กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)กำหนดเปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี วิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม ในเดือนสิงหาคม 2557 นี้ทั้งหลักสูตรภาษาไทย และอินเตอร์ในระดับมาตรฐานโลก เพื่อรองรับการเจริญเติบโตในธุรกิจด้านดนตรีและความบันเทิงของประเทศไทย-อาเซียนและการแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งหลักสูตรนี้เปิดขึ้นเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยในการขึ้นสู่ผู้นำในอุตสาหกรรมและนวัตกรรมทางด้านบันเทิงแห่งอาเซียน มุ่งเป้าหมายผู้เรียนนักศึกษาไทย อาเซียนและนานาชาติ
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า เนื่องจากการเจริญเติบโตอันรวดเร็วของไอทีและดิจิตอลเทคโนโลยีทำให้อุตสาหกรรมดนตรีและบันเทิงนี้เอง ขยายตัวเข้าถึงทุกที่ทุกเวลา มีบทบาทสูงต่อสังคมและสื่อสังคมออนไลน์ ในรูปแบบของ Digital Multimedia ซึ่งจะตอบรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโลกและภูมิภาค ในปี 2558 ก็จะเข้าสู่การรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC นำมาซึ่งการติดต่อค้าขายและข่าวสารมากขึ้น ตลาดที่ใหญ่ขึ้น พร้อมทั้งโอกาสที่เปิดกว้างมากขึ้น ที่น่าจับตามองที่สุดก็คือ อุตสาหกรรมดนตรี บันเทิงและข่าวสารในตลาดขนาดรวมถึง 600 ล้านคน จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยในการชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในอุตสาหกรรมนี้ เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมและนวัตกรรมทางด้านบันเทิงแห่งอาเซียน
จากข้อมูลการวิจัยของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center : TCDC ) ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะด้านภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน ) ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า มูลค่าของอุตสาหกรรมดนตรีในประเทศไทยมีเงินสะพัดราว 35,000 ล้านบาทต่อปี โดยแบ่งออกเป็นธุรกิจค่ายเพลงมีมูลค่าตลาดรวมไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท ธุรกิจวิทยุที่เกี่ยวข้องกับด้านดนตรีและบันเทิงมูลค่าตลาดรวมกว่า 6,500 ล้านบาท ธุรกิจเครื่องเสียงและเครื่องดนตรีมูลค่าตลาดรวมกว่า 5,000 ล้านบาท ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแสงและเสียง มูลค่าตลาดรวมกว่า 2,000 ล้านบาท ธุรกิจโรงเรียนสอนดนตรีมูลค่าตลาดรวมกว่า 300 ล้านบาท โดยมีแนวโน้มการเจริญเติบโตของธุรกิจและอุตสาหกรรมบันเทิงและดนตรีไทยมีอัตราไม่ต่ำกว่า 10%ต่อปี นอกจากนั้นในส่วนของอุตสาหกรรมเกมส์และแอนิเมชั่นของไทยในปี 2553 มีมูลค่ารวมกว่า 22,000 ล้านบาทซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2551ที่มีมูลค่ากว่า 17,000 ล้านบาท นั่นเป็นการเจริญเติบโตที่ชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ได้กลายเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สร้างสรรค์ประเทศ เสริมสร้างวัฒนธรรมและภาพลักษณ์อันดีของประเทศ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิทักษ์ ธรรมวาริน เปิดเผยว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้เปิดหลักสูตรวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม (Bachelor of Engineering Program in Music Engineering and Multimedia ) ขึ้นมา เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี กำหนดเปิดรับสมัคร ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2557 และจะเปิดสอนในเดือนสิงหาคม 2557 เนื่องด้วยความพร้อมและศักยภาพของประเทศไทยที่มีอยู่ ประกอบกับมีที่ตั้งที่เหมาะสม และมีความหลายหลายทางด้านวัฒนธรรม ศักยภาพการผลิตผลงานด้านการบันเทิงที่มีคุณภาพสูง และสามารถขยายตลาดทางด้านผลผลิตทางดนตรี โฆษณา เกมส์ ภาพยนตร์ และแอนิเมชั่นออกไปยังต่างประเทศและอาเซียนได้ ดังนั้นการสร้างบุคลากรที่มีความสามารถในอุตสาหกรรมบันเทิงจึงมีความจำเป็น เนื้อหาหลักสูตรนี้เน้นการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฏีควบคู่กับการปฏิบัติทำงานจริงในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ แบ่งหลักสูตรออกเป็น 2 ภาษาได้แก่ หลักสูตรภาษาไทยและหลักสูตรอินเตอร์ จุดเด่นเป็นมาตรฐานสากลเช่นเดียวกับที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอย่าง Miami University, Stanford University ประเทศสหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัย McGill ประเทศคานาดา และ Queen Mary University of London ประเทศอังกฤษ รวมทั้งยังมีสมาคมวิชาชีพระดับนานาชาติรองรับ เช่น IEEE Signal Processing Society และ Audio Engineering Society ( AES) ซึ่งสามารถรองรับการเรียนการสอนทั้งนักศึกษาไทย นักศึกษาอาเซียนและนักศึกษานานาชาติได้เป็นอย่างดี
สำหรับเนื้อหาหลักสูตรนี้ ถูกออกแบบมาให้สอดรับกับแนวคิดการศึกษาในศตวรรษที่ 21ที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นหลัก และเป็นการผสมผสานองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมและองค์ความรู้ด้านดนตรีเข้าด้วยกัน เพราะว่าในปัจจุบันศาสตร์ด้านศิลปะการดนตรียุคใหม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทุกขั้นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ อาทิ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมอิเลคทรอนิกส์ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานสร้างสรรค์ทางด้านดนตรีและอีเว้นท์เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังผสมผสานศาสตร์และศิลป์ในการผลิตงานด้านบันเทิง ได้แก่ ศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่มุ่งเน้นการนำความรู้ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า อิเลคทรอนิกส์ สื่อสารโทรคมนาคม และไอที มาประยุกต์ร่วมกับศิลป์ คือ ดนตรี องค์ประกอบทางแสง สี เสียง กราฟิกและแอนิเมชั่น เข้าด้วยกัน และด้วยความพร้อมของคณะอาจารย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สื่อการเรียนการสอน อุปกรณ์เครื่องมือในการฝึกปฏิบัติงาน ห้องสตูดิโอและห้องคีย์บอร์ดสตูดิโอ ทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจง่าย และสนุกสนานในการเรียน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิทักษ์ ธรรมวาริน กล่าวเพิ่มเติมว่า “วิชาที่ศึกษาในหลักสูตรนี้จะเป็นกลุ่มวิชาพื้นฐานทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เช่น Mathematics for Music Engineering and Multimedia, General Physics กลุ่มวิชาพื้นฐานทางวิศวกรรมศาสตร์ เช่น Engineering Drawing, Engineering Machanics, Engineering Materials กลุ่มวิชาเฉพาะสาขาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม เช่น Music Theory, Keyboard Skill, Music and Multimedia Performance, Audio and Music Production, Studio Recording Laboratory, Music and Multimedia Business, Music Engineering and Multimedia Industrial Training
การเรียนวิศวกรรมทางดนตรีและสื่อประสม ผู้เรียนจะสามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ ออกแบบและนำหลักการทางวิศวกรรมไปประยุกต์ใช้งานและสร้างนวัตกรรมทางดนตรีและสื่อประสมใหม่ๆขึ้นมาได้ ซึ่งต่างจากสถาบันอื่นๆที่มุ่งการเรียนเพื่อใช้เครื่องมือเป็นอย่างเดียว ทำให้ผู้เรียนมีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงให้มีมาตรฐานและคุณภาพระดับสูงทัดเทียมฮอลลีวู้ด”
นอกจากนี้ ยังนำความรู้ไปประกอบอาชีพที่มีรายได้สูงในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมดนตรีและผลิตเครื่องดนตรี เช่น Sound Engineer, Light and Sound Control งานสร้าง Audio / Sound Effect สำหรับเครื่องดนตรีต่างๆ งานในอุตสาหกรรมภาพยนต์ /โฆษณา /เกมส์ และแอนิเมชั่น เช่น ทีมงานทางเทคนิคแสง-สี-เสียง-เอฟเฟค-ภาพ เป็นวิศวกรระบบเครือข่ายสำหรับ Download Digital Contents เกมส์ออนไลน์ Mobile Applications งานในกลุ่มอุตสาหกรรมด้านวิศวกรรมความปลอดภัยทางเสียงและโสตทัศนะอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น วิศวกรด้านความปลอดภัยทางเสียงผู้ออกแบบและสร้างเครื่องช่วยฟัง งานในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น วิศวกรด้านระบบเสียงในรถยนต์ระบบอะคูสติกในห้องโดยสาร ระบบสื่อสารในรถยนต์และระบบการขนส่งอัจฉริยะ งานในกลุ่มอุตสาหกรรม Consumer Electronics เช่น วิศวกรด้านระบบเครื่องเสียงและอะคูสติกในสถานที่ต่างๆ การผลิตลำโพง และ Amplifier ตลอดจนเป็นวิศวกรและเจ้าหน้าที่โสตทัศนะอุปกรณ์ในสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ หน่วยงานราชการ และองค์กรต่างๆ รวมทั้งประกอบอาชีพอิสระในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดนตรีและสื่อประสม เช่น เปิด Studio House ทำเพลงประกอบโฆษณา/สารคดี เป็น Organizer จัดงานนิทรรศการ/งานแสดง/งานเปิดตัวสินค้า/คอนเสิร์ต เป็นต้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิทักษ์ ธรรมวาริน กล่าวทิ้งท้ายว่า “ประเทศไทยยังขาดบุคลากรด้านวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสมอีกมาก ทั้งการทำงานเบื้องหน้าและเบื้องหลัง และที่สำคัญตลาดด้านอุตสาหกรรมบันเทิงมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีบทบาทต่อสังคมสูง ทำให้มีการช่วงชิงบุคคลากรด้านนี้กันเป็นจำนวนมาก ผู้สนใจศึกษาต่อในสาขาวิชาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) จะเปิดรับนักศึกษาในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2557 นี้ สอบถามเพิ่มเติมที่โทร. 02-329-8000,02-329-8099 หรือ www.music-engineering.kmitl.ac.th”