กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--หอการค้าไทย
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ถือเป็นสัญญาณการชะลอตัวลงอย่างชัดเจนจากปัจจัยภายในประเทศเป็นสำคัญ ส่งผลให้หน่วยงานและสำนักวิจัยทางด้านเศรษฐกิจต่างๆ มีการปรับลดประมาณการภาวะเศรษฐกิจในปี 2557
ลงจากเดิม โดยส่วนใหญ่ประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวเพียง 2-3% เท่านั้น สำหรับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกจะติดลบ 1% ส่วนไตรมาสที่ 2 คาดการณ์ว่าจะเติบโตได้เพียง 0-1% และคาดการณ์ว่าทั้งปี เศรษฐกิจไทยจะเติบโตประมาณ 2.5% บนสมมติฐานที่สำคัญคือรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มต้องสามารถจัดตั้งได้ภายในกลางปีนี้ โดยเหตุผลหลักที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้ปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยมาจากภาวะสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังคงมีความผันผวน
นอกจากนี้ จากการเดินทางไปเยี่ยมเยียนผู้ประกอบการในภูมิภาคต่างๆ ยังสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการธุรกิจ อาทิ ธุรกิจการค้าส่ง-ค้าปลีก ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ได้รับผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่ธุรกิจที่ยังคงเติบโตได้คือการค้าชายแดน
สำหรับสถานการณ์การค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (มาเลเซีย เมียนมาร์ สปป.ลาว และกัมพูชา) มีการเติบโตและความสำคัญเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2556 มีมูลค่าค้าชายแดนทั้งสิ้น 924,241.79 ล้านบาท(ส่งออก 560,196 ล้านบาท/นำเข้า 364,046 ล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วน 70% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (มูลค่าการค้าทั้งหมด 1,322,144 ล้านบาท) โดยมีสัดส่วนมูลค่าการค้าชายแดนกับประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นตลาดสำคัญ 54.25% เมียนมาร์ 21.30%, สปป.ลาว 14.29% และกัมพูชา 10.16% ตามลำดับ
ในปี 2557 (มกราคม-กุมภาพันธ์) การค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน มีมูลค่าการค้ารวม 158,138ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (เปรียบเทียบเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2556) 2.19%โดยมีมูลค่าการส่งออก 99,256 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.23% (เปรียบเทียบกับเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2556) โดยเป็นการเติบโตเพิ่มขึ้นของมูลค่าการชายแดนไทย-เมียนมาร์ 24.27% รองลงมา คือการเติบโตของมูลค่าการชายแดนไทยกับประเทศกัมพูชา เพิ่มขึ้น 14.17% สปป.ลาว เพิ่มขึ้น 9.04% และมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 0.24% ตามลำดับ
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะของตัวแทนการค้าของภาคเอกชนไทย ได้ตระหนักถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่มีผลกระทบในระดับประเทศและผู้ประกอบการธุรกิจ จึงได้เร่งปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์เพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจการค้าใน 10 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วยภาคสินค้า ได้แก่ ธุรกิจเกษตร อาหารและพลังงาน ประมง ไลฟ์สไตล์ อสังหาริมทรัพย์ สิ่งทอ และภาคบริการ ได้แก่ บริการด้านท่องเที่ยวและสุขภาพ ค้าปลีกและค้าส่งค้าชายแดน ICT E-Commerce Digital Marketing และโลจิสติกส์ โดยในส่วนของค้าชายแดน ได้มีการจัดทำ “ยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนธุรกิจค้าชายแดน” ขึ้น โดยแบ่งกลยุทธ์ในการดำเนินงานไว้ 5 ด้าน ได้แก่
1. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Border Infrastructure) เพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านการดำเนินธุรกิจระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น การพัฒนาด่านการค้าชายแดนจากจุดผ่อนปรนเป็นด่านชายแดนถาวร รวมถึงขยายด่านชายแดนเพื่อรองรับการขยายตัวของการค้าและการท่องเที่ยว รวมถึงการเชื่อมโยงไปยังเมืองสำคัญการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ การขยายถนน การก่อสร้างอุโมงค์ และโครงการทางพิเศษระหว่างเมือง เป็นต้น
2. ด้านการขนส่ง (Logistics) เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมและอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าและบริการระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกิจกรรมที่จะดำเนินการ เช่น การเร่งรัดให้สัตยาบันในพิธีสารแนบท้าย CBTA 6 ฉบับ เพื่อให้มีการเปิดเดินรถขนส่งและรถโดยสารระหว่างกันโดยเร็วที่สุด การผลักดันให้มีการเจรจาทวิภาคีสำหรับการเดินรถทุกประเภท ระหว่างไทย-เมียนมาร์ ไทย-มาเลเซีย และไทย-กัมพูชา เพื่อความสะดวกคล่องตัว เป็นต้น
3. ด้านกฏระเบียบ (Rules & Regulations) เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางด้านกฎระเบียบทางการค้า และเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการของไทยสามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้น เช่น การปรับปรุงกฏระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกและรองรับรูปแบบการทำธุรกิจที่หลากหลาย เช่น Transshipment/ Transit, การออกเอกสารรับรอง C/O หรือ Form D บริเวณด่านชายแดน เป็นต้น
4. ด้านเครื่องมือสนับสนุน (Supporting Tools) เพื่อให้การดำเนินธุรกิจตามแนวชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีความสะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามด่านชายแดนสำคัญ เพื่อสนับสนุนการแปรรูปและจ้างแรงงานท้องถิ่น รวมทั้ง การทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น การถือครองเงินตรา,การนำเงินข้ามประเทศ การใช้เงินสกุลท้องถิ่น เป็นต้น
5. ด้านการส่งเสริมธุรกิจชายแดน (Promotion Activities) เพื่อส่งเสริมกิจกรรมสำหรับด่านชายแดนและเส้นทางที่เปิดใช้งานแล้ว เช่น การจัดงานแสดงสินค้า (Trade Fair) บริเวณด่านชายแดนสำคัญ การจัดคณะนักธุรกิจเดินทางสำรวจเส้นทางและพบปะเครือข่ายทางธุรกิจ เพื่อส่งเสริมการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน การจัดสัมมนาและจับคู่ทางธุรกิจ รวมถึงการลงนามความร่วมมือระหว่างหอการค้า 7 จังหวัด ที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศกัมพูชา(จังหวัดจันทบุรี ตราด บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี) เป็นต้น
“การเร่งผลักดันการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนธุรกิจค้าชายแดน จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในภาคการส่งออก จากในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาที่มีการเติบโตเพียงแค่ 0.2% ให้มีโอกาสเติบโตได้ถึง 5% ในปี 2557 ตามที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้” นายอิสระ กล่าว
นายนิยม ไวยรัชพานิช รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการส่งเสริมการค้ากับประเทศเพื่อบ้าน กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการจัดทำยุทธศาสตร์การค้าชายแดนแล้วสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนอีกหลายด้าน ได้แก่
1. การจัดงานแสดงสินค้า สภาหอการค้าฯ ได้มีแผนที่จะจัดงานแสดงสินค้าในบริเวณชายแดนที่สำคัญของไทย โดยจะเริ่มที่ห้างสรรพสินค้าโลตัส อ.แม่สอด จ.ตาก ประมาณกลางเดือนตุลาคม 2557 เพื่อส่งเสริมให้มีการค้าระหว่างไทย-เมียนมาร์เพิ่มมากขึ้น โดยในงานนอกจากจะจัดให้มีการแสดงสินค้าไทยแล้ว ยังได้จัดให้มีการจับคู่ธุรกิจระหว่างนักธุรกิจไทย และนักธุรกิจเมียนมาร์อีกด้วย สำหรับ จังหวัดชายแดนอื่น ๆ ก็จะมีการจะจัดงานต่อไปในอนาคต
2. การจัดคณะนักธุรกิจเดินทางไปสำรวจเส้นทาง พร้อมกับสร้างเครือข่ายการกระจายสินค้า สภาหอการค้าฯ ได้นำคณะนักธุรกิจไทยเดินทางไปสำรวจเส้นทางทางการค้า ทั้งนี้ เพื่อให้นักธุรกิจไทยเห็นสภาพทางการค้าที่แท้จริงในระหว่างการเดินทาง พร้อมกับสร้างเครือข่ายการกระจายสินค้า โดยให้นักธุรกิจไทยจะมีโอกาสได้พบกับหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเรื่องของกฏระเบียบทางการค้า และภาคเอกชนที่ต้องการร่วมมือทางธุรกิจกับนักธุรกิจไทย ซึ่งครั้งล่าสุดได้จัดพาคณะนักธุรกิจชายแดน เดินทางสำรวจเส้นทางการค้าและการท่องเที่ยว เส้นทาง เลย – หลวงพระบาง – บ่อเต็น – เชียงของ เมื่อวันที่ 12-16 มีนาคม 2557
3. การจัดสัมมนาและการจับคู่ธุรกิจ สภาหอการค้าฯ ได้มีแผนที่จะนำคณะนักธุรกิจ และนักธุรกิจรุ่นใหม่ YEC ในภาคใต้ เดินทางไปพบปะธุรกิจกับนักธุรกิจ และ YEC ของมาเลเซีย ในปี 2014 เพื่อสร้างเครือข่ายทางธุรกิจระหว่งนักธุรกิจไทยและนักธุรกิจมาเลเซีย พร้อมกับหารือร่วมกันถึงปัญหาและอุปสรรคทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ เพื่อนำเสนอรัฐบาลต่อไป
สำหรับข้อเสนอแนะของสภาหอการค้าฯ ที่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐหรือส่วนราชการช่วยเร่งรัดและผลักดัน สำหรับเรื่องการส่งเสริมการค้าชายแดนในช่วงนี้ คือ
1. ในการประชุมทวิภาคีของกระทรวงพาณิชย์กับประเทศเพื่อนบ้าน (JTC) รัฐบาลทั้งสองฝ่ายควรจะเพิ่มเป้าหมายตัวเลขการค้าเพิ่มขึ้นในแต่ละปีให้แน่นอน และควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทั้ง 2 ฝ่าย โดยให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมด้วย เพื่อที่จะผลักดันให้เป็นไปตามเป้าที่ตกลงกันไว้ในแต่ละปี
2. ควรขยายเวลาในการ เปิด-ปิด ด่านให้มีเวลาในการทำการค้าแต่ละวันเพิ่มมากขึ้น และปรับปรุงด่านที่แออัดเพื่อให้มีความคล่องตัวเพื่อเพิ่มปริมาณการค้าให้มากยิ่งขึ้น
3. ขอให้รัฐบาลสนับสนุนให้มีการเปิดทางอนุมัติเฉพาะคราว ตามมาตรา 5 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 7 ) พุทธศักราช 2480 เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการขนส่งระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ในด่านพรมแดนอื่น ๆ ที่มีการขนส่งที่หนาแน่น เช่น ที่ด่านอรัญประเทศ – ปอบเปต เป็นต้น
4. ขอให้รัฐบาลเจรจาเร่งออก พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งระหว่างประเทศ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ให้เร็วที่สุด เพื่อที่ประเทศไทยจะได้สามารถให้สัตยาบันภาคผนวกและพิธีสาร แนบท้ายความตกลง CBTA ในเส้นทาง EWEC NSEC และ SEC ได้ครบทุกฉบับ เพื่อให้ผู้ประกอบการขนส่งสามารถปฏิบัติตามความตกลงได้
5.. ขอให้รัฐบาลเร่งเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อร่วมกันยกฐานะจุดผ่อนปรนทางการค้าที่มีศักยภาพให้เป็นด่านถาวรให้มากที่สุด
6. เพื่อให้ชนชั้นกลางและชนชั้นล่างของประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาซื้อสินค้าบริเวณชายแดนประเทศไทยมากยิ่งขึ้น รัฐบาลควรอนุญาตให้ใช้เงินสกุลของประเทศเพื่อนบ้านในบริเวณชายแดนได้ โดยเฉพาะกับประเทศเมียนมาร์
7. ขอให้รัฐบาลเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว เส้นทาง 5 เชียง ประกอบด้วย 1) เชียงใหม่ ประเทศไทย 2) เชียงราย ประเทศไทย 3)เชียงตุง ประเทศเมียนมาร์ 4) เชียงรุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน 5) เชียงทอง หรือ หลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เส้นทางมรดกโลกระหว่าง ประเทศไทย และ สปป.ลาว ได้แก่เส้นทาง สุโขทัย – อุตรดิตถ์ – ปากลาย(แขวงไชยบุรี สปป.ลาว) – เมืองไชยบุรี – เมืองหลวงพระบาง และเส้นทาง 3 เหลี่ยมมรกต ประกอบด้วย ประเทศไทย สปป.ลาว เวียตนามและเขมร