กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--ซีพีเอฟ
นางสาวกุหลาบ กิมศรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักระบบมาตรฐานสากล บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟเดินหน้าโครงการผลิตภัณฑ์ซีพีเอฟที่ยั่งยืน หรือ CPF’s Product Sustainability ภายใต้นโยบายการสร้างห่วงโซ่การผลิตสีเขียว โดยสนับสนุนให้ผู้ผลิตรายอื่นร่วมกันสร้าง green supply chain ล่าสุดได้ผลักดันผู้จำหน่ายวัตถุดิบ (Supplier) ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีผลิตภัณฑ์นำร่อง คือ ไข่ไก่สดแพ็ค 18 ฟอง ที่เปลี่ยนถาดบรรจุไข่ไก่สดจากพลาสติก (PET) เป็นกระดาษรีไซเคิล 100% ช่วยลดการใช้พลาสติกลงถึง 93% สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 70% ซึ่งวางจำหน่ายตั้งแต่ปี 2556 ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มได้รับความนิยมจากผู้บริโภคที่รักสิ่งแวดล้อมหันมาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ไข่ไก่สดในหีบห่อใหม่นี้ ขณะที่การผลิตภัณฑ์ไก่ย่างเทอริยากิ ได้ทำการลดความหนาของพลาสติกบรรจุภัณฑ์ลง 25% ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก 35 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อตัน บรรจุภัณฑ์แบบใหม่ 1 กล่องนี้ เทียบเท่ากับการช่วยปิดไฟได้ 1 ดวง เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมใช้ชีวิตแบบสังคมคาร์บอนต่ำ
นางสาวกุหลาบ กล่าวอีกว่า โครงการผลิตภัณฑ์ซีพีเอฟที่ยั่งยืน มีกรอบการดำเนินงาน 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2555 โดยเน้นการสร้างผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Product) และปี 2556-2557 ดำเนินการในส่วนของระบบการกระจายสินค้าและขนส่งสีเขียว (Green Logistics) และกำลังก้าวเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตสีเขียว (Green Value Chain) ในปี 2557 นี้ เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยบริษัททำการประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment : LCA) เพื่อให้ทราบถึงผลกระทบของผลิตภัณฑ์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมตลอดช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานสากล ในกลุ่มผลิตภัณฑ์สีเขียว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ไก่สดและไก่ปรุงสุก ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ จนถึงโรงงานอาหารแปรรูป
จากนั้นจึงนำข้อมูล LCA ที่ได้มาประเมินประสิทธิภาพเชิงเศรษฐนิเวศ (Eco-efficiency) ที่จะช่วยชี้วัดว่าธุรกิจมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสังคม จากการเปรียบเทียบข้อมูลการใช้วัตถุดิบและพลังงานของปี 2554 กับฐานข้อมูลปี 2551 พบว่าผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทดีขึ้นในทุกด้าน ทั้งด้านพลังงาน การปล่อยมลพิษ ศักยภาพในการก่อให้เกิดความเป็นพิษ อุบัติเหตุและความเจ็บป่วยจากการทำงาน ทรัพยากร และการใช้ที่ดิน กล่าวคือ ในการผลิตไก่สด 1 กิโลกรัม สามารถลดใช้พลังงานได้ถึง 11% ใช้เชื้อเพลิงลง 8% ช่วยลดการปล่อยน้ำทิ้ง มลพิษทางอากาศและของเสียได้ 8% ขณะที่การผลิตไก่ปรุงสุก สามารถลดใช้พลังงานได้ 11% ใช้เชื้อเพลิงลดลง 7% และลดการปล่อยน้ำทิ้ง มลพิษทางอากาศ และของเสียได้อีก 8% โดยผลการประเมินนี้ผ่านการรับรองในขั้น Critical Review จากหน่วยงานภายนอก คือ TUV Rheinland ประเทศเยอรมัน
นางสาวกุหลาบ กล่าวว่า บริษัทมุ่งมั่นพัฒนาการผลิตเพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง และให้ความสำคัญต่อการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนด้วยการนำมาตรฐานอื่นๆ มาใช้ เช่น IFS, BRC, Global G.A.P และฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon footprint label) ซึ่งปัจจุบันสินค้าของบริษัทที่ขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์แล้วจำนวน 144 ผลิตภัณฑ์ และได้ต่อยอดสู่การทำวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ (Water footprint) ใน 3 ผลิตภัณฑ์ คือ เกี๊ยวกุ้ง ไก่สด และไข่ไก่ เตรียมพร้อมรองรับการขาดแคลนน้ำในอนาคต