กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--มทร.ธัญบุรี
24 นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและศิลปะสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ออกแบบและตัดเย็บชุดลำลองและชุดราตรี โชว์ผลงานศิลปะนิพนธ์กว่า 150 ผลงาน จากแนวคิดและเทคนิค ผสมจนกลายเป็นแฟชั่นสุดชิค
นายสุระจิตต์ แก่นพิมพ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและศิลปะสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ เล่าว่า โดยศิลปะนิพนธ์ ในสาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและศิลปะสิ่งทอ ให้นักศึกษาออกแบบและตัดเย็บชุด ได้แก่ ชุดลำลอง ชุดแฟชั่นชั้นสูง และชุดปาร์ตี้ โดยแนวคิดในการออกแบบให้ความเป็นอิสระ จุดมุ่งหมายต้องการให้นักศึกษา มีแนวคิดใหม่ๆ ในการออกแบบ เรียนรู้เทคนิคในการตัดเย็บ โดยผลงานที่นักศึกษาออกแบบและตัดเย็บ สร้างความภูมิใจให้กับนักศึกษา ก่อนออกไปสู่เส้นทางแฟชั่น
“แมนจู” นายเศรษฐวุฑฒิ์ นามปัญญา ชุดสไตล์เทคโนแฟชั่นโดยได้แนวคิดว่าจากภาพเอกซเรย์ เล่าว่า การออกแบบเครื่องแต่งกายในแบบเทคโนแฟชั่นโดยการใช้ลวดลายและเทคนิคการใช้แสงมาเป็นจุดดำเนินเรื่องการสื่อความหมายของชุดโดยศึกษาจาก องค์ประกอบของภาพเอกซเรย์ ลวดลายที่เกิดจากถ่ายภาพเอกซเรย์ สีและการไล่สี การตัดทอนลวดลายให้เกิดเป็นลายเส้น รวมถึงเทคนิคการมองภาพที่ต้องอาศัยการมองผ่านแสงสว่าง โดยจะเน้นความแปลกใหม่ของการนำเสนอเสื้อผ้าที่ใช้เทคนิคการสกรีนลายเพื่อเล่นกับเทคนิคของแสงไฟที่เกิดจากการซ่อนวงจรกระแสไฟฟ้า เทคนิคการซ่อนสายไฟเรืองแสง และแผ่นเรือง ไว้ภายใต้เนื้อผ้า จึงเกิดแสงสว่างขึ้น
“เมจิ” นางสาวอมรา ยอดทวี เจ้าของผลงานสถาปัตยกรรมบุโรพุทโธเพื่อสร้างสรรค์ชุดราตรี เล่าว่า สถาปัตยกรรมบุโรพุทโธ หรือ Borobudur เป็นพุทธสถานอันสง่างามหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกประติมากรรมแต่ละชิ้นได้รับการจัดวางอย่างงดงามที่มีความหมายอันมีนัยถึงธรรมชาติ และจักรวาล โดยสถาปัตยกรรมแต่ชิ้นสร้างขึ้นจากหินภูเขาไฟโดยมีรูปทรงอันเป็นเอกลักษณ์บนยอดสูงสุด คือ สถูปเจดีย์ทรงระฆังคว่ำโปร่งฉลุลายเป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด จากสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นจึงเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ชุดราตรีในรูปแบบแพทเทินให้มีความแปลกใหม่และน่าสนใจ โดยนำมาตัดเย็บ สำหรับสตรีในยุคสมัยนี้ เน้นที่สีน้ำตาลและสีดำ
“ฝน” นางสาวรัชชา จันทนเสวี เจ้าของผลงานศึกษาลวดลายเมเฮนดิเพื่อสร้างสรรค์ชุดราตรี เล่าว่า ลวดลายเมเฮนดิ คือ ศิลปะเขียนเรือนร่างของสตรีในประเทศอินเดีย นำมาสร้างสรรค์ผลงานชุดราตรี ดึงดูดจุดเด่นและเอกลักษณ์ของลวดลายเมเฮนดิที่มีเสน่ห์บนเรือนร่างสตรี ด้วยลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นที่นิยมคือลวดลายเครือดอกไม้และเถาวัลย์ที่มีความอ่อนช้อยและสวยงาม นำมาสร้างสรรค์บนชุดราตรีมีการใช้เทคนิคการปักลวดลายและปักตกแต่งลูกปัดเพื่อเพิ่มลายละเอียดให้มีเสน่ห์ของเมเฮนดิบนชุดราตรี
“วอม” นายพรวิจิตร เชื้อสมบูรณ์ เจ้าของผลงานศิลปะทังก้าเพื่อสร้างสรรค์ชุดแฟชั่นชั้นสูงสตรี เล่าว่า ศิลปะทังก้า มาจากภาษาธิเบต “ทัง” แปลว่า ธง “ก้า” แปลว่า ภาพวาด “ทังกา” จิตรกรรมบนผืนธง ศิลปะภาพวาดขั้นสูง ที่มีความงดงามด้วยสีสัน และลวดลายอันวิจิตรถูกถ่ายทอดผ่านแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ชุดแฟชั่นชั้นสูงสตรี (Haute Couture) โดยดึงเอารูปแบบและโครงสร้างของเครื่องแต่งกายบุรุษมาออกแบบให้เหมาะสมกับรูปร่างสตรี ให้เกิดความโก้หรู ในรูปแบบที่คลาสิกผสมกับลวดลายศิลปะทังก้าและเทคนิคการตกแต่งด้วย การพิมพ์ผ้า (Digital Print) การปักลูกปัด คริสตัล และพลอยสีต่างๆ จึงออกมาเป็นความงามของศิลปะแฟชั่น ใน Collection “The Novelty of Thangka Art”
กว่า 150 ผลงาน ของว่าที่ดีไซน์เนอร์ไอเดียสุดชิค แนวคิดที่ได้มาจากความเป็นตัวตนของแต่ละชีวิต เทคนิคที่ได้รับมาจากการศึกษา นำมาประยุกต์ จนเกิดเป็นผลงานที่ล้ำสมัย