กรุงเทพฯ--14 เม.ย.--กรมทางหลวง
นายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง เผย 10 จุดบนทางหลวงทั่วประเทศ ที่กรมทางหลวงขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2557 เนื่องจากกรณีการเกิดอุบัติเหตุบนทางหลวงในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยจากสถิติข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุบนทางหลวงในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่านมา ( ปี 2550-2556 ) พบว่า สาเหตุสำคัญ ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนทางหลวง คือ การขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ( 49.78 % ) การตัดหน้ากระชั้นชิด (13.64 %) เมาสุราในการระหว่างการเดินทาง (10.93 % ) และสาเหตุอื่น ๆ (25.65 %) สำหรับเส้นทางที่กรมทางหลวงขอให้ประชาชนระมัดระวังในการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ เนื่องจากสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุบนทางหลวงข้างต้น ประกอบด้วย 10 เส้นทางดังนี้
1.ทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงประตูน้ำพระอินทร์-หนองแค (กม.60-67 ) อ.วังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นทางตรง 10-12 ช่องจราจร (รวมทางขนานฝั่งละ 2 ช่องจราจร ) บริเวณนี้ปริมาณการจราจรสูง และรถขนาดใหญ่วิ่งเป็นจำนวนมาก บางครั้งรถขนาดใหญ่ใช้ความเร็วสูงเกินกฎหมายกำหนด เกิดการตัดหน้ากระชั้นชิดบริเวณจุดเปิดเกาะกลาง
2.ทางหลวงหมายเลข 2 ช่วงหน้าค่ายเพชรรัตน์ (กม.24-34) จังหวัดสระบุรี เนื่องจากเป็นเส้นทางหลักที่มุ่งหน้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นเส้นทางที่ตัดผ่านภูเขา มีโค้งหลายโค้งต่อเนื่องกัน และเป็นทางลาดชันลงเขา
3.ทางหลวงหมายเลข 12 ช่วงเขาพะวอ (กม.23-30) และดอยรวก (กม.64-70) จังหวัดตาก ทั้ง 2 ช่วงเป็นทางที่ตัดผ่านภูเขาที่มีความคดเคี้ยว และลาดชัน รวมทั้งสภาพเป็นป่ารกทึบ ประกอบกับเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งไปยังประเทศพม่า ทำให้บริเวณดังกล่าวมีปริมาณการจราจรมาก
4.ทางหลวงหมายเลข 12 ช่วงสะพานพ่อขุนผาเมือง ( กม.347 -375) จังหวัดเพชรบูรณ์ บริเวณนี้เป็นทางลงเขาลาดชัน ยาวประมาณ 3 กม. เป็นทางโค้งรูปตัวเอส (S) ต่อเชื่อมกับสะพานคอนกรีต ข้ามทางระหว่างเขา ถนน 2 ช่องจราจร สะพานอยู่ระหว่างโค้ง (โค้งมีรัศมี 200 เมตร) ช่วงบริเวณสะพานเป็นเหวลึกกว่า 50 เมตร
5.ทางหลวงหมายเลข 32 ช่วงอำเภอพรหมบุรี (กม.77– 82 ) จังหวัดสิงห์บุรี เนื่องจากเป็นถนนทางตรง ขนาด 6 ช่องจราจร มีจุดเปิดเกาะกลางกลับรถรอเลี้ยว ที่ กม.77+500, 78+000, 78+600, 80+340 และรถมักวิ่งด้วยความเร็วสูง หรือประชาชนอ่อนเพลียจากการขับรถเป็นระยะทางไกล ผู้ขับขี่หลับใน รวมถึงมีการตัดหน้ากระชั้นชิด
6.ทางหลวงหมายเลข 35 บริเวณสะพานแม่น้ำท่าจีน (กม.28 – 32) จังหวัดสมุทรสาคร เป็นเส้นทางเข้าเมืองสมุทรสาคร และไปอำเภอกระทุ่มแบน เป็นย่านชุมชน และโรงงานอุตสาหกรรม มีปริมาณการจราจรสูงและรถใช้ความเร็วสูง ประกอบกับเป็นทางโค้งและมีจุดเข้าออกทางขนานหลายแห่ง อีกทั้งรถจักรยานยนต์มักจะวิ่งย้อนศรบนสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน
7.ทางหลวงหมายเลข 304 ช่วงอุทยานทับลาน (กม.42 - 45) จังหวัดปราจีนบุรี เป็นเส้นทางที่ตัดผ่านภูเขาที่มีความคดเคี้ยวและลาดชัน มีรถบรรทุกหนักจำนวนมากวิ่งผ่าน ซึ่งรถเหล่านี้จะเคลื่อนตัวได้ช้าเมื่อวิ่งขึ้นเขา จึงเกิดการแซงกันของรถขนาดเล็กในระยะคับขัน ขณะเดียวกันรถบรรทุกและรถสัญจรโดยส่วนใหญ่ขณะขับลงเขามักจะใช้ความเร็วเกินกำหนด เมื่อมีสถานการณ์เฉพาะหน้าคับขัน จะทำให้การควบคุมรถเป็นไปด้วยความยากลำบาก
8.ทางหลวงหมายเลข 225 ช่วงทางลงเขาพังเหย (กม.181– 185) จังหวัดชัยภูมิ บริเวณนี้เป็นทางโค้ง และเป็นทางลาดชันสูง
9. ทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงโค้งหนองหญ้าปล้อง (กม.365+013 – 365+113) และช่วงโค้งสายเพชร (กม.389+700-390+000 ) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นถนนสายหลักลงสู่ภาคใต้ เป็นทางโค้งต่อเนื่อง และมีจุดกลับรถอยู่ในบริเวณใกล้เคียง รถสัญจรด้วยความเร็วสูง
10. ทางหลวงหมายเลข 4197 ช่วงโค้งบางโสก (กม.5+400 – 8+680) จังหวัดพังงา เป็นทางโค้งลาดชันลงเนิน
นอกจาก 10 เส้นทางดังกล่าวข้างต้นแล้ว อธิบดีกรมทางหลวง ยังกล่าวต่อว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มักพบว่าช่วงวันแรกๆ ของการเดินทางปริมาณรถจะหนาแน่นในฝั่งขาออก แต่ถนนจะโล่งในฝั่งขาเข้า และในทางกลับกัน เมื่อประชาชนเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ ปริมาณรถจะหนาแน่นในฝั่งขาเข้า รถจะโล่งในฝั่งขาออก ทำให้รถจะวิ่งด้วยความเร็วสูง เพราะถนนโล่ง เพื่อความปลอดภัยของประชาชน กรมทางหลวงจึงได้ประสานงานตำรวจทางหลวง ตำรวจภูธรในพื้นที่ ตั้งจุดสกัดบนทางหลวง พร้อมขอให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนระมัดระวังการเดินทางด้วย
สำหรับมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาการจราจร ใน 10 จุดข้างต้น กรมทางหลวงได้เตรียมพร้อมเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยได้ดำเนินการ ดังนี้
1.ติดตั้งกล้องวงจรปิดแบบเคลื่อนที่ (Mobile CCTV) ในบริเวณที่มีปริมาณการจราจรมาก เพื่อรายงานสภาพการจราจร Online แบบ Real time และเพื่อสามารถเข้าไปบริหารจัดการการจราจรได้อย่างทันท่วงที
2. ติดตั้ง พร้อมตรวจสอบ อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยต่างๆ ให้พร้อมใช้งาน เช่น หลักนำโค้งสะท้อนแสง ปุ่มสะท้อนแสงแบบหมุดลูกแก้ว 360 องศา ป้ายเตือน สีตีเส้นจราจร ป้ายนำทาง ป้ายบังคับ พร้อมป้ายแนะนำเส้นทาง
3.ดูแลสัญญาณไฟจราจร ไฟกระพริบ ไฟส่องทาง ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
4.จัดให้มีจุดบริการประชาชน 200 จุด (เต้นท์สีเหลือง ) ทั่วประเทศ พร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวก เพื่อให้บริการประชาชนพักรถ พักผ่อนอิริยาบถ ก่อนการเดินทาง
5.ตัดแต่งกิ่งไม้ พุ่มไม้ วัชพืช ไม้เล็ก ทั้งสองข้างทางโดยเฉพาะบริเวณทางโค้ง เพื่อเพิ่มทัศนวิสัยในการเดินทาง
6.จัดเจ้าหน้าที่พร้อมยานพาหนะ เพื่อให้บริการประชาชน
7. ประสานงานตำรวจทางหลวง ตำรวจภูธรในพื้นที่ ตั้งจุดสกัดบนทางหลวง เพื่อบังคับใช้กฎหมายของผู้ขับขี่เกินกว่ากฎหมายกำหนด
8.ขอความร่วมมือบริษัทผู้รับเหมาหยุดงานก่อสร้างทุกสาย ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ( 10-17 เมษายน 2557 ) เพื่อคืนผิวจราจรให้กับประชาชน
9.ประสานกรมการขนส่งทางบก และบริษัทขนส่ง จำกัด ในการแจ้งเตือนผู้ขับรถโดยสารและรถบรรทุกให้ระมัดระวังในการเดินทางบนทางหลวง ในช่วงเส้นทางที่มีความลาดชันเกิน 7 % และที่เป็นทางโค้งต่อเนื่องระยะทางยาวกว่า 3 กิโลเมตรเป็นต้นไป และขอความร่วมมือให้หยุดวิ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์
นายชัชวาลย์ฯ กล่าวในตอนท้ายว่าอีกว่า ที่ผ่านมากรมทางหลวงไม่ได้นิ่งนอนใจในการดูแลรักษาทางหลวง ได้แก้ไขปรับปรุงเส้นทาง และเพิ่มและตรวจสอบอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยต่าง ๆ ให้มีความพร้อมอยู่ตลอดเวลา จึงขอให้ประชาชนผู้ใช้ทางศึกษาเส้นทางก่อนการออกเดินทาง ขับขี่ด้วยความระมัดระวัง พักผ่อนให้เพียงพอ และหากรู้สึกง่วงขณะขับรถให้จอดแวะพักในจุดบริการของกรมทางหลวง รวมทั้งต้องไม่ขับขี่ขณะมึนเมา และที่สำคัญขอให้เคารพกฎจราจร กฎหมายอย่างเคร่งครัด หรือหากมีปัญหาในการเดินทาง โทรสอบถามได้ที่สายด่วน 1586 กรมทางหลวงฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง