กรุงเทพฯ--22 เม.ย.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งพัฒนาบัณฑิตศึกษาและงานวิจัยระดับนานาชาติ ชูนโยบายขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในและนอกอาเซียน สร้างเครือข่ายสถาบันการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อผลิตวิศวกร และนักเทคโนโลยีที่มีคุณภาพและมีทักษะภาษาอังกฤษรองรับอุตสาหกรรมของประเทศและภูมิภาค เน้นย้ำความเป็นสถาบันการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีหลักสูตรนานาชาติอันดับ 1 ของไทย
ศ.ดร.สมนึก ตั้งเติมสิริกุล ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (เอสไอไอที) มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า เอสไอไอทีก้าวขึ้นเป็นสถาบันการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีหลักสูตรนานาชาติอันดับ 1 ของไทยภายใต้นโยบายที่เน้นความเป็นเลิศด้านวิชาการ ด้านวิจัย และความเป็นนานาชาติ โดยมุ่งพัฒนาบัณฑิตศึกษา ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ การสร้างผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เชิงประยุกต์และงานวิจัยโครงการขนาดใหญ่ และการขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศโดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียน
“เอสไอไอที มุ่งมั่นที่จะดำรงความเป็นสถาบันการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีหลักสูตรนานาชาติอันดับ 1 ในใจของนักเรียนนักศึกษา เอสไอไอทีได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติถึงคุณภาพของการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นการศึกษาแบบใช้การวิจัยเป็นตัวนำ ทำให้นักศึกษามีความรู้ความเชี่ยวชาญและมีทักษะการคิดวิเคราะห์เพื่อสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และเชิงสาธารณะ ซึ่งส่งผลให้ตลอด 5 ปี ที่ผ่านมาคะแนนสอบเข้าสถาบันฯ ในระดับปริญญาตรีมีคะแนนสูงขึ้นทุกปี โดยปีที่แล้วมีคะแนนสูงขึ้น 40% เมื่อเทียบกับ 5 ที่ผ่านมา ส่วนในระดับปริญญาโท และเอก อัตราจำนวนการรับเข้าต่อจำนวนผู้สมัครเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก อยู่ที่ประมาณ 1 ต่อ 8 ในปีก่อน และ กว่า 1 ต่อ 10 ในปีนี้ สะท้อนถึงระดับคุณภาพที่สูงขึ้นเป็นอย่างมากของนักเรียนนักศึกษาที่สนใจศึกษาที่สถาบันฯ”
ทั้งนี้ เอสไอไอที ได้รับการประเมินและจัดระดับสูงสุด "ดีมาก" จากการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็น 1 ในสถาบันอุดมศึกษา 4 แห่งของประเทศที่ได้รับมอบทุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อสนับสนุนนักเรียนที่สนใจศึกษาต่อทางด้านวิทยาศาสตร์ในระดับอุดมศึกษา และเป็น 1 ในสถาบันอุดมศึกษา 4 แห่งของประเทศที่ได้รับมอบทุนจากโครงการ AUN/SEED-Net เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน/เครือข่ายการพัฒนาเพื่อการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์แห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศญี่ปุ่น เพื่อสนับสนุนนักเรียนนักศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ในภูมิภาคอาเซียน
ศ.ดร.สมนึก กล่าวต่อไปว่า นับจากนี้ เอสไอไอทีจะมุ่งพัฒนาบัณฑิตศึกษาทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ โดยจะคัดเลือกนักศึกษาเฉพาะที่มีผลการเรียนดีเด่นระดับ Top 10-20% จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในแต่ละประเทศ เข้าศึกษาระดับปริญญาโท และ เอก รวมทั้งการสร้างชื่อเสียงด้านงานวิจัยระดับนานาชาติเพื่อช่วยผลิตบุคคลากรที่มีคุณภาพระดับนานาชาติให้กับภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันภาคการศึกษา และอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้ยังขาดแคลนบุคคลากรระดับบัณฑิตศึกษาที่มีคุณภาพในทุกสาขา
“ปัจจุบัน เอสไอไอทีมีศูนย์วิจัย 2 ศูนย์ คือ ศูนย์วิจัยทางด้านเทคโนโลยีการก่อสร้างและการบำรุงรักษา สำหรับการแก้ปัญหาและการสร้างนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีวัสดุก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน และศูนย์วิจัยทางด้านการคมนาคม เพื่อศึกษาในขอบเขตเรื่องการคมนาคมและเทคโนโลยีที่สนับสนุนทางด้านการคมนาคม และ หน่วยวิจัยอีก 7 หน่วย ได้แก่ หน่วยงานวิจัยด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ ด้านการคำนวณทางด้านวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ ด้านอัจฉริยะสารสนเทศและนวัตกรรมการบริการ ด้านโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ ด้านระบบ โลจิสติกส์และระบบห่วงโซ่อุปทาน ด้านวัสดุและเทคโนโลยีพลาสม่า และด้านพลังงานที่ยั่งยืนและคาร์บอนต่ำที่สามารถรองรับงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างครบวงจร โดยการบริหารจัดการในรูปแบบศูนย์วิจัยและหน่วยวิจัยนี้จะช่วยส่งเสริมให้อาจารย์และนักศึกษาสามารถทำงานวิจัยร่วมกันในสาขาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีศักยภาพในการรับงานวิจัยของโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งเอสไอไอทีมั่นใจว่า ภายใน 2 ปีนี้ผลงานวิจัยของสถาบันฯ มีจำนวนสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด”
สำหรับนโยบายด้านการส่งเสริมความเป็นนานาชาตินั้น ศ.ดร.สมนึก กล่าวว่า ปัจจุบันมีนักเรียนทุนและนักเรียนแลกเปลี่ยนรวม 32 สัญชาติเพิ่มขึ้นจาก 20 กว่าสัญชาติใน 2 ปีที่ผ่านมา โดยปีนี้ สถาบันฯ จะเพิ่มสัดส่วนอาจารย์ต่างชาติเป็น 20% ของคณาจารย์ทั้งหมด และเพิ่มสัดส่วนนักศึกษาต่างชาติและนักศึกษาแลกเปลี่ยนเป็นประมาณ 10% ของนักศึกษาทั้งหมด โดยกลยุทธ์สำคัญ คือ การสร้างชื่อเสียง และสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาจะมุ่งเน้นมหาวิทยาลัยในยุโรปเป็นหลัก แต่ในปีที่ผ่านมาและปีนี้ สถาบันฯ ได้ขยายความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้นเพื่อสนองนโยบายการเปิดเสรีอาเซียน โดยได้สร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศเวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา และมาเลเซีย รวมทั้งประเทศในเอเซียใต้ เช่น เนปาลและศรีลังกา ซึ่งในความร่วมมือส่วนหนึ่งจะครอบคลุมถึงการมอบทุนการศึกษาแก่คณาจารย์และนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีเด่นของมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศเหล่านั้นมาศึกษาต่อที่เอสไอไอที การแลกเปลี่ยนด้านวิชาการและวัฒนธรรม และการแลกเปลี่ยนคณาจารย์กับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เป็นต้น
“ในเดือนพฤษภาคมนี้ สถาบันฯ จะไปประเทศศรีลังกาเพื่อลงนามความร่วมมือและร่วมคัดเลือกนักศึกษาที่มี ผลการเรียนดีมาศึกษาที่สถาบันฯ รวมทั้งไปประเทศเวียดนามเพื่อลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย FPT ซึ่งเป็นแหล่งผลิตบุคคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำให้กับกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศของเวียดนามและโลก ซึ่ง FPT จะส่งนักศึกษาด้านคอมพิวเตอร์มาเรียนที่สถาบันฯ 1 ภาคการศึกษา นอกจากนี้ สถาบันฯ ได้รับ การสนับสนุนจากไจก้า ประเทศญี่ปุ่น และทุน AUN/SEED-Net ในการมอบทุนแก่คณาจารย์และนักศึกษาต่างชาติมาเรียนที่สถาบันฯ อีกด้วย”
“ด้วยความมุ่งมั่นในการยกระดับคุณภาพของสถาบันในด้านต่างๆ อย่างเข้มข้น จะทำให้สถาบันฯ ตอกย้ำการเป็นสถาบันการศึกษาหลักสูตรนานานาชาติด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนยีอันดับหนึ่งของไทยได้อย่างมั่นคง” ศ.ดร.สมนึก กล่าวอย่างมั่นใจ
สำหรับสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร เปิดทำการเรียนการสอนในปี พ.ศ. 2535 ปัจจุบันเปิดสอน 9 สาขา ประกอบด้วย วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมสื่อสาร วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดการวิศวกรรม และเทคโนโลยีการจัดการ มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว 11 รุ่น จำนวน 2,524 คน ระดับปริญญาโท 63 คน และระดับปริญญาเอก 23 คน