กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน(ASEAN Finance Ministers’ Meeting : AFMM) ครั้งที่ 18 ระหว่างวันที่ 4-5 เมษายน 2557 ณ กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ โดยมีนาย U Win Shein รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์เป็นประธาน ในการนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันหารือถึงความคืบหน้าของการดำเนินงานด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนและการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนตลอดช่วงปีที่ผ่านมา และหารือเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกและผลต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน โดยมีประเด็นหลักที่สำคัญ ดังนี้
1.เศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน มีการเติบโตที่แข็งแกร่งและขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องจากปี 2556ที่มีอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 5.1 ต่อปีโดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศและภูมิภาคยังคงมีแรงสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเสถียรภาพในภาคการธนาคารและภาคธุรกิจ และพื้นฐานเศรษฐกิจที่มั่นคง ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนในปี 2557จะขยายตัวในอัตราร้อยละ 4.7-5.3 ต่อปีซึ่งความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาเซียนอาจจะเผชิญที่สำคัญใน
ปี 2557 ได้แก่ 1) การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่นซึ่งอาจจะมากกว่าที่คาดไว้ 2) ความผันผวนของภาคการเงิน และเงินทุนเคลื่อนย้าย รวมถึงปฏิกริยาตอบรับที่เกินจริงในตลาดเงินและ 3) แรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ และการดำเนินนโยบายการเงินแบบหดตัวของสหรัฐฯซึ่งในที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายที่มุ่งรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนและระบบการเงินเพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ โดยจะพึงระวังต่อการส่งผลต่อประเทศอื่นในภูมิภาค เน้นนโยบายการปฏิรูปเชิงโครงสร้างการสนับสนุนการลงทุนในภูมิภาค รวมถึงการยกระดับความร่วมมือและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ
ปลัดกระทรวงการคลัง ได้แจ้งที่ประชุมว่าการที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลดีในสาขาการส่งออก ดังนั้น แม้ว่าจะมีผลกระทบจากการเมืองภายในประเทศ แต่อุปสงค์ภายนอกประเทศ โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศ G-3จะสามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.6 ต่อปีในปี 2557 นอกจากนี้ นายรังสรรค์ฯ ได้ให้ความเห็นสอดคล้องกับ IMF ว่าการชะลอมาตรการ Quantitative Easing และผลกระทบจากความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายนั้นยังเป็นปัจจัยที่ยังน่าเป็นห่วงสำหรับเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ แต่ด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งในภาคการเงินและปริมาณเงินทุนสำรอง
ระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งนั้นทำให้เศรษฐกิจไทยพร้อมรองรับความเสี่ยงดังกล่าว
2. แผนการรวมตัวด้านนโยบายและระบบการเงินอาเซียน (Roadmap for Monetary and Financial Integration of ASEAN) ซึ่งช่วยสนับสนุนการเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมภายใต้แผนการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีความคืบหน้าหลักใน 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการเปิดเสรีบริการด้านการเงิน ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้เสร็จสิ้นการเจรจาการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินรอบที่ 6 ได้ตามแผน และกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการระยะสุดท้ายเพื่อลงนามในร่างพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินรอบที่ 6และเตรียมพร้อมที่จะเริ่มการเจรจาการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินในรอบที่ 7 ต่อไป (2) ด้านการเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียนที่ประชุม AFMM ได้พิจารณาสนับสนุนการเชื่อมโยงของระบบการโอนการชำระราคาและการรับฝากหลักทรัพย์ให้มีความสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งได้มีความคืบหน้าในการจัดทำบันทึกความเข้าใจในการกำหนดแนวทางการยอมรับมาตรฐานหน่วยลงทุนซึ่งกันและกันระหว่างไทยมาเลเซียและสิงคโปร์เพื่อส่งเสริมการเสนอขายกองทุนรวมข้ามประเทศในอาเซียนซึ่งจะเปิดให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) ในประเทศที่ร่วมมือกันสามารถนำหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ได้รับการอนุญาตแล้วในประเทศของตนไปเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไปในประเทศภาคีได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น (3) ด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุน มีความคืบหน้าในการจัดตั้งเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างธนาคารกลางอาเซียนในการดำเนินมาตรการและกลไกการปกป้องเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต
3. ความร่วมมือด้านการเงินและรวมตัวทางเศรษฐกิจ มีความคืบหน้าหลักๆ ดังนี้ (1) ด้านการพัฒนาระบบระวังภัยและระบบติดตามความคืบหน้าการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งสำนักงานติดตามการรวมตัวของอาเซียนได้พัฒนาเครื่องมือเพื่อใช้ติดตามและประเมินความคืบหน้าการรวมตัวทางเศรษฐกิจและการรวมกลุ่มในภาคการเงิน(2) ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Infrastructure Fund) ได้เริ่มปล่อยกู้โครงการแรกให้กับโครงสร้างพื้นฐานในประเทศอินโดนีเซียแล้ว และจะเร่งปล่อยกู้ในระยะถัดไปให้กับประเทศสมาชิกอื่นต่อไป ในขณะเดียวกัน กองทุนฯกำลังพิจารณาแนวทางลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืม การระดมทุนจากตลาดเงินและตลาดทุนรวมทั้งหาแนวทางร่วมมือกับภาคเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น (3) ความร่วมมือด้านศุลกากรได้เริ่มโครงการนำร่องการใช้ระบบพิธีการศุลกากรอาเซียน ณ จุดเดียว (ASEAN Single Window) ระหว่างสมาชิกอาเซียนที่มีความพร้อม 7 ประเทศระยะที่ 1 ซึ่งมีผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ และจะมีการดำเนินการระยะที่ 2 ที่เต็มรูปแบบในช่วงครึ่งแรกของปี 2014 (4) ความร่วมมือด้านภาษีอากร มีการหารือแนวทางการประสานนโยบาย และความโปร่งใสในด้านภาษีอากรระหว่างประเทศสมาชิก โดยได้เน้นให้สมาชิกอาเซียนที่ยังไม่จัดทำความตกลงว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วและให้หาแนวทางประสานกับกรอบความร่วมมืออื่นๆ เช่น OECD ในการพัฒนามาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลด้านภาษีอากรและการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ (5) ด้านการสนับสนุนการลงทุนในภูมิภาคที่ประชุมได้เห็นชอบให้ประเทศฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนานักลงทุนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Minister’s Investor Seminar: AFMIS) ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าการรวมตัวของอาเซียน รวมทั้งนำเสนอจุดแข็งของอาเซียน เพื่อจูงใจให้นักลงทุนในภูมิภาคและทั่วโลกมองอาเซียนในรูปแบบภูมิภาคซึ่งจะเป็นโอกาสที่นักลงทุนในภูมิภาคและทั่วโลกจะได้พบปะและซักถามในประเด็นนโยบายโดยตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน
(6) ด้านการเงินภาคประชาชน ในการประชุมครั้งนี้ได้เห็นชอบให้สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์จัดการสัมมนาระหว่างประเทศในปี 2557 ในหัวข้อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับประชาชนในอาเซียนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคธนาคารได้ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนฐานราก
4. ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการจัดประชุม AFMM ครั้งนี้ เมื่อมีการจัดทำระบบการเชื่อมโยงการดำเนินการหลังการซื้อขายหลักทรัพย์อาเซียนภายใต้ ASEAN Trading Linkก็จะช่วยสร้างความเชื่อมโยงของระบบการโอนการชำระราคาและการรับฝากหลักทรัพย์เพื่ออำนวยความสะดวกและรองรับระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งก็จะเป็นการสนับสนุนให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยเติบโตขึ้นจากการลงทุนของนักลงทุนในอาเซียนที่จะมาลงทุนในหลักทรัพย์นอกจากนี้ การจัดทำบันทึกความเข้าใจในการกำหนดแนวทางการยอมรับมาตรฐานหน่วยลงทุนซึ่งกันและกันจะเปิดให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนในประเทศที่ร่วมมือกันสามารถนำหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ได้รับการอนุญาตแล้วในประเทศของตนไปเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไปในประเทศภาคีได้สะดวกและรวดเร็วขึ้นในขณะที่ กองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน ก็จะเป็นส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเชื่อมต่อกับไทยทั้งทางด้านพลังงานและโทรคมนาคมเพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและเพื่อให้เกิดภาพที่สมบูรณ์ของการเชื่อมโยงระบบคมนาคมในภูมิภาค
นอกจากนี้ การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนได้ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงบริการด้านการเงินและการให้การศึกษาทางการเงินแก่ประชาชนฐานรากโดยเฉพาะที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์จะจัดการสัมมนาในหัวข้อการเพิ่มการเข้าถึงบริการภาคการธนาคารสำหรับประชาชนที่ด้อยโอกาส จะเป็นเวทีที่เปิดให้ ไทยซึ่งมีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวมีบทบาทช่วยแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้กับประเทศอาเซียนอื่นๆในขณะเดียวกัน ก็จะเป็นการช่วยให้แรงงานเมียนมาร์ที่มาทำงานในประเทศไทยมีการโอนเงินข้ามประเทศอย่างถูกกฎหมายและอยู่ในระบบมากขึ้น
5. ในช่วงการแถลงข่าวร่วมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ปลัดกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงนักข่าวต่างประเทศต่อข้อซักถามเกี่ยวกับผลกระทบของการเมืองไทยต่อการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่าไทยได้มีการเตรียมความพร้อมในการรวมตัวภาคการเงินมานานแล้ว และมีแผนการดำเนินงานอย่างเป็นขั้นตอนที่ชัดเจน ดังนั้น การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของไทยจึงไม่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมือง นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยก็ยังขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง
6. การประชุม AFMM ครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่ประเทศมาเลเซียในช่วงต้นเดือนเมษายน 2558
สำนักการเงินการคลังอาเซียน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. (02) 273-9020 ต่อ 3660