กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
เพราะการเรียนรู้มีอยู่ไม่สิ้นสุด และการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ก็เป็น “หัวใจ” สำคัญของการเรียนการสอนของ “ครูยุคใหม่” ที่นำเทคนิคการสอนนอกห้องเรียนและโครงงานมาใช้พัฒนาศักยภาพของลูกศิษย์และเกิดการ “ต่อยอด” สู่ชุมชนอื่น นั่นคือแนวคิดของ “ครูจรวยพรรณ เย่าเฉื้อง” จากโรงเรียนห้วยยอด จ.ตรัง ภายใต้ฐานคิดแบบนี้ที่ทำให้เกิด “กิจกรรมพี่สอนน้อง” ขึ้น ที่วัดห้วยม้าลอย ต.หนองสาหร่าย อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี
กิจกรรมพี่สอนน้องนำทีมโดยนางสาวทิพย์มณี มีจิตร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/5 โรงเรียนห้วยยอด มีเพื่อนร่วมห้องนำฐานการเรียนรู้ทั้งหมด 5 ฐานจากโครงงานวิชาภาษาไทย ได้แก่ โดนัทจิ๋วหิ้วมาสุพรรณ สอนให้น้องๆทำโดนัท,โครงงานโคหายในก้อนเมฆ สอนให้น้องๆ ทำขนมพื้นบ้านของจ.ตรัง,โครงงานกระดาษมหัศจรรย์ สอนให้น้องๆพับกระดาษแบบสร้างสรรค์,โครงงานดนตรีสดใสพาใจสร้างสรรค์ ให้น้องๆ ร่วมร้องเพลงเป็นการสร้างความบันเทิงและกล้าแสดงออกและโครงงานสุขหรรษาผ้ามัดย้อม สอนให้น้องๆ รู้จักการทำผ้ามัดย้อมโดยมีนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา-มัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนห้วยม้าลอยและโรงเรียนบ้านกวด จำนวนกว่า 50 คนมาร่วมเรียนรู้ บรรยากาศแต่ละกิจกรรมที่น้องๆ เวียนกันเรียนรู้จนครบฐาน ได้รับความสนุกสนานและความรู้มากมาย อาทิ การขูดมะพร้าวจากกระต่าย การปั้นแป้งเป็นลูกกลมๆ ใส่น้ำตาลโตนดและตักขนมที่สุกแล้วเฉพาะลูกที่ลอยขึ้นมาจากคำพี่ๆ บอกในการทำขนมโค,การผสมสีและการนำหนังยางมามัดผ้าเป็นรูปต่างๆที่ตัวเองต้องการ ลองหย่อนผ้าลงไปให้มีสีสัน เพื่อทำผ้ามัดย้อม,การลองตีแป้ง หยอดแป้งลงในเตาโดนัท, เด็กๆ ได้ลองทำและชิมขนมจากที่ตัวเองทำ,ได้พับกระดาษเป็นรูปต่างๆ ได้แสดงออกด้วยการร้องเพลงร่วมกันทำให้นักเรียนจากโรงเรียนห้วยม้าลอย พูดอย่างมั่นใจว่าจะนำฐานการเรียนรู้นี้ไปสอนให้กับเพื่อนๆ และรุ่นน้องได้แน่นอนในการจัดกิจกรรมซัมเมอร์แคมป์ของหมู่บ้านต่อไป “หนูคิดว่าหนูจะเอาโดนัทจิ๋วและขนมโคไปสอนเพื่อนๆ ค่ะ หนูว่าทำได้ง่ายและสนุกด้วยค่ะ” เด็กๆ สะท้อน
นางสาวทิพย์มณี ตัวแทนนักเรียนโรงเรียนห้วยยอดสะท้อนว่า “หนูรู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสนำสิ่งที่เราได้เรียนรู้จริงๆ มาสอนน้องๆ ค่ะ ที่เราเดินทางมาไกลถึงสุพรรณฯ เพราะคิดว่านอกจากได้ใช้ความรู้ที่เราได้เรียนมาบอกต่อน้องๆ แล้ว ยังได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันอีกด้วยค่ะ”
สำหรับครูจรวยพรรณ เย่าเฉื้อง ครูสอนภาษาไทย ที่เป็นครูแกนนำในครั้งนี้ เล่าที่ไปที่มาของการจัดกิจกรรมว่า “การเรียนรู้ในปัจจุบันที่ตัวเองนำมาใช้ก็คือการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 นอกจากเขาจะเรียนรู้ในห้องเรียนแล้ว สิ่งหนึ่งก็คือเขาจะต้องไปเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วย เพราะเรามองว่าการเรียนรู้ในห้องเรียนเขาไม่สามารถเรียนรู้ได้ทุกเรื่อง ก็เลยคิดว่าจะใช้วิชาภาษาไทยที่สามารถเป็นสื่อไปเรียนรู้นอกห้องเรียนหรือไปเชื่อมกับวิชาอื่นๆและกับสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ และเราก็ใช้การสอนแบบ PLC หรือชุมชมแห่งการเรียนรู้ (PLC -Professional Learning Community) คือนักเรียนต้องเรียนรู้กับเพื่อนในห้องเรียน และต้องไปเรียนรู้กับคนในชุมชน และกลับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอีกในห้องเรียน เราก็มองว่าถ้าเขาเรียนรู้อยู่แค่นี้ก็จบเพียงแค่ตัวเขาเอง ก็จบเพียงแค่นี้ ก็คิดว่าเขาน่าจะเอาความรู้ไป “ต่อยอด” ให้กับคนอื่นได้อีก คือการเล่าให้คนอื่นฟัง คิดว่าคนที่ดีที่สุดน่าจะเป็นรุ่นน้องเพราะว่าเขาไปสอนผู้ใหญ่ก็น่าจะไม่ใช่ ก็เลยจัดกิจกรรมแบบให้เขาเอาสิ่งที่เขาเรียนรู้ไปเล่าให้กับน้องแบบเรียนปนเล่น
ที่เลือกที่โรงเรียนห้วยม้าลอยก็เพราะว่าโรงเรียนนี้มีโครงการที่เราเคยทำ KM (การจัดการความรู้ หรือ Knowledge Management) ที่เข้าอบรมกับ อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ (ผู้อำนวยการสรส. (สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข) ท่านก็เปรยว่าท่านมีศูนย์อยู่ที่ห้วยม้าลอยที่จัดการดูแลเด็กที่มีวัด มีอบต. มีอนามัยที่ร่วมมือกัน ท่านก็คุยว่าถ้ามีโครงการให้นักเรียนห้วยยอดมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะดีไหม เราก็คิดว่ามันน่าจะดีนอกจากเด็กจะเรียนรู้ต่อในจังหวัด โรงเรียนของตัวเองแล้วยัง “ต่อยอด” ไปที่ชุมชนอี่นอีกด้วย นอกจากเกิดทักษะวิชาการเรียนรู้ในชุมชนแล้ว ยังเกิดทักษะชีวิต ทักษะการแก้ปัญหา เป็นการเตรียมให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ที่เลือกเด็กเก่งห้องนี้มาทำกิจกรรม เพราะหนึ่งเราเป็นครูที่ปรึกษา และสองเรามีความคิดส่วนตัวกับเด็กเก่งว่า เด็กที่มาเป็นเด็กห้องเก่ง มักเห็นแก่ตัว ไม่แบ่งความรู้ให้คนอื่น เราก็เลยอยากจะปลูกฝังความคิดให้เด็กๆ ว่า ความเป็นคนเก่งหาความรู้ได้แต่ความดีต้องสร้างเอง จึงค่อยๆ ใช้กิจกรรมที่จัดมาเป็นตัวเปลี่ยนแปลงความคิดแบบนั้นของเขา เขาต้องไปเรียนรู้กับคนอื่น ต้องไปเรียนรู้กับคนข้างนอก เขาได้ความรู้มาเพราะความแบ่งปันจากคนอื่น จากที่เห็นเขาค่อยๆ เปลี่ยน เพราะเราใช้กระบวนการกลุ่มเกิดการแบ่งปัน อย่างเช่นเด็กที่มาทำกระป๋องออมสินใช้เวลาเยอะ โดนัทจิ๋วก็ต้องใช้เวลาไปเรียน ถ้าเป็นเด็กเก่งส่วนใหญ่ก็คิดว่าจะใช้เวลาอ่านหนังสือดีกว่ามาทำกิจกรรมทำไม แต่เด็กกลุ่มนี้ยอมทำ ก็ทำให้เขาเปลี่ยนได้ ครูมีความคิดว่าจะเปลี่ยนเด็กเก่งให้เป็นเด็กดีและมีความสุข ด้วย สำหรับวันนี้เห็นเด็กๆ จัดกิจกรรมเองก็ชื่นใจ ไม่นึกว่าเด็กวิทยาศาสตร์เขาจะสนุกได้ขนาดนี้ หวังผลสิ่งที่เขาจะทำในวันนี้เขาจะสามารถนำไปเชื่อมกับชีวิตในอนาคตได้ อยากที่จะให้เขาอยู่กับคนอื่นๆ ได้ จากภาคใต้มาถึงสุพรรณฯ เหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เรียนรู้วิถีชีวิตคนที่นี่และไปเปรียบเทียบกับชุมชน และพาให้ของเราเป็นแบบนี้ได้ไหม” สำหรับโรงเรียนห้วยยอด มีครูสุทธิรัตน์ เสนีชัย และครูนฤมล เจษฏารมย์ ร่วมเดินทางมาด้วย
สำหรับผู้ใหญ่ใจดีจากอบต.หนองสาหร่าย ได้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น อาทิ พระอธิการประเสริฐ ศิริปุญโญ(พระอาจารย์โส) เจ้าอาวาสวัดห้วยม้าลอย,นายพรสันต์ อยู่เย็น นายกอบต.หนองสาหร่าย,นายสวัสดิ์ กันจรัตน์ ปลัด อบต.หนองสาหร่าย,นายมีชัย ศิลปรัตน์ อดีต ผอ.ร.ร.บ้านห้วยม้าลอย/นายมงคล จินตนประเสริฐ ผอ.ร.ร.วัดบ้านกรวด/นายเตียง ชมชื่น ส.อบต. หมู่ 4 (ครูใหญ่โรงเรียนครอบครัวบ้านห้วยม้าลอย),นายประดับ คงใจดี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 บ้านกรวด
สำหรับกิจกรรมพี่สอนน้องในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการเชื่อมกันระหว่าง 2 โครงการ ได้แก่โครงการพัฒนาเยาวชนโดยการเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเชื่อมกับพื้นที่ของโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน ที่ดำเนินการโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) นับว่าเป็นกิจกรรมที่สร้างการเรียนรู้แบบลงมือทำจริงของเยาวชน และทำให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมากมายอย่างแท้จริง