กรุงเทพฯ--22 เม.ย.--เอเอสวี อินเตอร์ กรุ๊ป
นางอำนวยพร ชลดำรงค์กุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจัดการและควบคุมป่าไม้ ประธานเปิดการฝึกอบรม “การสร้างเครือข่ายและพันธมิตรในการป้องกันรักษาป่า” การฝึกอบรมดังกล่าวเป็นการส่งเสริมความรู้ด้านการสร้างเครือข่ายในการป้องกันรักษาป่า โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่มที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการของการตัดสินใจและเพื่อเป็นการวางแผนในการนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่จะตอบสนองต่อความต้องการได้ตรงประเด็น และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติงานด้านการป้องกันรักษาป่าให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
นางอำนวยพร กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการอบรม ที่ จ.พิษณุโลก ว่าการป้องกันรักษาป่าที่ลงทุนต่ำ มีความปลอดภัยในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ได้ผลดีมีประสิทธิภาพคือ การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันรักษาป่า ซึ่งหลักสูตรการสร้างเครือข่ายเป็นการติดอาวุธทางปัญญาในการป้องกันรักษาป่าที่ได้อย่างยั่งยืน และครอบคลุมกว้างขวางทั่วถึงเป็นอย่างยิ่ง และทางกรมป่าไม้ได้รับความร่วมมือสนับสนุนทางวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า ที่มีความรู้ความเข้าใจในการสร้างเครือข่ายการป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งโครงการฝึกอบรมดังกล่าวจะจัดขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่ ภาคเหนือ กลาง อีสาน และภาคใต้ ภาคละ 1 รุ่น และจะจัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายนโดย มีผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมได้แก่ ผู้อำนวยการส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า หัวหน้าฝ่ายป้องกันรักษาป่า หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 – 13 และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้สาขาทุกสาขา ทั้งนี้กรมป่าไม้ได้กำหนดหลักสูตรและวิธีการฝึกอบรม โดยเน้นเนื้อหาทางด้านวิชาการและแนวทางการนำไปปรับและประยุกต์ใช้โดยเน้นการมีส่วนส่วนร่วมจากชุมชน ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม การเข้าถึงชุมชน เชิงบวก เทคนิคการมีส่วนร่วม ร่วมถึงการประชุมเชิงปฏิบัติการ แผนปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม และการศึกษาดูงานเกี่ยวกับการจัดการป่าในรูปแบบเครือข่าย บูรณาการร่วมกัน โดยมีเครือข่ายองค์กรชุมชน ภาครัฐ ภาคเอกชนร่วมกันดำเนินกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ที่เข้ารับการอบรมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นประสบการณ์และเรียนรู้จากเครือข่ายตัวอย่างในท้องที่ของตนเอง
นางอำนวยพร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมป่าไม้เองเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ รวมถึงการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การดำเนินการเป็นแบบรวมศูนย์กลางไว้ที่หน่วยงาน แต่ถึงกระนั้นปัญหาการบุกรุกตัดไม้ ทำลายป่าก็ไม่ลดลงแต่อย่างใด สาเหตุส่วนหนึ่งคือขาดความร่วมมือหรือการยอมรับจากภาคประชาชน เพราะแนวทางการปฏิบัติงานอาจจะไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนทุกกลุ่มจะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ เพื่อไปกำหนดนโยบายให้สอดคล้องต่อความต้องการได้ตรงประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ประชาชนในท้องถิ่นมีจิตสำนึกและการสร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งการการจัดโครงการฝึกอบรมดังกล่าวจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการสร้างแนวร่วมและเครือข่ายในการป้องกันดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้ยั่งยืนตลอดไป