กรุงเทพ--27 เม.ย.--สพช.
กลุ่มอนุรักษ์กินอยู่อย่างไทย ร่วมกับ มูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ เตรียมจัดงาน “แต่งอย่างไร ช่วยไทยคลายร้อน” หวังกระตุ้นประชาชนหันมาใช้ผ้าไทย เพื่อสร้างเอกลักษณ์ไทย และสนองนโยบายของภาครัฐบาล
อาจารย์ เผ่าทอง ทองเจือ หนึ่งในแกนนำกลุ่มอนุรักษ์กินอยู่อย่างไทย เปิดเผยว่า จากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่คนไทยทุกคนต้องตระหนักถึงการประหยัด และส่งเสริมการใช้สินค้าไทยเพื่อออมเงินตราในประเทศ ตลอดจนการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ซึ่งการใช้เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับภาวะอากาศก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยประหยัดพลังงานได้ ซึ่งทั้งการวิจัยด้านวิชาการ และจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เห็นว่าการแต่งกายด้วยผ้าเส้นใยธรรมชาติ จะช่วยให้ผู้ใส่สบาย ทั้งยังช่วยลดพลังงานสิ้นเปลืองอื่นๆ และช่วยกระจายรายได้สู่ชนบทอีกด้วย
ดังนั้นทางกลุ่มอนุรักษ์กินอยู่อย่างไทย จึงได้มีแนวคิดที่จะรณรงค์เรื่องการใช้เสื้อผ้าให้เข้ากับภาวะอากาศของประเทศ เป็นส่วนหนึ่งที่จะกระตุ้นให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจต่อการใช้ผ้าไทย ตลอดจนสร้างความภาคภูมิใจต่อการนิยมใช้สินค้าไทยอันจะส่งผลต่อการส่งเสริมอาชีพ การหมุนเวียนเงินตราในประเทศ ตลอดจนการเสริมสร้างการประหยัด ซึ่งประชาชนอาจคาดไม่ถึงว่าการใช้เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับภาวะอากาศ มีส่วนช่วยประหยัดพลังงาน และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นจากขั้นตอนการผลิต และการดูแลรักษา
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มผู้อนุรักษ์ผ้าไทย จึงรวมตัวกันจัดตั้งชมรมอนุรักษ์ไทยกินอยู่อย่างไทยขึ้นมา โดยร่วมกับบุคคลหลายกลุ่มที่เล็งเห็นความสำคัญของการใช้ผ้าไทย และส่งเสริมให้คนไทยประหยัดพลังงาน อาทิ คุณศุภลักษณ์ ตันฑาภิชาติ และคุณเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ โดยกำหนดจัดงาน “แต่งอย่างไร ช่วยไทยคลายร้อน” ขึ้น โดยได้รับความร่วมมือ ข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับการสวมใส่เสื้อผ้า และการดูแลรักษาผ้าที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อการประหยัดพลังงานจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) และได้รับความร่วมมือด้านสถานที่จัดงาน ณ วังสวนผักกาด จากมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ เนื่องจากเห็นว่างานนี้เป็นประโยชน์ต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งตรงกับนโยบายของมูลนิธิฯ ที่ให้ความสำคัญงานด้านศิลปวัฒนธรรม และสังคม
สำหรับรูปแบบการจัดงานจะเป็นการแสดงแฟชั่นเสื้อผ้าไทย โดยคุณนภาจรี สวนเดือนฉาย จากร้านแพร เน้นการออกแบบที่สามารถใช้ได้หลายโอกาสทั้งชุดออกงาน ชุดทำงาน และชุดลำลอง นอกจากนั้นจะแสดงให้เห็นว่าผ้าเก่าก็สามารถนำมาดัดแปลงให้ใช้งานใหม่ได้ ซึ่งเป็นการใช้ผ้าให้คุ้มค่าเข้ากับยุคสมัย ซึ่งเป็นผ้าผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ และใช้สีย้อมธรรมชาติ การดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อาทิ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ซึ่งหากเปรียบกับผ้านำเข้าจากต่างประเทศต้องมีภาระในการดูแลรักษา เช่น การส่งซักแห้ง ซึ่งน้ำยาซักแห้งมีส่วนผสมของสารซีเอฟซี ทำให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง ซึ่งผู้ที่ไม่เคยใช้ผ้าไทยบางคนอาจมองภาพพจน์ของการใช้ผ้าไทยผิดไป ซึ่งในงานนี้จะทำให้เข้าใจการใช้ผ้าไทยที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น
อาจารย์เผ่าทอง กล่าวต่อไปอีกว่า ภายในงาน จะเชิญ นายมีชัย แต้สุจริยา ซึ่งเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องผ้าไทย มาให้คำแนะนำการดูแลผ้าไทยให้คงสภาพและง่ายโดยไม่เปลืองน้ำ และไฟฟ้า พร้อมการสาธิต เพื่อให้เกิดรูปธรรมที่จับต้องได้ ซึ่งจะเป็นการร่วมมือช่วยบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจ ตลอดจนการร่วมใจแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน นอกจากนั้น จะมีนายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ช่างวาดรูปคนดัง จะขึ้นเวทีแสดงความคิดเห็นต่อการใช้ผ้าไทยในฐานะที่ได้ใช้ผ้าไทยอยู่เป็นกิจวัตร
ส่วนด้านการตกแต่งสถานที่โดย อ.เผ่าทอง ทองเจือ เน้นการตบแต่งสถานที่ด้วยวัสดุ จากธรรมชาติ และไม่รบกวนสิ่งแวดล้อม บรรยากาศโดยรอบประดับด้วยแสงไฟจากไต้ ตะเกียง คบเพลิง ใช้ฟอร์ไลสปอตเมื่อมีการแสดงดนตรีและแสดงแบบผ้าไทย
ซึ่งจุดเด่นของงานนอกจากการแสดงให้เห็นความงามของผ้าไทยแล้ว ยังเป็นงานต้นแบบที่จะเป็นตัวอย่างสำหรับการจัดงานในยุคไอเอ็มเอฟ โดยเน้นการจัดตกแต่งสถานที่ที่ประหยัดพลังงานและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยจะนำต้นไม้ ผักและผลไม้สดตามฤดูกาลมาใช้ในการตกแต่งแทนดอกไม้ นอกจากนั้นจะนำผักและผลไม้ต่างๆ ที่จัดติดเบอร์จับฉลากให้แขกที่มาในงานนำกลับบ้าน เพื่อการใช้ประโยชน์ที่คุ้มค่า แม้กระทั่งโต๊ะวางอาหารตบแต่งด้วยผ้าพื้นเมือง เป็นการนำของที่มีอยู่มาใช้ให้เป็นประโยชน์และไม่สิ้นเปลือง ด้านอาหารเป็นอาหารว่างแบบไทย 4 ภาค ที่เป็นเอกลักษณ์ประจำภาค ส่วนเครื่องดื่ม การนำผลิตภัณฑ์จากโครงการของสพช. มาใช้ประกอบในงาน อาทิ แท่งเชื้อเพลิงเขียวแทนถ่านในการจุดไฟไล่ยุง นำเตาทองประหยัดพลังงานมาใช้ในการอุ่นอาหาร
เป้าหมายจากการจัดงานในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญและหันมาใช้ผ้าไทยแล้ว ยังนำไปสู่การรู้จักใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า และไม่รบกวนธรรมชาติ ซึ่งสามารถเป็นต้นแบบงานที่ดีที่ให้ความรู้เรื่องการประหยัดพลังงาน ทั้งด้านการแต่งกายและการตกแต่งสถานที่ เพื่อนำไปเป็นแนวคิดและใช้ประโยชน์ต่อไป
สอบถามเพิ่มเติมที่ อัจฉรา-กัญญารัตน์-ชลนัท บริษัท คิธ แอนด์ คิน ฯจำกัด โทร. 663-3226-9 แฟกซ์. 259-8943--จบ--