กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
ผ่าโมเดลรถพยาบาลฉุกเฉินที่ปลอดภัย เลขา สพฉ. เตรียมติด GPS ที่รถพยาบาล และตั้งศูนย์ควบคุมความเร็วเพื่อความปลอดภัย พร้อมร่วมมือ สำนักสาธารณสุขฉุกเฉินจัดอบรมการขับรถพยาบาล เล็งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกใบขับขี่เฉพาะสำหรับพนักงานขับรถพยาบาล พร้อมเดินหน้าทำงานวิจัยออกแบบรถที่เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยและพยาบาล
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวว่า จากกรณีที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับรถพยาบาลฉุกเฉินเป็นจำนวนมากกว่า 6-7 ครั้ง ซึ่งสร้างความสูญเสียต่อผู้ป่วยฉุกเฉินและบุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉินเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงถึงเวลาที่จะต้องมีการพูดคุยและหาทางออกในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งโดยปกติตามมาตรฐานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้เน้นหลักในการรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉินอยู่ 2 เรื่อง คือ มาตรฐานคนขับรถพยาบาล และมาตรฐานรถพยาบาล ซึ่งจากเหตุการณ์การเกิดอุบัติเหตุที่ผ่านมาสิ่งที่จะเราจะต้องพูดคุยอย่างจริงจังคือมาตรฐานของคนขับรถพยาบาลฉุกเฉิน ซึ่งจะต้องปรับทัศนคติและวิธีคิดของพนักงานขับรถพยาบาลฉุกเฉินใหม่ว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องขับรถเร็วเสมอไป เพราะตามหลักแล้วในการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินจะมีระดับในการนำส่ง อาทิ ผู้ป่วยที่ไม่หนักมาก อาจจะเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉินกระพริบเพียงอย่างเดียว และวิ่งในระดับความเร็วปกติ ส่วนผู้ป่วยฉุกเฉินในระดับมาก จะต้องมีการเปิดสัญญาณไฟและสัญญาณไซเรน แต่ทุกวันนี้ไม่ว่าผู้ป่วยในระดับไหน เราก็จะขับรถพยาบาลฉุกเฉินด้วยความเร็วตลอดเวลา ซึ่งตรงนี้อาจจะต้องมีการปรับความคิดกันใหม่สำหรับพนักงานขับรถพยาบาลฉุกเฉิน
นอกจากนี้ก็มีความกังวลตามมาว่าหากไม่ขับรถเร็วจะสามารถนำส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลเพื่อรักษาให้ทันท่วงทีได้อย่างไร ซึ่งคำถามนี้สามารถอธิบายได้ว่า เราจะต้องทำให้การบริการในพื้นที่มีความครอบคลุมและมีจำนวนหน่วยบริการให้เพียงพอ ซึ่งเมื่อมีหน่วยบริการที่เพียงพอพนักงานก็ไม่จำเป็นที่จะต้องขับรถเร็วและไม่ต้องวิ่งในระยะทางไกล โดยเรื่องนี้คงต้องอาศัยความร่วมมือจากโรงพยาบาลและท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดมาร่วมกันหารือวางแนวทางที่จะทำงานร่วมกันให้การบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินครอบคลุมในทุกพื้นที่ ซึ่งก็จะทำให้ความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุลดลง
“เราจะต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ว่าไม่ใช่เห็นผู้ป่วยฉุกเฉินก็นำขึ้นรถเลย แต่ควรมีระบบการเตรียมผู้ป่วยฉุกเฉินให้พร้อมก่อน และดูแลรักษาเบื้องต้น ณ จุดเกิดเหตุ จึงนำขึ้นรถพยาบาล ซึ่งจะทำให้พนักงานขับรถไม่ต้องรีบมาก และอุบัติเหตุก็จะไม่เกิด เพราะจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุที่ผ่านมาก็ล้วนแล้วแต่เกิดเพราะพนักงานขับรถเร่งรีบที่จะต้องนำผู้ป่วยฉุกเฉินส่งไปรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งเป็นระบบที่ประเทศออสเตรเลียได้ทดลองใช้และประสบความสำเร็จในการลดอุบัติเหตุของรถพยาบาลระหว่างนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน” เลขาธิการ สพฉ.กล่าว
นพ.อนุชา กล่าวต่อว่า สพฉ. และสำนักงานสาธารณสุขฉุกเฉิน จะจัดโครงการอบรมฟื้นฟูการขับขี่ที่ปลอดภัยให้กับพนักงานขับรถฉุกเฉิน ให้เป็นพนักงานขับรถที่สามารถเป็นผู้ช่วยพยาบาลได้ และรู้หลักในการขับขี่อย่างปลอดภัยทั้งทางร่วม ทางแยก รวมถึงการใช้วิทยุสื่อสาร การตรวจเช็คสภาพรถ นอกจากนี้จะรณรงค์ให้มีการออกใบขับขี่เฉพาะให้กับพนักงานขับรถฉุกเฉินด้วย ซึ่งจะต้องผ่านการอบรมตามโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้ในส่วนของรถพยาบาลนั้นปัจจุบันมีใช้อยู่หลายแบบตั้งแต่รุ่นธรรมดาจนถึงโรงพยาบาลประกอบขึ้นเอง ต่อหลังคาเอง และมีการจัดอุปกรณ์เอง ซึ่งเมื่อเกิดอุบัติเหตุทำให้ความคงทนแข็งแรงน้อยและทำให้เกิดความสูญเสียมาก ดังนั้นเรื่องนี้จะต้องมีการทำการวิจัยรถพยาบาลให้มีความเหมาะสมในการรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉินรวมถึงการรักษาพยาบาลในรถพยาบาลด้วย ให้ผู้ปฏิบัติการสามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจะต้องประสานกับบริษัทเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะมาออกแบบและผลิตรถพยาบาลให้มีความเหมาะสมต่อไป นอกจากนี้จะต้องมีการพัฒนาระบบโดยติดตั้ง GPS บนรถพยาบาลฉุกเฉิน ซึ่งเปรียบเสมือนกล่องดำบนเครื่องบิน และจะมีจอมอนิเตอร์อยู่ที่ส่วนกลางที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จะทำให้เห็นว่ามีรถพยาบาลอยู่กี่คันที่กำลังให้บริการอยู่ และมีคันไหนที่วิ่งเร็วเกินกำหนด ซึ่งหากพบว่ามีรถพยาบาลวิ่งเร็วเกินกว่ากำหนดและออกนอกเส้นทาง ก็จะมีการตักเตือนในทันทีและพนักงานขับรถต้องรายงานเหตุจำเป็นดังกล่าวด้วย นอกจานนี้จะต้องพัฒนาให้รถพยาบาลมีมาตรฐานเฉพาะเหมือนกับโรงงานที่จะต้องมีระบบรับรองคุณภาพ ISO เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือภาคประชาชนจะต้องร่วมกันสังเกตหากพบเห็นรถพยาบาลคันไหนขับรถเร็วเกินไปก็สามารถแจ้งมาที่สพฉ.เพื่อทำการตักเตือนได้