กรุงเทพฯ--14 เม.ย.--สถาบันอาหาร
สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม โดยศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร ได้จัดทำรายงานพฤติกรรมผู้บริโภค AEC เรื่อง “พฤติกรรมและอำนาจซื้อที่กำลังเปลี่ยนแปลงของเวียดนาม” พบว่ามีการคาดการณ์โดยบริษัท Boston consulting group สาขาเวียดนาม ว่าระหว่างปี 2556 – 2563 ชนชั้นกลางและคนที่ร่ำรวยในเวียดนามจะเพิ่มขึ้นจาก 12 ล้านคน เป็น 33 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมดกว่า 90 ล้านคน ผลการสำรวจดังกล่าวระบุว่าผู้บริโภคชนชั้นกลางกลุ่มนี้ซึ่งมีรายได้ต่อเดือน 15 ล้านด่องขึ้นไป หรือราว 21,327 บาท ไม่ได้เพิ่มจำนวนขึ้นเท่านั้น แต่ยังกระจายตัวอาศัยอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศ นอกจากโฮจิมินห์และฮานอย ผลการศึกษาระบุด้วยว่า ภายในปี 2563 รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีของคนเวียดนามจะเพิ่มขึ้นจาก 1,400 ดอลล่าร์สหรัฐ เป็น 3,400 ดอลล่าร์สหรัฐ นอกจากนี้ผู้บริโภคชาวเวียดนามเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเติบโตมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มากกว่าชนชั้นกลางในจีน อินเดีย อินโดนีเซีย และประเทศตลาดเกิดใหม่เติบโตเร็วอื่นๆ
ผู้บริโภคกลุ่มนี้ราว 80% ซื้อของในห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ตในช่วงเทศกาลหรือโอกาสพิเศษเป็นอย่างน้อย แต่ตลาดแบบดั้งเดิมและค้าปลีกสมัยใหม่จะยังคงแข่งขันช่วงชิงลูกค้าอย่างต่อเนื่องไปได้อีกหลายปี ขณะเดียวกันผู้บริโภคมีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้าคุณภาพสูง ซึ่งเปิดโอกาสให้กับสินค้าแบรนด์ระดับ ไฮเอนด์หรือราคาแพง ทั้งนี้เศรษฐกิจเวียดนามมีการเติบโตอย่างโดดเด่นจากอัตราการเพิ่มของ GDP เฉลี่ย 7% ต่อปี การใช้จ่ายของประชาชนในประเทศเติบโตกว่า 20% ต่อปี และมีอัตราการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 19.5% หรือมีมูลค่าตลาดกว่า 95,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ
ตลาดสินค้าระดับกลางถึงระดับบน และตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยในเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ อาทิ กรุงฮานอย นครโฮจิมินห์ จังหวัด D Nai, Bih Du, Da Na, Hai Ph และ Ca Th ซึ่งผู้บริโภคมีกำลังซื้อค่อนข้างสูง และมีพฤติกรรมการใช้จ่ายแบบสังคมเมืองมากขึ้น
สำหรับสินค้าอาหารนั้น จากการสำรวจธุรกิจสมัยใหม่ในโฮจิมินห์และฮานอยโดยสถาบันอาหาร เมื่อเดือนมีนาคม 2557 ที่ผ่านมา พบว่าผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิดต่างมีการเสนอส่วนลด ของแถม เพิ่มปริมาณบรรจุ และการขายคู่ในราคาพิเศษในรูปแบบต่างๆ มากมาย ทั้งขนมขบเคี้ยว ผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่ม ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคชาวเวียดนามที่นิยมซื้อสินค้าที่มีส่วนลดและโปรโมชั่นต่างๆ
และจากการสำรวจความคิดเห็นนักธุรกิจไทยในเวียดนามได้ให้มุมมองว่าสินค้าอาหารของไทยในตลาดเวียดนามนั้นยังมีโอกาสอีกมาก เนื่องจากผู้บริโภคชาวเวียดนามมีความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าไทยอยู่แล้วเนื่องจากภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะผู้นำในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพและความปลอดภัยในระดับสากล ได้รับการยอมรับจากตลาดชั้นนำอย่างญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ซึ่งถือเป็นจุดแข็งและข้อได้เปรียบในการแนะนำสินค้าอาหารจากประเทศไทยเข้าสู่ตลาดเวียดนาม แต่ในระยะยาวเพื่อความสำเร็จและสามารถครองใจผู้บริโภคเวียดนามให้ได้นั้น ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภคให้มาก เพราะมีความแตกต่างจากผู้บริโภคในประเทศไทย นอกจากนี้ภาพลักษณ์ของสินค้าไทยบางอย่างเมื่อมาทำตลาดที่เวียดนามก็อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสมกับค่านิยมของผู้บริโภคเวียดนาม
นอกจากการแข่งขันด้านราคาและกลยุทธ์เรื่องการทำตลาดแต่ละช่วงเวลาแล้ว ยังต้องเร่งสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผู้ผลิตต้องมีความซื่อสัตย์และรักษาคุณภาพของสินค้าอย่างเสมอต้นเสมอปลาย เพื่อให้สินค้าอาหารของไทยไม่ต้องแข่งขันในสงครามราคาที่รุนแรงสอดคล้องกับงานวิจัยของ GFK ของเวียดนาม ซึ่งสำรวจผู้บริโภค 1,500 คน เผยแพร่เมื่อปลายปี 2556 พบว่าผู้บริโภคเวียดนามมีความระมัดระวังและพิถีพิถันในการเลือกซื้อสินค้ามากเช่นกัน โดย 55% จะใช้เวลาอย่างมากในการศึกษาและค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์สินค้ามาก่อนจะไปที่ร้านซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วโลกที่อยู่ที่ 43% และเมื่อผู้บริโภคไปถึงจุดขาย 62% จะอ่านฉลากอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจซื้อ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่อยู่ที่ 41% รวมทั้งประเด็นกรรมวิธีการผลิต และแหล่งผลิตของผลิตภัณฑ์ก็ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคถึง 68%
ความกังวลเรื่องความปลอดภัยอาหารและความมั่นคงอาหารกลายเป็นเรื่องที่คนเวียดนามให้ความ สำคัญอย่างมาก โดยมีมากถึง 75% และ 76% กังวลเรื่องสารปนเปื้อนในอาหารและเครื่องดื่ม และผู้บริโภค 90% ให้ความสนใจเรื่องอาหารและเครื่องดื่มที่มีสรรพคุณทางยาและเพื่อสุขภาพ โดยราว 67% มีความภักดีต่อแบรนด์มากขึ้น จะเลือกซื้อสินค้าเฉพาะแบรนด์ที่น่าเชื่อถือเท่านั้น ขณะที่ 60% ตอบว่าเป็นการดีกว่าที่จะซื้อจากแบรนด์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เพราะเชื่อได้ว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ