กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ( สจล. ) โดย ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คณบดีพร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.วีระเชษฐ์ ขันเงิน เปิดตัวนวัตกรรมรถลากจูงไฟฟ้าอุตสาหกรรม SRR 24-400 เพื่อโลกสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงานตามมาตรฐานสากล ผลงานวิจัยนี้ได้นำมาผลิตและใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมชั้นนำในประเทศไทยหลายแห่ง ช่วยลดการนำเข้า เนื่องจากรถลากจากต่างประเทศมีราคาแพงมาก และยังเป็นการส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ เปิดตัวนวัตกรรมรถลากจูงไฟฟ้าพลังงานสะอาด เปิดเผยว่า “ รถลากจูงไฟฟ้าอุตสาหกรรม SRR 24 -400 หรือ Electric Tow Tractor For Industry เป็นผลงานวิจัยเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไทยและนานาชาติชิ้นเด่นของนักศึกษาวิศวลาดกระบังและรศ.ดร.วีระเชษฐ์ ขันเงิน อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และนับเป็นรถลากจูงไฟฟ้าพลังงานสะอาดชนิดแบตเตอรี่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงานตามมาตรฐานสากล สามารถบรรทุกได้ถึง 1,000 กิโลกรัม ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ได้ดำเนินการผลิตและส่งมอบให้บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัดไปแล้วเกือบ 20 คัน รถลากจูงไฟฟ้าอุตสาหกรรมคันนี้เป็นรถที่เหมาะกับการใช้งานในศูนย์กระจายสินค้าชิ้นส่วนของบริษัทยานยนต์ , รถลากขนของในสนามบิน ,ลานจอดรถ,รถลากในโรงงานทั่วไป และรถลากอุตสาหกรรมสะอาด (Clean Energy ) เช่น อุตสาหกรรมอาหารที่ต้องการการขนส่งไร้มลพิษ เป็นต้น ที่ผ่านมาผู้ประกอบการบางรายอาจจะยังไม่เห็นถึงความสำคัญของการเลือกใช้อุปกรณ์การขนถ่ายวัสดุที่เหมาะสม และมักจะคิดว่าเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิต โดยไม่ได้เพิ่มคุณค่าใดๆ (Added value) ให้กับผลิตภัณฑ์เลย อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผลิตภัณฑ์ระหว่างการขนย้ายด้วย ถ้าหากเลือกวิธีการที่ไม่เหมาะสมดังนั้นการเลือกใช้อุปกรณ์ในการขนถ่ายที่ถูกต้องจะช่วยให้การปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรมสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และประหยัดต้นทุนการผลิตได้ ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. พบว่าในภาคอุตสาหกรรมรถลากจูงส่วนใหญ่เป็นรถนำเข้าจากต่างประเทศส่วนใหญ่มาจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีราคาสูงจึงได้ผลิตรถลากจูงไฟฟ้าอุตสาหกรรม SRR 24 -400 เราสามารถผลิตในราคาที่ถูกกว่าถึง 4 เท่า หรือประมาณ 100,000 บาท เท่านั้น เพื่อตอบสนองการใช้งานของอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆการทำงานในภาคอุตสาหกรรมจึงต้องมีการปรับตัวในทุกๆด้าน เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้และกำลังก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2015นี้ ”
รศ.ดร.วีระเชษฐ์ ขันเงิน อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.พูดถึงการทำงานของรถลากไฟฟ้าว่า “รถลากจูงไฟฟ้าอุตสาหกรรม SRR 24 -400 เป็นการออกแบบรถลากที่สามารถบรรทุกได้ตั้งแต่ 300 – 1,000 กิโลกรัม วิ่งได้เร็ว 8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรง 400 วัตต์ ใช้แบตเตอรี่แบ่งเป็นสองรุ่นคือรุ่นพิเศษกับรุ่นมาตรฐาน โดยรุ่นพิเศษใช้ลิเทียมไอออนฟอสเฟต ( LiFe2Po4) 24 โวลต์ ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ที่น้ำหนักเบา แต่มีความจุพลังงานสูง มีความปลอดภัย มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับแบตเตอรี่ชนิดอื่นๆที่มีความจุเท่ากันไม่มีผลจากการจดจำ (Memory Effect ) ไม่เป็นพิษ (Nontoxic) อีกทั้งยังไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และมีอายุการใช้งานที่มากกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบเดิมมากคือ มีอายุสูงถึง 2,000 รอบการประจุไฟ ( Cycle ) หรือประมาณ 5 ปี น้ำหนักเบากว่าแบตเตอรี่ตะกั่วกรด 3 เท่าซึ่งเป็นรุ่นมาตรฐาน ระยะเวลาในการอัดประจุก็จะใช้เวลาน้อยกว่าแบตเตอรี่ชนิดอื่นๆ มีความปลอดภัยของแบตเตอรี่ในระหว่างการประจุไฟสูง และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาน้อยกว่าแบตเตอรี่ชนิดอื่นๆ ในการชาร์จไฟจะใช้เวลาเพียง 5 ชั่วโมง( ที่ 80%การใช้งาน ) สามารถชาร์จไฟได้ทั้งในตัวรถและนอกตัวรถ ในการขับเคลื่อนรถสามารถเดินหน้า ถอยหลัง วงเลี้ยวแคบ ขับขี่คล่องตัว และไต่ระดับขึ้น/ลง 18 องศา โครงสร้างตัวถังทำด้วยเหล็กหุ้มด้วยไฟเบอร์กลาส เพราะต้องการให้รถมีน้ำหนักมาก เพื่อจะได้สามารถลากของที่มีน้ำหนักมากๆอย่างปลอดภัย ล้อรถจะมีขนาดเล็ก เพื่อให้มีจุดโน้มถ่วงต่ำซึ่งทำให้การขับขี่ปลอดภัยขณะปฏิบัติงาน ระบบต่างๆผ่านมาตรฐานระบบความปลอดภัยมาตรฐานสากล เช่น ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง สัญญาณไฟเบรก ไซเรน แตร สวิทซ์เท้าตำแหน่งยืนของคนขับ ระบบเปิดปิดฝาแบตเตอรี่โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือในการเปิดปิด ในขณะที่ใช้งานจะไม่มีเสียงรบกวน ไร้มลพิษ เหมาะใช้งานทั้งภายในและภายนอกอาคาร ค่าไฟฟ้าในการใช้งานเต็มเวลา 5 ชั่วโมงเพียงประมาณ 8 บาท นอกจากนี้เรายังให้บริการซ่อมบำรุงได้ครบทุกวงจร ทุกชิ้น เนื่องจากเราเป็นผู้ออกแบบเองทั้งหมดได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
รศ.ดร.วีระเชษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “รถลากจูงไฟฟ้าอุตสาหกรรม SRR 24 -400 เป็นการออกแบบที่ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการลดต้นทุนของอุปกรณ์ในภาคอุตสาหกรรม และต้องการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเป็นอุตสาหกรรมสะอาด ( Green Industry ) เป็นอุตสาหกรรมที่มีการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมภายในอย่างเป็นระบบ โดยมีมาตรการการป้องกันปัญหามลพิษโดยใช้เทคโนโลยีสะอาด (Cleaner Technology) การผลิตที่สะอาด (Cleaner Production) การป้องกันมลพิษ (Promotion Prevention) เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมหรือลดการใช้พลังงาน และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก อีกทั้งยังพัฒนาความสามารถ และประสิทธิภาพของธุรกิจ และเป็นจุดเริ่มต้นในการก้าวสู่มาตรฐาน ISO 14000 ของอุตสาหกรรมอีกด้วยเช่นอุตสาหกรรมอาหารที่ไม่ต้องการให้มีสารพิษตกค้างหรือปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์และในกระบวนการผลิต ผู้สนใจติดต่อ รศ.ดร.วีระเชษฐ์ ขันเงิน kkveerac@kmitl.ac.th kkveerac@yahoo.com ”
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “นับแต่ปี 2550 เศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก มีการเปิดเสรีภายใต้ WTO , FTA ส่งผลให้การแข่งขันรุนแรงขึ้นทั้งการแข่งขันในตลาดภายในประเทศ และตลาดต่างประเทศ เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมของไทย เพื่อต่อสู้ในระบบเศรษฐกิจโลก และเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ภาคอุตสาหกรรมจึงจำเป็นต้องมุ่งแสวงหาแนวทางการพัฒนาใหม่ๆ เพราเมื่อเทียบกับหลายๆประเทศในอาเซียนโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น มาเลเซีย พม่า ลาว และกัมพูชา ควรเร่งดำเนินการปรับปรุงขีดความสามารถทางการแข่งขันโดยเฉพาะการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์เพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ( Foreign Direct Investment :FDI )ทั้งในอาเซียนและนอกอาเซียน เตรียมพร้อมต่อการเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุนอย่างเต็มที่ในปี 2558 รวมทั้งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา ( Research and Development: RD ) ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการและสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยในเวทีโลก ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีและการทำวิจัยเพื่อนำเอานวัตกรรมใหม่ไปเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ในระยะยาว และต่อไปประเทศไทยจะเป็นฐานในการขยายตลาดสู่อาเซียน และรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมหลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีในปี 2558 มากขึ้น ”