฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนานักลงทุนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Minister’s Investor Seminar: AFMIS) ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ก่อนหน้า
การประชุม World Economic Forum on East Asia เพื่อประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าการรวมตัวของอาเซียน รวมทั้งนำเสนอจุดแข็งของอาเซียน เพื่อจูงใจให้นักลงทุนในภูมิภาคและทั่วโลกมองอาเซียนในรูปแบบภูมิภาค
ที่เป็นเป้าหมายการลงทุนมากกว่าการมองเป็นรายประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มการลงทุนสาขาต่างๆ ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน การสัมมนาที่จะจัดขึ้นนี้เป็นโอกาสอันดีที่นักลงทุนในภูมิภาคและทั่วโลกได้พบปะและซักถามในประเด็นนโยบายโดยตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน
2.4 การสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนฐานรากและการเผยแพร่ความรู้ทางการเงิน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนฐานราก โดยที่ประชุมได้สนับสนุนข้อเสนอของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์
ที่เสนอจัดการสัมมนาระหว่างประเทศด้านในปี 2557 ในหัวข้อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับประชาชนในอาเซียน
ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคธนาคารได้ในภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียนข้างต้นจะนำไปเสนอในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Minister's Meeting) ครั้งที่ 18 ในวันที่
5 เมษายน 2557 ต่อไป