การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Thursday April 3, 2014 15:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--กระทรวงการคลัง นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัท Japan Credit Rating Agency, Ltd. (JCR) เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2557 ว่า JCR ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Long-Term Senior Debts) ที่ระดับ A- และอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาท (Local Currency Long-Term Senior Debts) ที่ระดับ A อย่างไรก็ดี ได้มีการปรับแนวโน้มความน่าเชื่อถือเป็นลบ (Negative Outlook) สรุปได้ดังตารางที่ 1 ตารางที่ 1 ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดย JCR ณ วันที่ 2 เมษายน 2557 อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยJCR สถานะ Outlook อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ A- StableèNegative Foreign Currency Long-Term Senior Debts Rating อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาท A StableèNegative Local Currency Long-Term Senior Debts Ratings JCR ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือครั้งนี้ ดังนี้ 1. เศรษฐกิจไทยได้เผชิญกับความวุ่นวายทางการเมืองที่ยืดเยื้อ โดยได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองในไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 หลังจากที่ชะลอตัวลงเนื่องจากการหดตัวของอุปสงค์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ จนทำให้อัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงลดลงอย่างเห็นได้ชัดมาอยู่ที่ร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.9 ในปี 2556 จากร้อยละ 6.5 ในปี 2555 ทั้งนี้ JCR เห็นว่า สถานะทางการคลังที่แข็งแกร่งโดยเปรียบเทียบของรัฐบาล ระบบธนาคารที่มีเสถียรภาพ และดุลภาคต่างประเทศที่เข้มแข็งโดยเปรียบเทียบ ทำให้ประเทศไทยแทบไม่มีโอกาสที่จะก้าวเข้าสู่วิกฤตการณ์ทางการเงินหรือวิกฤตการณ์สภาพคล่องที่เป็นเงินตราต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ความวุ่นวายทางการเมืองที่ยืดเยื้ออาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต นอกจากนี้ หากวิกฤตการณ์ทางการเมืองยังคงยืดเยื้อต่อไปในภาวะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงติดลบ อาจทำให้เกิดการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศอันเป็นผลจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐลดปริมาณการซื้อสินทรัพย์ลงและส่งผลให้ดุลการชำระเงินขาดดุลได้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้สถานะสภาพคล่องที่เป็นเงินตราต่างประเทศอ่อนแอลง นอกจากนี้ มีแนวโน้มว่า การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจซึ่งรวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตจะล่าช้าออกไปเนื่องจากผลกระทบของวิกฤตการณ์ทางการเมือง เมื่อ JCR นำสถานการณ์ดังกล่าวมาประกอบการพิจารณา จึงตัดสินใจปรับแนวโน้มความน่าเชื่อถือจากที่มีเสถียรภาพมาเป็นลบ โดย JCR จะเฝ้าติดตามพัฒนาการในอนาคตของสถานการณ์ทางการเมือง รวมทั้งผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ และจะดำเนินการเกี่ยวกับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยตามความเหมาะสมและจำเป็นต่อไป หากข้อกังวลดังกล่าวข้างต้นกลายเป็นจริง 2. ในด้านสถานการณ์ทางการเมือง กลุ่มผู้ชุมนุมได้เริ่มการชุมนุมประท้วงเพื่อต่อต้านรัฐบาล ในเขตกรุงเทพมหานครเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2556 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่กลุ่มผู้ชุมนุมเห็นว่าอาจเปิดช่องทางให้อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร กลับเข้ามายังประเทศได้ ซึ่งต่อมาหลังจากที่วุฒิสภาถอนร่างพระราชบัญญัติฯ แล้ว ผู้ชุมนุมได้เปลี่ยนจุดมุ่งหมายมาเป็นการขับไล่รัฐบาลและดำเนินการชุมนุมบนท้องถนนอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ตัดสินใจยุบสภาเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งโดยผลักดันให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี การลงคะแนนเสียงในหลายหน่วยเลือกตั้งไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากถูกกลุ่มผู้ชุมนุมปิดล้อม และต่อมาเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้การเลือกตั้งทั่วไปดังกล่าวเป็นโมฆะ เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะต้องดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศภายในวันเดียวกัน ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ชุมนุมยังคงเดินขบวนประท้วงอย่างต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องให้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ผ่านการตั้งสภาประชาชนแทนการเลือกตั้งทั่วไป โดยกลุ่มผู้ชุมนุมยุติการปิดกรุงเทพฯ ไปเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2557 หลังจากที่เริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2557 เพื่อลดระดับการเคลื่อนไหวของการชุมนุม โดยที่การชุมนุมยังคงดำเนินต่อไป ทำให้ไม่มีความชัดเจนว่าวิกฤตการณ์ทางการเมืองจะได้รับการแก้ไขอย่างไร ทั้งนี้ ความไม่สงบทางการเมืองและสังคมในประเทศไทยเกิดจากปัญหาที่หยั่งรากลึกและซับซ้อนที่บางส่วนเป็นผลมาจาก (1) ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคและระหว่างชนบทกับเขตเมืองที่เป็นผลพวงจากการพัฒนาเศรษฐกิจ และ (2) การช่วงชิงระหว่างกลุ่มอำนาจเกิดใหม่ที่มีอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณฯ เป็นศูนย์กลางและกลุ่มอำนาจเก่า ซึ่งเป็นไปได้ยากที่จะหาวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าว 3. ในปี 2556 การเกินดุลการค้าของประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำเช่นเดียวกับปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยหลัก คือ การชะลอตัวของภาคการส่งออก อาทิ ชิ้นส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและสินค้าการเกษตรและการประมง ซึ่งการเกินดุลดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะชดเชยกับรายรับที่ขาดดุล ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดยังอยู่ในสถานะขาดดุล 2 ปีติดต่อกัน สำหรับปี 2557 คาดการณ์ว่าการส่งออกน่าจะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มจะลดลง อย่างไรก็ดี เนื่องจากการอนุญาตให้มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศลดลงอย่างมากจากผลกระทบของวิกฤตทางการเมือง ทำให้คาดว่าเงินทุนไหลเข้าจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจะลดลงอย่างมากในปี 2557 นอกจากนี้ หากมีการไหลออกของเงินทุนระหว่างประเทศที่เคลื่อนย้ายได้ง่าย เช่น การลงทุนในหลักทรัพย์ (Portfolio investments) อาจทำให้ดุลการชำระเงินขาดดุลได้ ด้านทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ไม่รวมทองคำได้ลดลงไปอยู่ที่ 161.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ณ สิ้นปี 2556 จาก 173.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ณ สิ้นปี 2555 ซึ่งบางส่วนเกิดจากการไหลออกของเงินทุนระหว่างประเทศ ซึ่งหากปัจจัยต่างๆ มีแนวโน้มในขาลงต่อไป อาจทำให้สัดส่วนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นที่ลดลงมาอยู่ที่ 2.7 เท่า ณ สิ้นปี 2556 จาก 3 เท่า ณ สิ้นปี 2555 อาจจะลดลงอีกในอนาคต 4. ฐานะทางการคลังของประเทศไทยยังคงมีความแข็งแกร่งจากการที่รัฐบาลปฏิบัติตามกรอบวินัยทางการคลังอันเข้มงวดที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 อย่างเคร่งครัด โดยคาดว่าในปีงบประมาณ 2557 จะขาดดุลที่ร้อยละ 1.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งต่ำกว่าปีงบประมาณ 2556 เล็กน้อย ในขณะที่หนี้สาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 2 – 3 ปีข้างหน้าจากการขาดดุลการคลังติดต่อกันหลายปี อย่างไรก็ดี สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศยังคงอยู่ในระดับต่ำโดยเปรียบเทียบที่ร้อยละ 45.9 ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 พร้อมกับที่รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้วางแผนที่จะใช้เงินเพิ่มเติมจากงบประมาณมาดำเนินโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งรวมถึงการลงทุนในระยะกลางเพื่อก่อสร้างทางหลวง ระบบรถไฟในเขตเมืองและสนามบิน อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวต้องหยุดชะงักลงจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าการระดมทุนในวงเงินจำนวนมากภายใต้ร่าง พรบ. ดังกล่าว ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในขณะเดียวกัน ภาคการธนาคารของประเทศยังคงมีเสถียรภาพตลอดช่วงที่เกิดความไม่สงบทางการเมือง โดยในปี 2556 สัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพโดยรวมของธนาคารพาณิชย์ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.2 (อัตราสุทธิเท่ากับร้อยละ 1.0) จากเดิมที่อัตราโดยรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.3 (อัตราสุทธิเท่ากับร้อยละ 1.1) ในปี 2555 และอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงยังอยู่ในระดับสูงโดยเปรียบเทียบที่ร้อยละ 15.7 (เงินกองทุนชั้นที่ 1 มีสัดส่วนร้อยละ 12.6) ณ สิ้นปี 2556

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ