กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--Global Creation
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดโครงการการพัฒนาอุตสาหกรรม มุ่งใช้เป็นเครื่องชี้วัดประเมินผลการพัฒนาอุตสาหกรรมครอบคลุม 4 มิติ ได้แก่ มิติการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ, มิติด้านสิ่งแวดล้อม, มิติด้านคุณภาพทางสังคม และมิติด้านทุนมนุษย์ รวมทั้งภาพรวมอุตสาหกรรมรายสาขาและใช้เป็นแนวทางสนับสนุนการพัฒนาของอุตสาหกรรมเชิงนโยบายให้เหมาะสมอย่างยั่งยืน
ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ. ได้มอบหมายให้ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการประเมินผลการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อจัดทำตัวชี้วัดและระบบประเมินผลนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินผลการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ทั้งในระดับภาพรวม ระดับสาขาอุตสาหกรรมและระดับพื้นที่ เพื่อนำผลการประเมินไปใช้กำหนดแนวนโยบายที่สามารถผลักดันไปสู่การปฏิบัติในการส่งเสริมหรือแก้ไข เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมมีการพัฒนา ได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะประกอบด้วย 4 มิติ คือ 1) มิติด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หมายถึง การสร้างการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพในการผลิต และการพัฒนาไปสู่รูปแบบการเชื่อมโยง การผลิตแบบห่วงโซ่อุปทาน เชื่อมโยงการผลิตการตลาดระหว่างประเทศ โดยสร้างรูปแบบการเข้าถึงตลาดใหม่ 2) มิติด้านการใช้ศักยภาพของทุนมนุษย์ หมายถึง การใช้ภูมิปัญญาเพื่อสร้างให้เกิดนวัตกรรมและมูลค่าเพิ่ม เป็นการสร้างการเติบโตจากฐานของภูมิปัญญา ความรู้ นวัตกรรม ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน 3) มิติด้านสังคมการเป็นอยู่ที่ดี หมายถึง การพัฒนาและสร้างเครือข่ายการผลิตเชื่อมโยงกับชุมชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น รวมถึงการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม และ 4) มิติด้านสิ่งแวดล้อม หมายถึง การส่งเสริมให้เกิดความตระหนักในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อกำกับภาคการผลิต มิให้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นแนวทางสำหรับการดำเนินการสนับสนุนการพัฒนาของอุตสาหกรรมรายสาขาในเชิงนโยบายให้มีความเหมาะสมต่อไป
ดร.สมชาย หาญหิรัญ กล่าวอีกว่า สำหรับการพัฒนาตัวชี้วัดต่างๆ มุ่งเน้นเฉพาะการชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเป็นหลักแต่ผลที่ตามมาของการเจริญเติบโตทางด้านอุตสาหกรรมนั้น ยังมีอีกหลายมิติที่เกี่ยวข้อง และในปัจจุบัน ก็เริ่มจะเห็นถึงผลกระทบในด้านต่างๆ ที่ตามมาชัดเจนขึ้น
ดังนั้น การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมจึงควรมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้เกิดโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศที่มีความสมดุลกันในทุกด้าน ก่อนอื่นคงต้องเริ่มจากการจัดทำระบบการประเมินเพื่อวัดระดับการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถสะท้อนการพัฒนาของอุตสาหกรรมได้อย่างครอบคลุมและครบถ้วน และนำไปสู่การวางแนวทางเชิงนโยบายสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างเหมาะสม เพื่อนำพาประเทศให้สามารถเติบโตภายใต้ความสมดุลในทุกมิติ