กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ประกาศผลสุดยอดบรรจุภัณฑ์แห่งปี โครงการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย ประจำปี 2557 “ThaiStar Packaging Awards 2014” เป็นปีที่ 37 ติดต่อกัน ภายใต้หัวข้อ “บรรจุภัณฑ์ไทยสู่สากล” เพื่อให้บรรจุภัณฑ์ไทยเกิดการพัฒนาพร้อมทั้งยกระดับให้ทัดเทียมนานาชาติ นับเป็น การส่งเสริม สนับสนุน และเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษา และนักออกแบบได้มีเวทีในการแสดงความรู้ ความสามารถในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ โดยมีเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 250,000 บาท สำหรับผลรางวัลแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1. ประเภทต้นแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดจำหน่ายสำหรับสินค้าทั่วไป รางวัลที่ 1 ชื่อผลงาน KALAMARY โดยนางสาวดวงหทัย มูลวงศ์ษา จากมหาวิทยาลัยศิลปากร 2. ประเภทต้นแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งสำหรับสินค้าทั่วไป รางวัลที่ 1 ชื่อผลงาน Wonchana Muay Thai โดย นายภาสกรณ์ เส็งเรียบ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพ เชียงใหม่ 3. ประเภทบรรจุภัณฑ์สำหรับที่มีจำหน่ายในท้องตลาดเพื่อการจัดจำหน่าย มีผู้ประกอบการ ที่ได้รับโล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตรจำนวน 10 รางวัล และ 4. ประเภทบรรจุภัณฑ์สำหรับที่มีจำหน่ายในท้องตลาดเพื่อการขนส่ง มีผู้ประกอบการได้รับโล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตรจำนวน 5 รางวัล ทั้งนี้ ผู้ได้รับรางวัลจะได้รับการพิจารณาให้เป็นตัวแทนของประเทศไทยเข้าประกวดบรรจุภัณฑ์ในระดับเอเชีย (AsiaStar 2014) และระดับโลก (WorldStar) ต่อไป สำหรับสถานการณ์ของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไทยนับว่ามีแนวโน้มปรับตัวควบคู่ไปกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากบรรจุภัณฑ์เป็นส่วนสำคัญในการบรรจุสินค้าเพื่อการจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยบรรจุภัณฑ์ประเภทกระดาษ มีสัดส่วนการใช้สูงสุดประมาณร้อยละ 40 รองลงมาคือบรรจุภัณฑ์พลาสติก โลหะ และแก้ว ตามลำดับ ทั้งนี้ ในปี 2556 บรรจุภัณฑ์กระดาษมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 5 พันล้านบาท และมีมูลค่าการนำเข้าประมาณ 3.5 พันล้านบาท (ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันการแข่งขันในตลาดการค้านับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี และมีการผลิตสินค้าใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา การพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ก็เช่นเดียวกัน เนื่องจาก บรรจุภัณฑ์มีหน้าที่ในการป้องกันสินค้าที่บรรจุอยู่ภายในไม่ให้เสียหาย และยังเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ให้แก่สินค้า อีกด้วย ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ตลอดจนวิสาหกิจชุมชนต่างให้ความสำคัญในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ของตนเอง เพื่อให้มีความโดดเด่น สะดุดตา สวยงาม และเหมาะสมกับสินค้า ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดการค้าทั้งภายในและต่างประเทศ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว รวมถึงเห็นประโยชน์ของบรรจุภัณฑ์ที่ดีที่จะช่วยสื่อสารรายละเอียดต่าง ๆ ของสินค้าที่จำเป็นให้แก่ผู้บริโภค ส่งผลต่อการสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่สินค้า และส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ในภาพรวม จึงได้จัดให้มีโครงการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย ประจำปี 2557 “ThaiStar Packaging Awards 2014” ต่อเนื่องเป็นที่ปีที่ 37 ภายใต้หัวข้อ “บรรจุภัณฑ์ไทยสู่สากล” เพื่อให้บรรจุภัณฑ์ไทยเกิดการพัฒนาพร้อมทั้งยกระดับให้ทัดเทียมกับนานาชาติ ซึ่งเป็นการส่งเสริม สนับสนุน และเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษา และนักออกแบบได้มีเวทีในการแสดงความรู้ความสามารถในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ก่อให้เกิดเป็นต้นแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดีเป็นที่ยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้ยังเป็นเวทีในการแสดงผลงานและส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมได้เห็นโอกาสทางการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ของตนเองเพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดต่อไป
สำหรับการประกวดในปีนี้ ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 250,000 บาท แบ่งประเภทรางวัลออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
1. ประเภทต้นแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดจำหน่ายสำหรับสินค้าทั่วไป รางวัลที่ 1 ชื่อผลงาน KALAMARY ออกแบบโดย นางสาวดวงหทัย มูลวงศ์ษา จากมหาวิทยาลัยศิลปากร
2. ประเภทต้นแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งสำหรับสินค้าทั่วไป รางวัลที่ 1 ชื่อผลงาน Wonchana Muay Thai ออกแบบโดย นายภาสกรณ์ เส็งเรียบ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพ เชียงใหม่
3. ประเภทบรรจุภัณฑ์สำหรับที่มีจำหน่ายในท้องตลาด เพื่อการจัดจำหน่าย มีผู้ประกอบการที่ได้รับโล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตร จำนวน 10 รางวัล
และ 4. ประเภทบรรจุภัณฑ์สำหรับที่มีจำหน่ายในท้องตลาด เพื่อการขนส่ง มีผู้ประกอบการได้รับโล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตร จำนวน 5 รางวัล
โดยในปี 2557 มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดจำนวนทั้งสิ้น 294 ผลงาน และมีผลงานที่ได้รับรางวัลจำนวน 32 ผลงาน ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับรางวัลจะได้รับการพิจารณาให้เป็นตัวแทนของประเทศไทยในการประกวดออกแบบบรรจุภัณฑ์ในระดับเอเชีย (AsiaStar 2014) และระดับโลก (WorldStar) ต่อไป สำหรับการจัดประกวดในครั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหวังว่าจะสามารถกระตุ้นให้วงการบรรจุภัณฑ์ไทยเกิดการตื่นตัว รวมถึงเปิดโอกาสให้นักออกแบบได้มีเวทีแสดงความรู้ และความสามารถ เพื่อนำไปต่อยอดในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์และสามารถตอบสนองต่อการใช้งานได้อย่างหลากหลาย ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับมาตรฐานสินค้าไทยให้เป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยม สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น และสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยได้อีกทางหนึ่ง
นายภาสกรณ์ เส็งเรียบ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพ เชียงใหม่ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลที่ 1 ประเภทต้นแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง สำหรับสินค้าทั่วไป กล่าวว่า สำหรับผลงาน ของตนมีชื่อว่า Wonchana Muay Thai เนื่องจากมวยไทยเป็นเอกลักษณ์ของไทยที่มีความเป็นสากลและเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก ซึ่งผลงานของตนเป็นบรรจุภัณฑ์เก็บชุดมวยไทยครบชุด โดยที่รองสินค้า (Cushion) ภายในมีลักษณะนักมวยกำลังตั้งการ์ด สามารถกางออกเมื่อโชว์สินค้าภายในและพับเก็บได้เมื่อต้องการเก็บสินค้า ทำให้หยิบใช้งานได้ง่าย ภายนอกมีหูหิ้วเพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้าย โดยจุดเด่นของผลงานชิ้นนี้คือ สามารถโชว์สินค้าภายในเพื่อการจัดจำหน่ายได้และสะดวกในการขนส่งด้วย ส่วนวัสดุที่ใช้ในการผลิตใช้กระดาษลูกฟูกลอน E ไม่ฟอกสี สำหรับการประกวดครั้งนี้ ตนเองประกวดเป็นปีแรก และสามารถชนะใจกรรมการได้ จึงรู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก ต้องขอขอบคุณอาจารย์สาขาบรรจุภัณฑ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ เป็นอย่างยิ่งที่คอยให้คำปรึกษาแนะนำ และขอขอบคุณทุกคนในมหาวิทยาลัยที่คอยให้กำลังใจตลอดเวลา 1 เดือนในการสร้างสรรค์ผลงาน นอกจากนี้ยังทำให้ตนเองรู้จักแบ่งเวลาและมีความรับผิดชอบมากขึ้น สำหรับน้อง ๆ ที่อยากจะส่งผลงานเข้าประกวดปีหน้าหรือปีต่อ ๆ ไป ไม่ว่าจะสร้างสรรค์อะไร ขอให้ทุ่มเทกับสิ่งที่ทำ ไม่ต้องคาดหวังรางวัลแต่ให้ทำอย่างตั้งใจที่สุด ซึ่งสิ่งที่ได้รับตามมานอกจากรางวัลคือความภาคถูมิใจในตัวเองด้วย
นางสาวธารทิพย์ บ่อเพ็ชร์ บริษัท สยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด หนึ่งในผู้ได้รับรางวัลประเภท บรรจุภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด กล่าวว่า ผลงานของตนได้รางวัล 2 ผลงาน คือผลงาน Beauty of Moonlight (ให้ความงามของแสงจันทร์ยามค่ำคืนส่องความงาม นำพาความสุขถึงคนที่คุณรัก) และผลงาน กล่องส้มตรุษจีนชุดจักรพรรดิแห่งความมั่นคง ซึ่งทั้งสองผลงานได้แรงบันดาลใจมาจากเทศกาลไหว้พระจันทร์ โดยผลงานแรกมาจากการที่คนจีนมักจะใช้เวลาอยู่กับครอบครัวในช่วงเทศกาล ซึ่งคงจะดีหากทานชาคู่กับขนมไหว้พระจันทร์ และมองพระจันทร์ที่นอกหน้าต่างไปด้วย จึงเกิดความคิดในการทำกล่องกระดาษบรรจุภัณฑ์ใส่ขนมไหว้พระจันทร์ลายหน้าต่าง ทำจากกระดาษคราฟท์ ฉลุลวดลาย และพิมพ์ด้วยฟรอยด์ทอง ส่วนภายในบรรจุกล่องหกเหลี่ยมสีทอง ทำด้วยฟรอยด์เคลือบเงา (Mira Board) สีทอง จุดเด่นบรรจุภัณฑ์อยู่ที่เมื่อเปิดกล่องออกจะเห็นเป็นก้อนทองสองก้อนประกบกันอยู่ แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรือง และมั่งมีเงินทอง ส่วนผลงานที่สอง เป็นกล่องส้มรูปพัด ซึ่งเป็นเครื่องประดับของกษัตริย์และราชวงศ์ขุนนางในสมัยก่อน เพื่อแสดงถึงความยิ่งใหญ่ และมีอำนาจ ตกแต่งด้วยลวดลายดอกเบญมาศดอกไม้มงคลของชาวจีน เมื่อเปิดฝากล่องจะพบคำว่า “ว่านซื่อหรูอี้” แปลว่าขอให้สมปรารถนาในทุก ๆ เรื่อง วัสดุทำจากกระดาษกล่องขาวเคลือบหลังเทาและกระดาษลูกฟูกลอน E โดยบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดทำจากระดาษที่ได้รับการรับรอง FSC (The Forest Stewardship Council) จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ตนมองว่าบรรจุภัณฑ์มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อภาพลักษณ์ของสินค้า และการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ถึงแม้สินค้าดีแต่หากบรรจุภัณฑ์ไม่เหมาะสมก็อาจทำให้ผู้บริโภคไม่มั่นใจในการซื้อสินค้าได้
ดร.อรรชกา กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ของไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มปรับตัวควบคู่ไปกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากบรรจุภัณฑ์เป็นส่วนสำคัญในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อบรรจุสินค้าสำหรับขนส่งและจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ โดยบรรจุภัณฑ์กระดาษเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการใช้สูงสุด มีสัดส่วนการผลิตประมาณ ร้อยละ 40 รองลงมาคือบรรจุภัณฑ์พลาสติก โลหะ และแก้วตามลำดับ ทั้งนี้ ในแต่ละปีอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ของไทยสามารถผลิตบรรจุภัณฑ์มีมูลค่ารวมประมาณ 7.5 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อใช้ในประเทศเป็นหลัก โดยการส่งออกจะเป็นทางอ้อมเมื่อต้องการส่งสินค้าออกไปจำหน่ายต่างประเทศ สำหรับการค้าบรรจุภัณฑ์กระดาษในปี 2556 มีมูลค่าการส่งออกรวมกว่า 5 พันล้านบาท มีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ส่วนการนำเข้ามีมูลค่ารวมกว่า 3.5 พันล้านบาท โดยแหล่งนำเข้าสำคัญของไทย คือ จีน มาเลเซีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเยอรมนี (ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย) อย่างไรก็ดีคาดว่าแนวโน้มการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ไทยจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว รวมถึงประเทศในกลุ่มอาเซียน และอาเซียน +3 ไม่ว่าจะเป็นจีน อินโดนีเซีย เวียดนาม และประเทศอื่น ๆ มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยสามารถเพิ่มช่องทางการจำหน่าย และเพิ่มมูลค่าการส่งออกบรรจุภัณฑ์กระดาษได้มากขึ้น
ผู้ประกอบการท่านใดสนใจขอรับบริการด้านบรรจุภัณฑ์สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ กองพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา 2 ชั้น 6 อาคารสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน ซอยตรีมิตร กล้วยน้ำไท ถนนพระรามที่ 4 แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110 โทรศัพท์ 0 2367 8181