กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--IR network
ที่ประชุมผู้ถือหุ้น บมจ. อี ฟอร์ แอล เอม (EFORL) ไฟเขียวลดทุนล้างขาดทุนสะสม ลดพาร์จาก 0.10 บาท เป็น 0.075 บาท ด้านผู้บริหารระบุพร้อมเทิร์นอะราวด์เต็มที่ เปิดเกมรุกธุรกิจเครื่องมือแพทย์เต็มสูบลุยธุรกิจนำเข้าจำหน่ายอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ มั่นใจปี 57 รายได้เข้าเป้า 1,500-2,000 ล้านบาทแน่นอน! เผยเตรียมติดต่อแบรนด์สินค้ากว่า 30 ยี่ห้อ ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 13 ยี่ห้อเท่านั้น แย้มมีแผนขยายธุรกิจต่อเนื่องเตรียมลุยธุรกิจเกี่ยวกับด้านสุขภาพเต็มสูบ
นายธีรวุทธิ์ ปางวิรุฬห์รักข์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน)(EFORL) เปิดเผยว่า ที่ประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2557 มีมติอนุมัติให้ลดทุนจดทะเบียนของบริษัทจาก 1,380 ล้านบาท เป็น 1,035 ล้านบาท และลดทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทจาก 920 ล้านบาท เป็น 690 ล้านบาท โดยการลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) จากเดิมมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.10 บาท ลดเป็นหุ้นละ 0.075 บาท โดยการลดทุนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อล้างผลขาดทุนสะสม ซึ่งบริษัทจะนำเงินส่วนเกินทุนที่ได้จากการลดมูลค่าหุ้นจำนวน 231 ล้านบาท ไปลดขาดทุนสะสม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 ทั้งจำนวนเป็นเงิน 204 ล้านบาท ซึ่งจะเหลือเป็นส่วนเกินทุนจากการลดมูลค่าหุ้นจำนวน 27 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การลดทุนจดทะเบียนโดยการลดมูลค่าหุ้นดังกล่าวนั้น จำนวนหุ้นและส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแต่อย่างใด
สำหรับปี 2557 บริษัทตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นปีแห่งการเทิร์นอะราวด์ ตั้งเป้าหมายรายได้รวมปีนี้ไว้ที่ 1,500 – 2,000 ล้านบาท โดยมีกลยุทธ์เน้นการเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์การแพทย์จากแบรนด์ที่มีชื่อเสียงและเป็นผู้นำตลาด เช่น Hamilton GE และ Olympus เป็นต้น ทั้งนี้จะมีการเพิ่มทีมงานที่มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญมาเสริมทัพให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ปีนี้บริษัทเตรียมจะขยายผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ให้ครอบคลุมมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีการประสานงานติดต่อแบรนด์สินค้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศมากกว่า 30 ยี่ห้อ โดยเร่งดำเนินการขอใบอนุญาตนำเข้ามากยิ่งขึ้น สำหรับปี 2557 นี้ ได้นำเข้าสินค้ามาแล้ว 13 ยี่ห้อ และคาดว่าในปี 2557 จะสามารถจ่ายเงินปันผลได้
"เรายังคงเน้นกลยุทธ์การเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์การแพทย์จากแบรนด์ที่มีชื่อเสียงและเป็นผู้นำตลาด ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจเชิงรุก ทั้งกลุ่มโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน" นายธีรวุทธิ์กล่าว
นอกจากนี้ ยังได้รับแรงหนุนจากบริษัทลูกคือ บริษัท สเปซเมด จำกัด ที่ทำธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์อยู่แล้ว ปีนี้ก็จะมุ่งทำธุรกิจในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันบริษัท สเปซเมด จำกัด สามารถทำรายได้ประมาณปีละ 200 ล้านบาท และยังมีศักยภาพเติบโตได้อีก เนื่องจากอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์เป็นสินค้าที่มีความเติบโตสอดคล้องกับธุรกิจด้านการแพทย์และสุขภาพ