กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--โฟร์ พี แอดส์
กรมควบคุมโรค แนะประชาชนที่เดินทางท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไปให้ดูแลสุขภาพตนเอง เนื่องจากสภาพอากาศร้อน เชื้อโรคเติบโตเร็ว เสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง พร้อมเตือน 10 เมนูเสี่ยง ย้ำประชาชน กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เพื่อดูแลสุขภาพตนเอง
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย อาจทำให้เกิดการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ จึงอยากเตือนประชาชนให้ระมัดระวังความสะอาดของอาหารและน้ำดื่มเป็นพิเศษ เพื่อหลีกเลี่ยงจากโรคอาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง ระมัดระวังให้กินอาหารสะอาดปลอดภัยอยู่เสมอ ไม่ปรุงอาหารทิ้งไว้เป็นเวลานานก่อนนำไปให้ผู้บริโภค โดยเฉพาะอาหารประเภทที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบจะบูดหรือเน่าเสียง่ายกว่าปกติ อาหารประเภทยำ ลาบ ต้องปรุงให้สุกทั่วถึง ผู้ปรุงอาหารต้องรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลให้ดี แต่งกายสะอาด รวบผม ล้างมือก่อนปรุงและหลังประกอบอาหารทุกครั้ง โดยเฉพาะต้องล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ ส่วนผู้เดินทางท่องเที่ยวหรือผู้บริโภคอาหารนั้น ถ้าจะแวะรับประทานอาหารขอให้เลือกร้านที่มั่นใจว่าสะอาด หรือมีเครื่องหมายรับรองความปลอดภัย สำหรับน้ำดื่มหรือน้ำแข็งควรมีเครื่องหมายรับรองคุณภาพจาก อย. รวมทั้งล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษของสำนักระบาดวิทยา พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2557 – 7 เม.ย. 2557 พบผู้ป่วยสะสม 34,378 รายทั่วประเทศ คิดเป็นอัตราป่วย 54.12 ต่อแสนประชากร ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ 45-54 ปี (ร้อยละ 10.93) รองลงมา 15-24 ปี (ร้อยละ 10.75) และ อายุมากกว่า 65 ปี (ร้อยละ 10.26) จังหวัดที่มีอัตราป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษสูงสุด 5 อันดับแรก คือ อุดรธานี หนองบัวลำภู อุบลราชธานี ขอนแก่น และบุรีรัมย์ตามลำดับ อย่างไรก็ตามประชาชนควรระมัดระวังความสะอาดของอาหาร 10 เมนูเสี่ยงอันตรายยอดฮิตหน้าร้อน ได้แก่ 1. ลาบ/ก้อยดิบ เช่น ลาบหมู ก้อยปลาดิบ 2. ยำกุ้งเต้น 3. ยำหอยแครง 4. ข้าวผัดโรยเนื้อปู โดยเฉพาะกรณีที่ทำในปริมาณมาก เช่น อาหารกล่องแจก 5. อาหาร/ขนม ที่ราดด้วยกะทิสด 6. ขนมจีน 7. ข้าวมันไก่ 8. ส้มตำ 9. สลัดผัก และ 10. น้ำแข็ง ส่วนอาหารปิ้งย่างที่นิยมรับประทานกัน หมูกระทะ กุ้งกระทะ บาบีคิว ควรปิ้งให้สุกจะได้ปลอดภัยจากอาหารเป็นพิษ ระยะนี้เน้นรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ เท่านั้น ส่วนอาหารถุงอาหารกล่อง อาหารห่อ ต้องรับประทานภายใน 4 ชั่วโมงหลังปรุงสุก รวมถึงอาหารกระป๋องแม้จะปลอดภัยก็ต้องดูวันหมดอายุ สำหรับอาหารค้างคืน ต้องอุ่นทำให้สุกก่อนรับประทานทุกครั้ง
“นอกจากนี้ผู้ปรุงอาหารควรยึดหลัก สุก ร้อน สะอาด ส่วนผู้บริโภคต้องใช้มาตรการ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ โดยการปฏิบัติในชีวิตประจำวันง่ายๆ คือ 1. กินร้อน โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและปรุงเสร็จใหม่ๆ หากเป็นอาหารค้างมื้อให้อุ่นให้ร้อนหรือเดือดก่อน 2. ใช้ช้อนกลาง ตักอาหารขณะกินอาหารร่วมวงกับผู้อื่น และ 3. ให้ใช้สบู่ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและภายหลังจากใช้ห้องส้วม รวมถึงก่อนเตรียมนมให้เด็กทุกครั้ง ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร 0-2590 3183 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” นพ.โสภณ กล่าว