กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--มหาวิทยาลัยศรีปทุม
การตระหนักรู้ว่าการเริ่มต้นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี 2558 จะมีผลกระทบอย่างไรบ้างต่อประเทศไทย เริ่มมีมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง หน้าที่ส่วนหนึ่งเป็นของสถาบันการศึกษาซึ่งมีหน้าที่สร้างคนและสร้างธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น
ดร.ก่อศักดิ์ อาชวากร ผู้อำนวยการวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า ประชาคมอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยสามเสาหลักคือ เสาหลักคือ เสาหลักด้านความมั่นคง เสาหลักด้านสังคมและวัฒนธรรม และ เสาหลักด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นด้านที่ผู้คนในภูมิภาคให้ความสนใจมากที่สุด การเกิดขึ้นของประชาคมเศษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี จะมีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เศรษฐกิจของทั้งภูมิภาคนี้เติบโตขึ้น การสื่อสารโทรคมนาคมและการคมนาคมขนส่งเปิดกว้าง การหมุนเวียนของเงินทุนและแรงงานจะเข้าสู่สภาวะไร้พรมแดน และที่สำคัญคือจะส่งผลให้เกิดการทำงานข้ามวัฒนธรรม ซึ่งภาพทั้งหมดกำลังชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ และเป็นเหตุผลที่ต้องเตรียมสร้างคนที่มีความตระหนักและเข้าใจสิ่งต่างๆ เหล่านี้
ทั้งนี้ ส่วนที่สำคัญของการสร้างคน คือต้องสร้างให้คนรุ่นใหม่มี Global Competency หรือสมรรถนะสากล ซึ่งเป็นนิยามใหม่ด้านทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง ความสามารถที่จำเป็นในการทำงานร่วมกับบุคคลหรือหน่วยงานในระดับภูมิภาคและระดับโลก เช่น ต้องมีความสามารถด้านภาษาและการสื่อสาร และต้องสามารถทำงานร่วมกับบุคคลหรือหน่วยงานที่มีความแตกต่างด้านวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี หลักสูตรการศึกษาของวิทยาลัยนานาชาติ ม.ศรีปทุม เป็นตัวอย่างของการเตรียมคนสำหรับบริบททีได้กล่าวมาข้างต้น
หลักสูตรของวิทยาลัยนานาชาติ ม.ศรีปทุม ได้ผ่านการออกแบบและพัฒนาบนพื้นฐานความต้องการจริงของอุตสาหกรรม และสอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง โดยมีหลักสูตรดังนี้ 1. หลักสูตรการสื่อสารธุรกิจระหว่างประเทศ พัฒนาขึ้นจากฐานความคิดว่า ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคมีการเติบโตและเชื่อมต่อ การสร้างคนที่มีหน้าที่สื่อสารธุรกิจได้จึงเป็นส่วนสำคัญยิ่งต่อการทำธุรกิจระหว่างประเทศ ดังนั้น ภาษาและการสื่อสารคือหัวใจหนึ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จ 2. หลักสูตรการจัดการธุรกิจบริการระหว่างประเทศ เป็นอีกหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการของประเทศไทย ซึ่งมีภาคธุรกิจบริการโดดเด่นที่สุดในภูมิภาคนี้ ซึ่งได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาด้านโรงแรมในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ให้นักศึกษาเลือกไปเรียนและฝึกงานได้เป็นเวลา 1 ปี ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ 3. หลักสูตรธุรกิจการบินนานาชาติ เมื่อประเทศไทยตั้งเป้าหมายจะเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค การเตรียมบุคคลากรเพื่อเติมเต็มในอุตสาหกรรมการบินจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน หลักสูตรธุรกิจการบินนานาชาติได้รับการพัฒนาออกมาเพื่อสร้างบุคคลากรตามความต้องการของทุกภาคส่วนในธุรกิจการบิน 4. หลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน (นานาชาติ) ตอบรับกับการที่ประเทศไทยต้องการเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่ง (Logistic Hub) ของภูมิภาค โดยมีภาคเหนือเชื่อมกับจีน ภาคใต้เชื่อมกับมาเลเซีย-สิงคโปร์ ภาคตะวันตก ติดกับพม่า และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ติดกับลาว, เวียดนาม, กัมพูชา หากจะเป็นใหญ่ด้าน โลจิสติกส์ การสร้างคนจึงเป็นสิ่งจำเป็น 5. หลักสูตรภาษาอังกฤษและภาษาจีนเพื่อการสื่อสารธุรกิจ เป็นหลักสูตรที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการบุกตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดขนาดยักษ์ซึ่งเติบโตมากที่สุดของโลก เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าภาษาที่ 3 ก็มีส่วนสำคัญ วิทยาลัยนานาชาติ ม.ศรีปทุม ได้มีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง Beijing Language and Culture University (BLCU) พัฒนาหลักสูตรร่วมกันในลักษณะ Dual Degree ส่งนักศึกษาไปเรียนที่ประเทศจีน 1 ปี และ 6. หลักสูตรสื่อและการสื่อสารการตลาด เรียนรู้การบูรณาการศิลปะของการสร้างสื่อและเทคนิคทางการตลาดอย่างลงตัว ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของนักธุรกิจรุ่นใหม่ และหลักสูตรนี้จะเปิดรับเป็นครั้งแรกในปีการศึกษา 2557 นี้
ทั้ง 6 หลักสูตรผ่านการออกแบบมาให้ตรงกับความต้องการของประเทศไทย เพื่อสร้างบุคลากรออกมาให้พอดีกับตลาดที่ขยายสู่ระดับภูมิภาค ทุกหลักสูตรนอกจากจะได้เรียนรู้เรื่องภาษาแล้ว ยังได้สอดแทรกการเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมที่แตกต่าง ได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงและมาตรฐานการทำงานระดับสากล ผ่านหลักสูตร Dual Degree ที่จะมีเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ ในอนาคต
ตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดคือสิ่งที่สถาบันการศึกษาต้องคำนึงถึง เพื่อเตรียมความพร้อมให้ดีที่สุด ขณะเดียวกันพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงตัวนักเรียนนักศึกษาที่กำลังจะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ก็ต้องมองอนาคตในอีก 4 ปีข้างหน้า นั่นคือหลังจากเปิดเออีซีไปแล้ว 2 ปีจะเตรียมตัวรับสิ่งใหม่ สังคมใหม่ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร