กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--สศอ.
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกราม (สศอ.) เร่งร่วมมือกับสถาบันอาหารดำเนินการศึกษาการจัดการทรัพยากรน้ำ ตามแนวทาง Water Footprint ในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อการส่งออก คาดช่วยยกระดับผู้ประกอบการ และลดข้อกีดกันทางการค้า เมื่อพบว่าไทยใช้น้ำมากติดอันดับต้นๆ โลก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นในภาคอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการส่งออก
นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกดรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากผลการศึกษาการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดย FAO พบว่า หากทั่วโลกยังคงใช้น้ำในอัตราปัจจุบันตามการเพิ่มขึ้นของประชากรทั่วโลกแล้ว ในปี 2567 ซึ่งจะมีประชากรกว่า 1.8 พันล้านคน คาดว่าประชากรทั่วโลกขาดแคลนน้ำเฉลี่ย 500 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี โดยปริมาณน้ำที่สามารถใช้ได้จะลดลง และคุณภาพน้ำอาจปนเปื้อนด้วยมลพิษทั้งจากสารเคมี ยากำจัดศัตรูพืช จนไม่สามารถนำมาใช้ทั้งในการบริโภค การผลิตและการเกษตร ส่งผลให้ประเทศต่างๆ เริ่มหันมาให้ความสำคัญในการจัดการทรัพยากรน้ำ โดยพัฒนาเครื่องมือวัดร่องรอยการใช้น้ำหรือ Water Footprint : WF ขึ้น เพื่อเป็นดัชนีวัดปริมาณการใช้น้ำของสินค้าและบริการทั้งทางตรงและทางอ้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยแบ่งน้ำออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ Blue water ปริมาณการใช้น้ำจากแหล่งน้ำทั้งบนดินและใต้ดินในกระบวนการผลิต Green water ปริมาณการใช้น้ำของพืชหรือแฝงมากับวัตถุดิบ และ Grey water ปริมาณน้ำจากการกำจัดซากผลิตภัณฑ์ หรือบำบัดมลพิษที่เกิดจากการใช้น้ำ
นายสมชาย ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าประเทศที่มีปริมาณและอัตราการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการเติบโตของประชากร เศรษฐกิจ และภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ได้แก่ จีนและสหรัฐอเมริกา โดยจีนมีค่า WF เฉลี่ยที่ 1,071,000 ลิตรต่อปี ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีค่า WF เฉลี่ยอยู่ที่ 2,842,000 ลิตรต่อปี
นายสมชาย เปิดเผยต่อว่า สำหรับไทยถูกจัดเป็น 1 ใน 10 ของประเทศที่ใช้น้ำมากที่สุด รองจาก อินเดีย จีน สหรัฐอเมริกา ปากีสถาน และญี่ปุ่น โดยน้ำที่นำไปใช้ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการส่งออกเฉลี่ย 2,131 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี อย่างไรก็ดีการศึกษาด้าน WF ในประเทศไทยยังไม่แพร่หลายนัก จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาวิธีการและแนวทางการจัดการน้ำ เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากร โดยเฉพาะการจัดการทรัพยากรน้ำในอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีกิจกรรมในการผลิตที่มีแนวโน้มการใช้น้ำในปริมาณมาก เมื่อเทียบกับการผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกจากนี้หากเป็นอุตสาหกรรมอาหารเพื่อการส่งออกยิ่งทวีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับมาตรการกีดกันทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากหลายประเทศได้มีการดำเนินการด้าน WF ในหลายสินค้าแล้ว
“จากปัญหาการขาดแคลนน้ำ ที่ส่งผลให้เกิดมาตรการกีดกันทางการค้าในอนาคตอันใกล้ จำเป็นต้องดำเนินการตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดความยั่งยืนกับภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทย สศอ. จึงร่วมกับสถาบันอาหาร ดำเนินโครงการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนด้วย Water Footprint ในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อการส่งออก โดยจะยกระดับผู้ประกอบการอาหารส่งออกไม่น้อยกว่า 24 ราย ได้ดำเนินการจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวทาง WF โดยจะได้ปริมาณค่าอ้างอิง WF ในกลุ่มอาหารที่สำคัญของอุตสาหกรรมอาหารไทย ซึ่งได้เริ่มดำเนินการรับสมัครและอยู่ระหว่างการเข้าให้การปรึกษาขั้นต้นและคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีความพร้อมและประสงค์เข้าร่วมโครงการ โดยเมื่อดำเนินโครงการจะมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการสามารถใช้แนวทาง WF ไปประยุกต์ใช้ประเมินปริมาณการใช้น้ำ และจัดทำแนวทางการใช้น้ำในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะสามารถระบุ WF บนฉลากผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สามารถใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารไปยังผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศว่าสินค้าของบริษัทมีการใช้น้ำมากน้อยเพียงไร ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิต ยังเป็นการรองรับมาตรการกีดกันทางการค้าในอนาคตได้ในเรื่องฉลากแสดงร่องรอยการใช้น้ำหรือ WF และทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ อันจะนำมาสู่ความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมอาหารในที่สุด” นายสมชายกล่าว