กรุงเทพฯ--14 เม.ย.--กระทรวงวัฒนธรรม
คนไทยส่วนใหญ่ทั้งในสังคมเมือง หรือชนบทก็ตาม คงเคยสัมผัสกับการบังคับโครงกระดาษที่ใช้กระแสลมเป็นตัวนำพา หรือ การเล่น “ว่าว” มาแล้ว ซึ่งปัจจุบันหลายคนอาจคิดว่าเป็นเพียงการละเล่นที่ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินเพียงเท่านั้น แต่ที่จริงแล้ว “ว่าวไทย” นั้น มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานโดยเฉพาะยุคแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การเล่นว่าวเป็นการละเล่นและกีฬาที่นิยมโดยเฉพาะรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสนับสนุนกีฬาเล่นว่าว มีการประกวดและแข่งขันว่าวจุฬาและว่าวปักเป้า โดยมีกติกาการแข่งขันเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้การแข่งขันยุติธรรมและสนุกสนาน โดยสถานที่เล่นว่าวที่เป็นที่รู้จักกันดีมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบันคือ ท้องสนามหลวงนั่นเอง
ดร.ปรีชา กันธิยะ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ในเวลาอันใกล้นี้ กระทรวงวัฒนธรรม จะจัดงาน “ใต้ร่มพระบารมี 232 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 21 เมษายน เพื่อรำลึกถึงวันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ในวันที่ 21 เมษายน 2325 ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธี ฝังเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ และทรงสถาปนาเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย โดยได้จัดงานและเฉลิมฉลอง วันคล้ายวันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ และเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ในวันที่ 2 เมษายน 2557 เพื่อให้พสกนิกรชาวไทยได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
นับเป็นโอกาสสำคัญที่ทุกคนจะได้เห็นประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่และครั้งแรกในประเทศไทยในงานดังกล่าว ที่จะมีการขึ้นว่าวพรวน 9,232 ตัว และว่าวงู จำนวน 999 ตัว ในท้องฟ้าท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นการขึ้นว่าวที่มากที่สุดในโลก สำหรับว่าวพรวน 1 ชุด จะประกอบไปด้วยว่าวตัวใหญ่ 1 ตัว ร้อยสายตัวเล็กอีก 40 ตัว ซึ่งตัวว่าวจะติดรูปที่เกี่ยวเนื่องกับรัตนโกสินทร์ เช่น ภาพเก่าวัดพระแก้ว เทียบกับภาพปัจจุบัน ภาพเก่าวัดอรุณราชวราราม กับปัจจุบัน ภาพภูเขาทองเก่า วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กับปัจจุบัน เป็นต้น และการขึ้นว่าวครั้งนี้จะใช้คนขึ้นว่าวประมาณ 400 คน อีกทั้งจะเปิดให้ประชาชนที่มาชมงานได้ร่วมขึ้นว่าวรูปหัวใจ "ทรงพระเจริญ" ในครั้งนี้อีกด้วย
นายปริญญา สุขชิต นักประดิษฐ์ว่าวไทย ได้กล่าวถึงหลักการแจกแจงการทำว่าว 9,232 ตัว ว่า ตนได้หลักคิดมาจาก เลข 9 หมายถึง เราอยู่ในยุคของรัชกาลที่ 9 ส่วนตัวเลข 232 หมายถึงปีของการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พร้อมกันนี้ ในช่วงของการจัดงาน ยังมีการจัดแข่งประกวดว่าวจุฬา ปักเป้า ในรูปแบบสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วย ซึ่งถือว่าว่าวคือเอกลักษณ์ คู่กับท้องสนามหลวง กรุงรัตนโกสินทร์ ที่ปัจจุบันนี้แทบไม่มีให้เห็นแล้ว
ดังนั้น ถือเป็นช่วงที่พลาดไม่ได้ที่คนไทยทุกคนจะได้ร่วมเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ และรับชมสุดยอดการขึ้นว่าวที่มากที่สุดในโลก สะท้อนความเป็นประวัติศาสตร์เต็มท้องนภาได้ที่ท้องสนามหลวง ในงาน “ใต้ร่มพระบารมี 232 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ระหว่างวันที่ 19 -21 เมษายน 2557