กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--สกว.
(27-28 มี.ค.) ณ โรงแรมเชียงใหม่พลาซ่า จ.เชียงใหม่ - สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) โดยเครือข่ายวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ภาคเหนือตอนบน จัดประชุมประจำปีเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย ถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ และสะท้อนมุมมองของผู้ใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยในเรื่องพลังงานทดแทนเพื่อความมั่นคงในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ซึ่ง สกว. ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานทหารในพื้นที่มามากกว่า 5 ปี ด้วยรูปแบบการทำงานเชิงพื้นที่จากล่างสู่บนแบบ ABC ของ สกว. ชูเรื่องพลังงานทดแทนที่ได้จากลม น้ำ แสงอาทิตย์ เข้าไปเสริมความมั่นคงตามแนวชายแดน พร้อมดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเพื่อรู้รักษาเทคโนโลยีและสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในพื้นที่
พันเอกบุญยืน อินกว่าง ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 7 ในฐานะนักวิจัยและคณะทำงานเครือข่ายวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ภาคเหนือตอนบน กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่าง สกว. และหน่วยงานกองทัพบกมีจุดเริ่มต้นมาจากเมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมาบนความร่วมมือระหว่างเครือข่ายวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ภาคเหนือตอนบน สกว. โดย รศ.ดร.ศักดิ์ดา จงแก้ววัฒนา ผู้ประสานงานพร้อมคณะกับพลังทหารของกองทัพภาคที่ 3 ในพื้นที่ชายแดนและหน่วยงานอนุรักษ์ คือ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง ซึ่งได้ดำเนินโครงการพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อความมั่นคงและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานความมั่นคงและชุมชนในพื้นที่แนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่า ซึ่งมีสภาพทุรกันดารห่างไกลความเจริญ ให้มีการพัฒนาพลังงานทดแทนใช้ในฐานปฏิบัติการทหารเพื่อเป็นพลังงานเสริมสำหรับการติดต่อสื่อสารและให้แสงสว่าง รวมถึงการพัฒนาพลังงานทดแทนให้แสงสว่างกับหมู่บ้านในเขตป่าอนุรักษ์ชายแดน โดยอาศัยหน่วยงานความมั่นคงเป็นผู้ปฏิบัติการร่วมกับชุมชน เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและภาคประชาชนในพื้นที่ชายแดนที่จะพัฒนารั้วมีชีวิต (ประชาชนในพื้นที่ชายแดน) ในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และช่วยดูแลพื้นที่ชายแดน ณ ปัจจุบันมีผลงานที่เกิดขึ้นจากการทำงาน ได้แก่ การใช้พลังงานทดแทนเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการของฐานปฎิบัติการตามแนวชายแดนพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนและตาก รวม 55 ฐานปฏิบัติการการพัฒนาระบบพลังงานทดแทนขยายผลในหมู่บ้านตามโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ชายแดนเนื่องมาจากพระราชดำริฯ30 หมู่บ้านในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และขยายผลในอีก 4 หมู่บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ร่วมกับกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 33 และการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้พลังงานทดแทนในหน่วยทหารจำนวน4 ศูนย์ โดยผลงานดังกล่าวได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานเพิ่มปริมาณสำรองพลังงานไฟฟ้าของฐานปฏิบัติการให้เกิดความได้เปรียบในการนำไปใช้งานทางยุทธการ ตลอดจนขวัญกำลังใจของกำลังพลและชุมชนชายแดน ซึ่งระบบที่พัฒนาขึ้นเป็นอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กต้นทุนต่ำที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่และง่ายต่อการบำรุงรักษา ปัจจุบันมีระบบที่พัฒนาขึ้นทั้งสิ้น 3 ระบบ ได้แก่(1) พลังงานจากแสงแดด (คำนวณที่ความเข้มแสง 600 วัตต์ต่อตารางเมตร กำลังผลิตวันละ 5 ชั่วโมง ประสิทธิภาพ 60%) พบว่า มีสัดส่วนกำลังการผลิต800 วัตต์ต่อวัน / ประสิทธิภาพการใช้งานอยู่ที่ 480 วัตต์ต่อวันสำหรับต้นทุนต่อหน่วย20,000 บาท(2) พลังงานลม (คำนวณที่ความเร็วลม 5 เมตรต่อวินาที ประสิทธิภาพ 50% (กรณีลมพัดตลอดเวลา)พบว่า มีสัดส่วนกำลังการผลิต200วัตต์ต่อชั่วโมง / ประสิทธิภาพการใช้งานอยู่ที่ 16 วัตต์ต่อชั่วโมง สำหรับต้นทุนต่อหน่วย30,000 บาทและ (3) พลังงานน้ำ (คำนวณที่ประสิทธิภาพ 40%) พบว่า มีสัดส่วนกำลังการผลิต2,000 วัตต์ต่อวัน / ประสิทธิภาพการใช้งานอยู่ที่ 480 วัตต์ต่อวันสำหรับต้นทุนต่อหน่วย70,000 บาท”
จากการดำเนินงานโครงการในมิติด้านพลังงานทดแทน รศ.ดร.ศักดิ์ดา จงแก้ววัฒนา ผู้ประสานงานเครือข่ายวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ ภาคเหนือตอนบน สกว.ได้อธิบายถึงข้อค้นพบสำคัญว่า “ปัจจัยและแนวทางที่จะนำมาสู่ความสำเร็จในการทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ในเรื่องดังกล่าว ได้แก่ การที่ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งการมีส่วนร่วมดังกล่าวจะเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ความยั่งยืนของเทคโนโลยีที่นำไปให้ นอกจากนี้การพัฒนาชุมชนในพื้นที่ห่างไกลจำเป็นต้องมีหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการร่วมกับชุมชน และการสร้างความเข้าใจถึงการใช้พลังงานบนฐานเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ห่างไกลเป็นสิ่งจำเป็นสำคัญของความยั่งยืน”
ส่วนหนึ่งของการประชุมฯได้จัดให้มีกิจกรรมลงพื้นที่ในฐานปฏิบัติการดอยคูและหมู่บ้านปุงยาม อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อให้เห็นภาพการทำงานวิจัยของภาควิชาการและหน่วยงานทหาร ผนวกรวมเข้ากับการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ โดย ผศ.เสริมสุข บัวเจริญนักวิจัยจากศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า “โครงการพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างมีส่วนรวมและยั่งยืนของหมู่บ้านตามโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ชายแดนตามแนวทางพระราชทาน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตอนนี้ดำเนินโครงการสำเร็จไปแล้ว60%ในการพัฒนาไฟฟ้าแสงสว่างและไฟทางเดินในหมู่บ้าน คิดเป็นระยะทาง 10 กว่ากิโลเมตรใน 18 หมู่บ้าน ผลตอบรับจากชาวบ้านพบว่ามีความพึงพอใจมาก บางคนบอกเป็นไฟฟ้าดวงแรกที่เขาได้รับ และผมเชื่อว่าการพัฒนาทั้งหลายในความมืดคงไม่ประสบผลสำเร็จเท่าการพัฒนาในความสว่างเด็กๆ จะได้อ่านหนังสือ สัญจรปลอดภัยยามค่ำคืน ชาวบ้านสามารถพูดคุยหารือกันได้มากขึ้นนอกจากเวลากลางวัน นับเป็นการพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนและพื้นที่ พร้อมปลูกจิตสำนึกให้มีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ปัญหาผลกระทบจากความมั่นคงของชาติอีกทางหนึ่ง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการก่ออาชญากรรมโดยโครงการที่สำเร็จได้ปัจจัยหลักเกิดจากการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ตอบรับและให้ความร่วมมือนั่นเอง”
“ทั้งนี้ ในส่วนของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ชื่อว่าเป็นเมืองสามหมอก ทั้งหมอกควันจากการเผาไร่เผาป่าหมอกไอความชื้นหลังฝนตก และหมอกน้ำค้างในฤดูหนาว ด้วยภูมิประเทศดังกล่าวทำให้การพัฒนาพลังงานทดแทนในพื้นที่อาศัยแสงอาทิตย์เพียงลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยพลังน้ำและพลังลม ซึ่งในเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นการทำงานเชิงพื้นที่ หรือ ABC(Area-Based Collaborative Research) ที่ต้องทำตามบริบทของพื้นที่ แล้วจึงค่อยออกแบบงานวิจัยตามเข้าไป พื้นที่ใดมีน้ำมากให้ใช้พลังงานน้ำ ช่วงใดแสงมากให้ใช้โซล่าร์เซลล์หรือบางแห่งลมพัดแรงให้ใช้พลังลม นับเป็นเรื่องท้าทายของทีมวิจัยที่จะพัฒนาเอาเทคโนโลยีเข้าไปซึ่งต้องตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ อย่างตามแนวชายแดนไทย-พม่าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน พบว่ามีปริมาณน้ำมากแต่ขาดความยั่งยืนเนื่องจากมีการตัดไม้ทำลายป่าจุดนี้จึงพยายามชักจูงให้ชุมชนตระหนักว่าเมื่อมีป่ามีน้ำ จึงมีไฟ พร้อมให้ความรู้ในเรื่องอะไรคือพลังงานทดแทนควบคู่กับการใช้พลังงานอย่างชาญฉลาดตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”
“ภายหลังการดำเนินงานสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากที่จะทำให้โครงการนี้อยู่ได้อย่างยั่งยืน คือ การให้ความรู้เนื่องจากช่องว่างการใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทน เพราะความไม่รู้ พอไม่รู้เกิดขึ้น "รู้รักษา" จึงไม่ได้ตามมา นับเป็นหน้าที่ของนักวิจัยที่จะสร้างกระบวนการถ่ายทอดความรู้ในการใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทนในการมีส่วนร่วมกับชาวบ้าน โดยสร้างกลไกในพื้นที่ที่จะเป็นที่พึ่งของชาวบ้านด้วยการอบรมให้ความรู้แก่หน่วยทหารที่รับผิดชอบในศูนย์พลังงานทดแทนที่จัดตั้งเฉพาะกิจ กรรมการหมู่บ้านผู้นำชุมชน และครูภายหลังนักวิจัยออกไปแล้วกลไกในพื้นที่นี่เองจะช่วยให้ชาวบ้านในพื้นที่สามารถจัดการดูแลระบบและอุปกรณ์พลังงานได้นอกจากนี้ โครงการยังมีความพยายามสร้างกลไกดังกล่าวให้เข้มแข็งมากขึ้น ด้วยการต่อยอดไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่าง อบต. เพราะถือเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะรองรับและมีบทบาทต่อการพัฒนาชุมชนนั้นๆ โดยตรงต่อไป”ผศ.เสริมสุข บัวเจริญ กล่าวเสริม
ด้านพลเอกธนยศ พริ้งทองฟู ที่ปรึกษาฝ่ายกิจการพลเรือน ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก ได้ให้ความเห็นต่อการทำงานของโครงการว่า “เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นจากงานวิจัยนี้อาจเป็นเทคโนโลยีเล็กๆ ราคาไม่แพง แต่สำคัญตรงคุณค่าที่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และการปฏิบัติการของหน่วยทหารในพื้นที่ชายแดนที่ห่างไกลได้ตรงกับความต้องการ และขอชื่นชมนักวิจัยในเครือข่ายของ สกว. ที่มีความสมบุกสมบัน บุกป่าฝ่าดงเข้าไปถึงชายแดนถิ่นทุรกันดาร นับเป็นการทำงานที่เข้าใจและเข้าถึงการพัฒนาพื้นที่โดยแท้จริง”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
นายวีระวุฒิ ฟุ้งรัตนตรัย ฝ่ายสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
โทร. 0-2278-8200 ต่อ 8354หรือ081-614-4465อีเมล: werawut@trf.or.th
www.trf.or.th Facebook: www.facebook.com/ThailandResearchFund