กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์
คุณแม่ที่กำลังอยู่ในช่วงให้นมบุตร มีอาการเหล่านี้บ้างหรือไม่ อ่อนเพลีย เหน็บชา เป็นตะคริว เบื่ออาหาร กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นเร็ว หรือ เป็นแผลหายช้า นั่นอาจแสดงว่าคุณแม่กำลังขาดสารอาหารที่จำเป็น ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพและประสิทธิภาพในการเลี้ยงดูลูกน้อยแล้ว ยังอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยาวได้ ดังนั้นควรรีบหันกลับมาปรับเรื่องโภชนาการโดยด่วน เพราะภาระหน้าที่ความเป็นแม่ใหญ่หลวงยิ่งนัก
รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล นักวิชาการระดับประเทศผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการโภชนาการ กล่าวว่า “อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานถึง 6 เดือนหรือนานกว่านั้น นับวันจะยิ่งสูงขึ้น เนื่องจากแม่รุ่นใหม่ทราบดีว่า นมแม่คืออาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูก แต่ข้อเท็จจริงคือแม่ชาวไทยอาจไม่ทราบว่ากำลังมีความเสี่ยงที่จะได้รับสารอาหารบางชนิดในระยะให้นมบุตรเพียงประมาณ 30% ของความต้องการของร่างกาย โดยผลจากรายงานการสำรวจภาวะอาหารและโภชนากรของประเทศไทย ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2546 กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นระยะที่แม่ต้องการสารอาหารหลายชนิดในปริมาณที่มากกว่าช่วงก่อนตั้งครรภ์หรือช่วงตั้งครรภ์ เนื่องจากต้องใช้สารอาหารทั้งสำหรับตัวเอง และเพื่อผลิตน้ำนมให้ลูกน้อย ด้วยเหตุนี้จึงพบว่าในช่วงเวลาสำคัญดังกล่าวคุณแม่ไทยอาจได้รับสารอาหารบางชนิดไม่เพียงพอ ได้แก่ แคลเซียม วิตามินเอ และวิตามินซี ซึ่งผลสำรวจพบว่าอาจมีความเสี่ยงที่จะขาดสารอาหารเหล่านี้ถึงเกือบร้อยละ 70 ของปริมาณที่ควรได้รับ นอกจากนี้สารอาหารที่แม่ไทยระยะให้นมบุตรควรได้รับเพิ่มอีกเท่าตัวได้แก่ เหล็ก วิตามินบี 1 และ วิตามิน บี 2 ซึ่งแม่ไม่ควรละเลย เพราะจะบั่นทอนสุขภาพของแม่ และอาจส่งผลเสียต่อศักยภาพในการเลี้ยงดูลูก”
แม่ขาดสารอาหารหรือไม่นั้น ไม่ได้ตัดสินกันที่รูปร่าง มีแม่จำนวนมากที่ขาดสารอาหารทั้งๆที่รับประทานอิ่มทุกมื้อและสมส่วนดี ทั้งนี้เป็นเพราะอาจได้พลังงานที่เพียงพอแต่ได้รับสารอาหารบางอย่างไม่เพียงพอ โดยร่างกายแม่มักจะมีอาการบางอย่างเป็นสัญญาณเตือน เช่น รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เป็นตะคริว เจ็บลิ้น ผิวหนังแห้งเป็นสะเก็ด ปรับการมองเห็นในที่มืดได้ช้า เหน็บชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นเร็ว ปากนกกระจอก เลือดออกตามไรฟัน แผลหายช้า เบื่ออาหาร และอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่มองไม่เห็น เช่น โลหิตจาง และกระดูกพรุนในอนาคต
แม่ระยะให้นมบุตร ควรตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ โดยใส่ใจในสุขภาพ และโภชนาการของตนเองมากขึ้น เลือกรับประทานอาหารที่ให้สารอาหารจำเป็นในปริมาณที่แน่ใจได้ว่าเพียงพอเพื่อส่งต่อให้ลูกน้อยผ่านทางน้ำนม โดยคณะกรรมการจัดทำปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย
พ.ศ.2546 กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดปริมาณการบริโภคในแต่ละวัน สำหรับแม่ระยะให้นมบุตร ดังนี้ ….
คุณแม่ พลังงาน แคลเซียม เหล็ก ไอโอดีน โฟเลต วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินบี1 วิตามินบี2
กิโลแคลอรี/วัน มก./วัน มก./วัน มคก./วัน มคก./วัน มคก./วัน มก./วัน มก./วัน มก./วัน
หญิง 19-30 ปี 1750 800 24.7 150 400 600 75 1.1 1.1
หญิงตั้งครรภ์ 2050 800 24.71 200 600 800 85 1.4 1.4
หญิงให้นมบุตร 2250 800 152 200 500 975 110 1.4 1.6
1ปริมาณแนะนำในผู้หญิงไทยอายุ 19-50 ปี หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับยาเม็ดธาตุเหล็กเสริมวันละ 60 มก.
2หญิงให้นมบุตรควรได้รับธาตุเหล็กจากอาหาร 15 มิลลิกรัมต่อวัน เนื่องจากหญิงให้นมบุตรไม่มีประจำเดือนจึงไม่มีการสูญเสียธาตุเหล็ก
คุณแม่ให้นมบุตรมีความต้องการทั้งพลังงาน และสารอาหารบางชนิดเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ เช่น วิตามินเอ เพิ่มขึ้นจากปกติกว่า 60%, วิตามินซี และบี 2 กว่า 40% รวมไปถึงวิตามินบี 1, โฟเลต และไอโอดีน การรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการได้ตามสัดส่วนที่เหมาะสมในปริมาณที่เพียงพอเป็นสิ่งที่คุณแม่ต้องใส่ใจในช่วงเวลาสำคัญนี้ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณแม่ต้องการได้รับวิตามินเออย่างเพียงพอ ควรรับประทานไข่วันละ 1 ฟอง และรับประทานตับสัปดาห์ละ 1-2 ช้อนกินข้าว อาจเลือกทานมะละกอสุกให้ได้ปริมาณประมาณ 200 กรัมต่อวัน หรือร่วมกับการได้รับวิตามินเอจากแหล่งอื่น เช่น ผักใบเขียว ในขณะเดียวกันควรได้รับแคลเซียมอย่างน้อย 800 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งปกติจะได้รับแคลเซียมจากอาหารอื่นๆ อยู่เพียงประมาณ 30% ของปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน จึงควรเสริมด้วยการดื่มนมจืดทั่วๆ ไป วันละ 2 แก้ว หรืออาจพิจารณานมสูตรเฉพาะ หรือแคลเซียมเม็ดเป็นทางเลือก ทั้งนี้เพื่อให้ได้รับสารอาหารเพียงพอต่อความต้องการของทั้งแม่ และลูกน้อย
สำหรับแม่ในระยะตั้งครรภ์นั้น นักวิชาการให้ความเห็นว่า “แม้ว่าแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับโภชนาการดีกว่าระยะให้นมบุตร แต่จากผลการสำรวจการบริโภคอาหารของหญิงตั้งครรภ์โดยกระทรวงสาธารณสุข ก็ยังพบว่ามีแม่ตั้งครรภ์ทีมีความเสี่ยงที่จะได้รับสารอาหารบางชนิดไม่เพียงพอ ได้แก่ แคลเซียม ธาตุเหล็ก และวิตามินเอ ซึ่งควรได้รับเพิ่มอีกอย่างน้อยประมาณเท่าตัว”
คุณแม่วันนี้ควรใส่ใจกับสุขภาพของตนเองให้มากขึ้น เพราะเราทราบกันดีว่าบทบาทของแม่นั้นมีความสำคัญยิ่งใหญ่ซึ่งควรต้องมีโภชนาการที่ดีเป็นรากฐานเพื่อสนับสนุนให้แม่ได้ดูแลอีก 1 ชีวิตอย่างเต็มศักยภาพ