กรุงเทพฯ--14 เม.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2557 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 11 เม.ย. 57 ซึ่งเป็นวันแรกของการรณรงค์ “ร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย สงกรานต์ทั่วไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 379 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 39 ราย ผู้บาดเจ็บ 402 คน ย้ำจังหวัดดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน บังคับใช้กฎหมายจราจรใน 10 มาตรการหลัก คุมเข้มรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทให้มีมาตรฐานความปลอดภัย ควบคู่กับการจัดโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดภัยและปลอดจากเครื่องดื่มแอลกฮอล์ รวมถึงรณรงค์การเล่นน้ำอย่างสุภาพและปลอดภัยตามขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อให้เทศกาลสงกรานต์เป็นเทศกาลแห่งความสุขและความปลอดภัยของคนไทย
นายธีระพงศ์ รอดประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ประธานแถลงข่าวสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2557 ประจำวันที่ 12 เมษายน 2557 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2557 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 11 เมษายน 2557 ซึ่งเป็นวันแรกของการรณรงค์ “ร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย สงกรานต์ทั่วไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 379 ครั้ง (ปี 2556 เกิด 326 ครั้ง) เพิ่มขึ้น 53 ครั้ง ร้อยละ 16.26 ผู้เสียชีวิต 39 ราย เท่ากับจำนวนผู้เสียชีวิตปี 2556 ผู้บาดเจ็บ 402 คน (ปี 2556 บาดเจ็บ 342 คน) เพิ่มขึ้น 60 คน ร้อยละ 17.54 สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 30.61 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 21.64 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.00 รถปิคอัพ ร้อยละ 8.50 พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 24.04 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 62.53 บนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 37.73 ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 37.47 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 38.52 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน (อายุ 20 – 49 ปี) ร้อยละ 52.83 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,268 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 64,985 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 546,744 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรการลดพฤติกรรมเสี่ยง 10 มาตรการ รวม 75,630 ราย โดยมีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 23,265 ราย รองลงมา ไม่สวมหมวกนิรภัย 21,601 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 17 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 4 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ แพร่ 19 คน มีจังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุ 9 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ นครนายก ปทุมธานี แม่ฮ่องสอน ระยอง สุโขทัย หนองคาย และกรุงเทพฯ จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) รวม 48 จังหวัด
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกของวันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ คาดว่าประชาชนจำนวนมากจะทยอยเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนา ทำให้ถนนสายหลักมีปริมาณรถหนาแน่น ศปถ.จึงได้เน้นย้ำจังหวัดกำชับเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนเป็นพิเศษ เน้นหนักถนนสายหลัก โดยจัดตั้งจุดตรวจบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะ 10 มาตรการสำคัญที่เป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุ อาทิ ขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ขับรถย้อนศร ไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย ควบคู่กับการจัดจุดบริการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน พร้อมคุมเข้มรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทให้มีมาตรฐานความปลอดภัย พนักงานขับรถมีระดับแอลกอฮอล์เป็น “ศูนย์” ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายควบคุมการเข้าถึงและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนยานพาหนะและในขณะขับขี่หรือโดยสารรถ อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ นอกจากนี้ ในวันพรุ่งนี้ (วันที่ 13 เม.ย.57) ประชาชนจะเดินทางถึงแหล่งท่องเที่ยวและภูมิลำเนาแล้ว ประกอบกับหลายพื้นที่มีการเล่นน้ำสงกรานต์ ขอให้จังหวัด อำเภอปรับแผนการจัดตั้งจุดตรวจให้สอดคล้อง โดยให้ความสำคัญกับถนนสายรองควบคู่กันไปด้วย พร้อมทั้งพิจารณาจัดโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่ปลอดภัยและปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท พร้อมรณรงค์การเล่นน้ำอย่างสุภาพและปลอดภัยตามขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนสนธิกำลังอาสาสมัครปฏิบัติงานประจำจุดตรวจจุดบริการบริเวณเส้นทางเข้าออกและโดยรอบพื้นที่เล่นน้ำ เข้มงวดรถจักรยานยนต์ รถกระบะที่เล่นน้ำในลักษณะเสี่ยงอันตราย รวมถึงกวดขันมิให้มีการเล่นน้ำในลักษณะรุนแรงและสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ทั้งนี้ เพื่อให้เทศกาลสงกรานต์เป็นเทศกาลแห่งความสุขและความปลอดภัย