กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
ทต.ไผ่กองดิน เดินหน้าแก้ปัญหา “ช่องว่างระหว่างวัย” ด้วยการจัดกิจกรรม “ยุวแพทย์แผนไทย” ใช้การนวดแผนโบราณดึงคน 3 ช่วงวัยคือเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครอง และคนชรามาทำกิจกรรมร่วมกัน หวังฟื้นความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่นขึ้น
ในยุคสังคมออนไลน์ สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บริบทของคนในสังคมก็มีความซับซ้อนมากขึ้น แต่เมื่อคนไม่สามารถตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ผลที่เกิดขึ้นคือ “ปัญหาสังคม” และ “ความไม่เข้าใจ” ซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ในครอบครัว
นายพัสกร อุ่นอ่อน ปลัดเทศบาลไผ่กองดิน อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เปิดเผยว่า สถานการณ์เยาวชนเทศบาลตำบลไผ่กองดินที่เยาวชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับปู่ย่า ตายาย ก่อให้เกิดปัญหา “ช่องว่างระหว่างวัย” ส่งผลให้เด็กขาดความอบอุ่น ออกไปมั่วสุม และตกอยู่ในภาวะเสี่ยง แม้ที่ผ่านมาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในท้องถิ่นจะพยายามเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวที่ต้นเหตุ ด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน ทั้งด้านสังคม ศาสนา วัฒนธรรม แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป
ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ในประชาคมหมู่บ้านพบว่า สาเหตุสำคัญหลักที่ทำให้การพัฒนาเด็กในชุมชนไม่ยั่งยืน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในตำบลยังไม่มี “สถานที่” ให้เด็กได้แสดงออกอย่างเหมาะสม อาทิ สนามกีฬา หรือลานกิจกรรม นอกจากนั้นยังมีสาเหตุสำคัญอีก 3 ประการ คือ 1.ขาดการบูรณาการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งจากตัวเด็กและเยาวชน ไปสู่ครอบครัว ชุมชน และนโยบายของรัฐ 2. ทัศนคติของคนในชุมชน ที่ส่วนมากยังไม่เปิดใจยอมรับความคิดเห็นของเด็กและเยาวชน หรือเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความสามารถ และ 3. ขาดการพัฒนาทักษะของผู้นำชุมชน แกนนำสำคัญในการขับเคลื่อนงานพัฒนาเด็กและเยาวชน
นายพัสกร กล่าวต่อว่า สำหรับเทศบาลตำบลไผ่กองดิน แม้จะพยายามหาช่องทางเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้มาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนกระทั่งทีมนักถักทอชุมชน ทต.ไผ่กองดินได้ “เรียนรู้” การทำงานด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว จากสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่จะร่วมทำงานผ่านโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ซึ่งหลังจากทีมนักถักชุมชนได้เรียนรู้จากหลักสูตรดังกล่าว ก็เริ่มมองเห็นแนวทางการแก้ปัญหาอย่างมีแบบแผนมากขึ้น โดยทำงานแบบบูรณาการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งเด็ก เยาวชน ชุมชน และองค์กรส่วนท้องถิ่น ด้วยการจัดกิจกรรมหรือโครงการที่เน้นให้เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มความสามารถ
ทั้งนี้ “ทีมนักถักทอชุมชน” ที่ประกอบด้วยบุคลากรทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายปฏิบัติการของเทศบาล เริ่มทำงานประสานกับชุมชน พร้อมทำหน้าที่ค้นหา “ทุนชุมชน” ซึ่งพบว่ามี ภูมิปัญญาท้องถิ่นโดดเด่นด้านการนวดแผนไทยอยู่ จึงได้ประสานเครือข่ายการทำงานในตำบลอย่าง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ครูภูมิปัญญา ปราชญ์ชาวบ้านด้านการนวด รวมทั้งเขียนโครงการเพื่อของบประมาณสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ ทต.ไผ่กองดิน มาจัดทำ “โครงการยุวแพทย์แผนไทย” ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
สำหรับโครงการ “ยุวแพทย์แผนไทย” ตั้งอยู่บนแนวคิด ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ เยาวชนกลุ่มนำร่องจากโรงเรียนวัดช่องลมที่ได้สมัครเข้าร่วมโครงการด้วยความสมัครใจเพื่อเรียนรู้ทักษะการนวดขั้นพื้นฐาน อาทิ การเรียนรู้จุดสำคัญในร่างกาย การจับจุดเพื่อผ่อนคลาย การทำยาสมุนไพรพื้นบ้านในรูปแบบลูกปะคบสมุนไพร และยังมีการประยุกต์ใช้วัสดุในท้องถิ่นอย่างใบเตยหอมและมะกรูดมาประดิษฐ์เป็นดอกไม้บำบัดโรคที่มีความสวยงามและสร้างรายได้ให้กับเยาวชนอีกทางหนึ่งด้วย
ทั้งนี้โครงการยุวแพทย์แผนไทยยังได้รับความร่วมมือจากคนหลายภาคส่วนในชุมชนมาช่วยทำหน้าที่เป็น “ครูภูมิปัญญา” จัดทำหลักสูตรถ่ายทอดความรู้ ทักษะการนวดแผนไทยให้ลูกหลาน ร่วมกับ รพ.สต.ที่จะเป็นการส่งเสริมให้แกนนำยุวแพทย์แผนไทยได้ร่วมฟื้นฟู และอนุรักษ์ตำรับยาสมุนไพรพื้นบ้านไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นกลุ่มผู้สูงอายุ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง จึงได้มีโอกาสเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกับบุตรหลานต่างช่วงวัยเป็นครั้งแรก จากที่ไม่เคยมีกิจกรรมลักษณะนี้ในชุมชนมาก่อน
นายพัสกร เล่าถึงความคาดหวังว่าโครงการยุวแพทย์แผนไทยว่าจะเป็นโครงการที่ทำให้ทุกฝ่ายในชุมชนได้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีร่วมกันมากขึ้นกว่ากิจกรรมอื่นๆ ในช่วงที่ผ่านมา
“เราเคยจัดกิจกรรมมากมายเพราะไม่อยากให้เด็กไปรวมกลุ่มกันตามถนน ไปทำกิจกรรมเสี่ยงต่างๆ อยากให้เด็กได้มีโอกาสคิด และทำในกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ทำให้เกิดเป็นเครือข่ายเด็กและเยาวชน แต่ที่ผ่านมาการดึงเด็กเข้ามาร่วมกิจกรรมนั้นทำได้ยาก เพราะผู้ปกครองเองก็ยังขาดความเข้าใจเรื่องที่เราจะเอาเด็กมารวมกลุ่ม กลัวว่าลูกเขาเป็นเด็กไม่ดี จึงต้องนำมาอบรมหรือเปล่า ซึ่งโครงการยุวแพทย์แผนไทยที่มาจากความสนใจของเด็ก และคนในชุมชนเองก็น่าจะทำให้เกิดความสำเร็จมากขึ้น”
เด็กหญิงพิราวรรณ วุฒิมนต์ “น้องแป้ง” แกนนำเยาวชนยุวแพทย์แผนไทย ได้เล่าถึงความรู้สึกที่ได้เข้ามาทำกิจกรรมสืบสานภูมิปัญญาชุมชนว่า นอกจากมีความภูมิใจแล้ว ยังรู้สึกมีความสุขและไม่ถูกบังคับ เพราะได้เข้าร่วมด้วยความสมัครใจเอง จากที่เป็นคนชอบนวดอยู่แล้ว จึงคิดว่าเป็นการประสบการณ์ที่ดี และทุกๆ วันหลังเลิกเรียนก็จะกลับไปนวดให้คนที่บ้าน ทั้งพ่อ แม่ ปู่ และย่า ทุกๆ วัน ซึ่งเวลาที่มีคนชมว่านวดเก่ง ก็ยิ่งภูมิใจในตัวเอง นอกจากนั้นยังชักชวนเพื่อนๆ มาร่วมกิจกรรมร่วมด้วย
ในขณะเดียวกันนางสาวจงรักษ์ ดาวกระจาย คุณแม่น้องแป้ง บอกว่า ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของลูกสาว คือ หลังกลับจากโรงเรียนจะเข้ามาพูดคุยกับคนในบ้านมากขึ้น บอกว่าอยากนวดให้ และยังชอบเล่าว่าวันนี้ได้ไปนวดให้ใครมาบ้าง รู้สึกอย่างไร ส่วนแม่เองก็รู้สึกภูมิใจที่เห็นลูกสาวใช้เวลาว่างอย่างเกิดประโยชน์
นอกจากกิจกรรมในโครงการยุวแพทย์แผนไทยจะช่วยช่วยให้เยาวชนได้ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ บางครั้งยังสร้างชื่อเสียงให้กับท้องถิ่นจากการที่องค์กรอื่นๆ รวมถึงสื่อมวลชนได้เข้ามาเรียนรู้ รวมถึงการได้ออกไปแสดงผลงานตามกิจกรรมวันสำคัญต่างๆ ที่สำคัญยังเป็นการ “ลดปัญหาช่องว่างระหว่างวัย” ของคนในชุมชนลงได้ ทำให้ผู้ใหญ่ ผู้ปกครองรุ่น ปู่ย่า ตายายได้มีโอกาสทำกิจกรรมใกล้ชิดกับบุตรหลานได้มากขึ้น รวมถึงสามารถ “สื่อสาร” ให้บุตรหลานเข้าใจถึงเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรมอันดีงามของไทยสอดแทรกไปด้วย ส่งผลให้เด็กไม่ตกเป็นเหยื่อของ “วัตถุนิยม” อีกทั้งยังรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ส่วนคณะทำงานท้องถิ่นเองนอกจากความภูมิใจจากผลความสำเร็จของงานที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ยังได้ “เรียนรู้” วิธีการทำงานแบบใหม่ คือ ‘เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา’ อย่างตรงจุดและมีรูปธรรมมากขึ้นด้วย