อินเทล เปิดตัวเพนเทียมทรี โปรเซสเซอร์รุ่นใหม่ ความเร็วสูงสุดในโลก 733 MHz ที่ใช้เทคโนโลยี 0.18 ไมครอนรายแรกของโลก พร้อมเพนเทียม ทรี แบบพกพารุ่นแรก

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday November 2, 1999 14:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--2 พ.ย.--อินเทล คอร์ปอเรชั่น
อินเทล คอร์ปอเรชั่น เปิดตัวเพนเทียมทรี โปรเซสเซอร์ใหม่ล่าสุดที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ 0.18 ไมครอนเป็นรายแรกของโลก พร้อมความเร็วสูงสุดถึง 733 MHz และเพนเทียม ทรี โปรเซสเซอร์แบบพกพารุ่นแรกของโลก ซึ่งเทคโนโลยีการผลิตแบบ 0.18 ไมครอนของอินเทลทำให้โปรเซสเซอร์มีความเร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพิ่มเติมด้วยคุณสมบัติใหม่ๆ และยังกินไฟน้อยลงกว่าเดิม
การแนะนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งในประวัติการดำเนินธุรกิจของบริษัท เพราะนับเป็นการเริ่มต้นการประมวลผลสมรรถนะขั้นสูงที่สุดของอินเทลสำหรับพีซีแบบเดสก์ทอปและโมบายล์ เพนเทียม ทรี โปรเซสเซอร์รุ่น 0.18 ไมครอนนี้มีเทคโนโลยีใหม่ คือ Advanced Transfer Cache (ATC) ซึ่งเป็นแคช L2 ขนาด 256KB ที่ฝังอยู่บนโปรเซสเซอร์หลัก (Integrated on-die 256KB L2 cache) ทำให้ความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลระหว่างแคช L2 ไปยังโปรเซสเซอร์หลักมีความเร็วเท่ากับความเร็วของตัวซีพียู มีช่วงจังหวะรอในการรับส่งข้อมูลต่ำ (Low Latency) ทำให้มีความเร็วเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลของโปรเซสเซอร์รุ่นเดิมที่ใช้เทคโนโลยี 0.25 ไมครอน หรือเพนเทียม ทรี โปรเซสเซอร์รุ่น 0.18 ไมครอนมีสมรรถนะสูงกว่าเพนเทียม ทรี โปรเซสเซอร์รุ่น 0.25 ไมครอน ร้อยละ 25 ในระดับความเร็วสัญญาณนาฬิกาเดียวกันที่ 600 MHz นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์ใหม่ Flip-Chip (FC-PGA) ซึ่งสามารถเสียบเข้ากับซ็อกเก็ต 370 Pin ได้ ยังมีขนาดเล็กและบาง จึงช่วยให้ผู้ผลิตสามารถออกแบบพีซีเดสก์ทอปให้มีรูปโฉมที่แปลกใหม่ มีขนาดกะทัดรัดและประหยัดเนื้อที่มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบพีซีแบบพกพาที่มีขนาดบางและมีน้ำหนักเบากว่าเดิมได้อีกด้วย
"เราเป็นผู้นำโปรเซสเซอร์รุ่น 0.18 ไมครอน ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ของการออกแบบที่มีความก้าวหน้าให้กับตลาดทุกกลุ่มที่มุ่งสู่อินเตอร์เน็ต ทั้งพีซีแบบเดสก์ทอปและแบบโมบายล์" นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว "การแนะนำผลิตภัณฑ์ในครั้งนี้ นับเป็นการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นการผสมผสานกันของสมรรถนะใหม่ในระดับต่างๆ ที่ยังไม่เคยปรากฏขึ้นเลยในวงการคอมพิวเตอร์"
เพนเทียม ทรี โปรเซสเซอร์ แบบเดสก์ทอป
ในปัจจุบันนี้ มีเพนเทียม ทรี โปรเซสเซอร์ให้เลือกทั้งจากพีซีราคาเยาและพีซีสมรรถนะสูง ในรุ่นความเร็วต่างๆ ได้แก่ 733, 700, 667, 650, 600, 550, 533, และ 500 MHz โปรเซสเซอร์ต่างๆ เหล่านี้ สามารถใช้ได้กับชิปเซ็ตในรุ่นต่างๆ ของอินเทล ได้แก่ชิปเซ็ต 810E, 440 BX และ 440ZX รวมถึงชิปเซ็ตรุ่น 820 ซึ่งจะออกวางจำหน่ายภายในปีนี้
เพนเทียม ทรี โปรเซสเซอร์ รุ่นความเร็ว 550 และ 500 MHz มีวางจำหน่ายในบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ Flip-Chip (FC-PGA) ซึ่งบรรจุภัณฑ์แบบนี้สามารถเสียบเข้ากับซ็อกเก็ต 370 Pin ได้ และมีคุณสมบัติเด่นในการทำให้เกิดความร้อนน้อย บรรจุภัณฑ์แบบ FC-PGA นี้ นับเป็นการเปิดมิติใหม่แห่งการออกแบบพีซีแบบเดสก์ทอป ซึ่งผู้ผลิตสามารถออกแบบให้พีซีมีรูปโฉมใหม่ สมรรถนะสูง ใช้งานได้ง่ายขึ้น มีขนาดกะทัดรัด และประหยัดเนื้อที่ยิ่งขึ้นกว่าเดิม
เพนเทียม ทรี โปรเซสเซอร์ แบบพกพา
นอกจากการเปิดตัวเพนเทียม ทรี โปรเซสเซอร์รุ่น 0.18 ไมครอน สู่ผู้ใช้พีซีแบบเดกส์ทอปดังกล่าว อินเทล ยังได้ประกาศการเปิดตัวเพนเทียม ทรี โปรเซสเซอร์แบบพกพารุ่นแรก ซึ่งนำเอาคุณสมบัติชั้นเยี่ยมของเพนเทียม ทรี โปรเซสเซอร์ ทั้งในด้านสมรรถนะในการใช้งาน ความสะดวกในการพกพา และความเร็วให้เลือกมากมายเข้าไว้ด้วยกัน นับแต่นี้ไปผู้ใช้สามารถทำงานด้วยโน้ตบุ้คที่ใช้เพนเทียม ทรี โปรเซสเซอร์ ทั้งในการรันแอพพลิเคชั่นทางธุรกิจ การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตหรืออินทราเน็ต การเล่นภาพวิดีโอคุณภาพสูง หรือการสร้างภาพ 3 มิติที่สมจริงได้ด้วยสมรรถนะที่ ยอดเยี่ยมจากพีซีแบบพกพาซึ่งออกแบบโดยใช้สถาปัตยกรรมของอินเทลเพนเทียม ทรี โปรเซสเซอร์แบบพกพานี้มีให้เลือกในรุ่นความเร็วต่างๆ ตั้งแต่ 500, 450 และ 400 MHz โปรเซสเซอร์รุ่นใหม่นี้ ส่งมอบประสิทธิภาพในระดับที่ยอดเยี่ยมให้แก่ผู้ใช้งานด้วยคุณลักษณะเด่นมากมาย ได้แก่ ซิสเต็ม บัส ความเร็ว 100 MHz ซึ่งช่วยเพิ่มแบนด์วิธให้กับบัส ถึงร้อยละ 50 เมื่อเปรียบเทียบกับเพนเทียม ทู แบบพกพาในรุ่นก่อนหน้านี้ เพนเทียม ทรี โปรเซสเซอร์แบบพกพารุ่นความเร็ว 400 MHz กินไฟต่ำเพียง 1.35 โวลท์ และยังช่วยให้ผู้ผลิตสามารถออกแบบพีซีแบบพกพาที่มีขนาดเล็กได้อีกด้วย โปรเซสเซอร์ของอินเทล ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับพีซีแบบพกพา จึงมีขนาดที่เล็กกว่า และมีคุณสมบัติในการจัดการพลังงานที่โดดเด่น บรรจุภัณฑ์สำหรับเพนเทียม ทรี โปรเซสเซอร์แบบพกพาที่มีขนาดเล็กที่สุด หรือ Ball Grid Array (BGA) ทำให้พีซีแบบพกพามีขนาดบางลงและมีน้ำหนักที่เบาขึ้นกว่าเดิม
การผสมผสานระหว่างความเร็วที่สูงขึ้น ขนาดที่เล็กลงและการกินไฟที่ต่ำลง ช่วยให้ผู้ผลิตพีซีแบบพกพาสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ในราคาที่ถูกลงและมีขนาดที่เล็กลง รวมถึงการออกแบบมินิ โน้ตบุ้คที่มีขนาดบางและน้ำหนักเบาด้วย ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเหล่านี้จึงตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ในทุกกลุ่ม
การปรับเปลี่ยนสถาปัตยกรรมใหม่สำหรับเพนเทียม ทรี โปรเซสเซอร์สำหรับคอมพิวเตอร์รุ่นต่างๆ เพนเทียม ทรี โปรเซสเซอร์ใหม่ในปัจจุบันสำหรับพีซีแบบเดกส์ทอปและแบบพกพานี้ ได้รับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่สำคัญ 2 ประการ ได้แก่ Advanced Transfer Cache และ Advanced System Buffering ซึ่งส่งมอบสมรรถนะที่ยอดเยี่ยมยิ่งกว่าเพนเทียม ทรี โปรเซสเซอร์ที่ผลิตจากเทคโนโลยี 0.25 ไมครอนเมื่อเปรียบเทียบกันที่ความเร็วสัญญาณนาฬิกาที่เท่ากัน
Advanced Transfer Caches หรือ ATC เป็นเทคโนโลยีของการนำแคช L2 ขนาด 256 KB ฝังลงบนตัวโปรเซสเซอร์หลัก (Integrated on-die 256 KB L2 cache) ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ทำให้ความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลระหว่างแคช L2 ไปยังตัวโปรเซสเซอร์หลัก มีความเร็วเท่ากับความเร็วของตัวซีพียู มีช่วงจังหวะรอในการรับส่งข้อมูลต่ำ (Low Latency) ทำให้มีความเร็วเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลของโปรเซสเซอร์รุ่นเดิมที่ใช้เทคโนโลยี 0.25 ไมครอน
ส่วนเทคโนโลยี Advanced System Buffering หรือ ASB เป็นเทคโนโลยีที่มีการเพิ่มบัฟเฟอร์ให้มีจำนวนมากขึ้นอย่างสมดุล ซึ่งจะช่วยลดปัญหาเรื่องคอขวดให้น้อยลงได้ โดยมี fill buffer เพิ่มจาก 4 เป็น 6 (ส่งผลในการเพิ่มการทำงานของแคชด้าน concurrent non-blocking data เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 50) ส่วน bus queue entries เพิ่มจาก 4 เป็น 8 (ทำให้มีการทำงานระหว่าง outstanding memory กับบัสมากขึ้น) นอกจากนี้ writeback buffer ยังเพิ่มจาก 1 เป็น 4 ด้วย (ส่งผลในการ ลดการบล็อกระหว่างขั้นตอน cache replacement ลง และทำให้ deallocation time สำหรับ fill buffers เร็วขึ้นด้วย) ขนาดต่างๆ ของบัฟเฟอร์เหล่านี้ จึงช่วยให้ใช้ประโยชน์จากซิสเต็ม บัส แบนด์วิธ ขนาด 133 MHz ได้อย่างเต็มที่ และทำให้โปรเซสเซอร์หลักสามารถเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น
การผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยีเหล่านี้ ซึ่งประกอบด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้นและเทคโนโลยีแบบ 0.18 ไมครอนนี้ นับเป็นการเริ่มต้นของโปรเซสเซอร์รุ่นใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารที่ทวีความสำคัญยิ่งขึ้นในปัจจุบัน
เทคโนโลยี 0.18 ไมครอนของอินเทล ความก้าวหน้าครั้งสำคัญแห่งยุค
อินเทล เป็นผู้ผลิตไมโครโปรเซสเซอร์รายแรกของโลกที่เริ่มนำเทคโนโลยีแบบ 0.18 ไมครอนมาใช้ในการผลิตแบบจำนวนมาก โดยเริ่มการผลิตไมโครโปรเซสเซอร์ที่ใช้เทคโนโลยี 0.18 ไมครอนนี้แล้วในโรงงานผลิตจำนวน 4 แห่งทั่วโลก เทคโนโลยีการผลิตไมโครโปรเซสเซอร์ แบบ 0.18 ไมครอนนี้ มีขนาดเล็กกว่าความหนาของเส้นผมของคนเราถึง 500 เท่า ซึ่งนับว่ามีขนาดเล็กยิ่งกว่าแบคทีเรียหรือแสงที่สายตาของมนุนย์สามารถมองเห็นเสียอีก เทคโนโลยีใหม่ 0.18 ไมครอนของอินเทลนี้ ใช้การเชื่อมด้วยอลูมิเนียม 6 เลเยอร์ มีไดออกไซด์ของทองแดงในปริมาณต่ำ และยังใช้ศักย์ไฟต่ำเพียง 1.1 - 1.65 โวลต์เท่านั้น (ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่กินศักย์ไฟต่ำที่สุดในปัจจุบันใช้ศักย์ไฟที่ 1.35 โวลต์) ส่วนเทคโนโลยีการผลิตที่เล็กที่สุดได้แก่ขนาด 0.13 ไมครอน
อินเทลเป็นบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลกและเป็นผู้นำในวงการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลระบบเครือข่ายและอุปกรณ์สื่อสารด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำนำสมัย ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัทอินเทลได้ที่เว็บไซต์ http://www.intel.com/th/thai
* เครื่องหมายและยี่ห้อเหล่านี้เป็นสมบัติของผู้เป็นเจ้าของ
* * สมรรถนะที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เป็นการทดสอบโดยใช้เบนช์มาร์ก Ziff-Davis* CPUMark99 ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเบนช์มาร์กนี้ได้ที่ www.intel.com-- จบ--

แท็ก อินเทล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ