กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมข้าวนานาชาติครั้งที่ 4 เกษตรฯ เรียกหน่วยเกี่ยวข้องประชุมเตรียมความพร้อม โชว์ผลงานวิจัยเด่น พร้อมเปิดเวทีกู้ชื่อข้าวไทยการันตียังขึ้นแท่นอันดับหนึ่งของโลก
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดการประชุมข้าวนานาชาติ ปี 2557 ว่า นับเป็นโอกาสที่ดีและเป็นเกียรติของยิ่งสำหรับประเทศไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพร่วมกับสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ หรืออีรี่ ในการจัดงานประชุมข้าวนานาชาติ ในปี 2557 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อหลัก คือ ข้าวเพื่อโลก (Rice For The World) โดยกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2557 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักจัดงานครั้งนี้ จึงได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเช่น กรมการข้าว มูลนิธิข้าวไทย และหน่วยงานที่สนับสนุนด้านงานวิจัยเข้าร่วม ได้แก่ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ในการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมครั้งนี้ โดยเฉพาะการนำเสนอผลงานวิจัยเรื่องข้าวที่เป็นนวตกรรมใหม่ๆ และหรือผลงานวิจัยเชิงการค้าสินค้าเฉพาะกลุ่มหรือนิชมาร์เก็ต
สำหรับกิจกรรมหลักในการประชุมข้าวนานาชาติ ในปี 2557 จะประกอบด้วย 4 ส่วนหลักด้วยกัน ได้แก่ 1.การประชุมสภาความร่วมมือการวิจัยข้าวแห่งเอเชีย 2.การประชุมวิชาการข้าวนานาชาติ ครั้งที่ 29 3.การจัดแสดงนิทรรศการ นวัตกรรมสินค้าและเทคโนโลยีด้านข้าว และ 4.การดูงานภาคสนาม โดยคาดว่าการประชุมครั้งนี้จะมีผู้เกี่ยวข้องในวงการข้าวทั้งในประเทศและระดับโลกเข้าร่วมงาน อาทิ นักวิจัย นักวิชาการ บุคลากรสถาบันการศึกษา ผู้แทนภาคเอกชน ผู้ประกอบการ รวมทั้งผู้ส่งออกและนำเข้าข้าวจากทั่วโลกเข้าร่วมงาน รวมประมาณ 1,500 คน
“การจัดการประชุมข้าวนานาชาติ ปี 2557 หรือ International Rice Congress 2014 : IRC 2014) ครั้งที่ 4 ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพร่วมกับสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ถือเป็นการประชุมของหน่วยงานด้านข้าวที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นเวทีหารือประเด็นหลักด้านข้าวในระดับภูมิภาคเอเชียและนานาชาติ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือ สร้างเครือข่ายในงานวิจัย ทั้งยังเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์คุณภาพมาตรฐานและเอกลักษณ์ของข้าวไทยที่ยังคงความเป็นหนึ่งของโลกด้วย และยังเป็นการยืนยันถึงบทบาทของประเทศไทยที่จะยังคงผลักดันความร่วมมือด้านข้าวทั้งด้านวิชาการ สังคม เศรษฐกิจ และการค้าระหว่างประเทศสมาชิก ขณะเดียวกัน ผู้เกี่ยวข้องกับข้าวในประเทศไทยยังจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับข้าวในระดับสากลทั้งในด้านการวิจัย การผลิตข้าว และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก่อให้เกิดเครือข่ายพัฒนาข้าวระหว่างประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนรวมทั้งเป็นการส่งเสริมการนำเข้าและส่งออกข้าว และเครื่องมือเครื่องจักรทางการเกษตรของประเทศไทยอีกด้วย” นายยุคล กล่าว