กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--Media Agency
ติดงาน บ้างาน ระวัง “ออฟฟิศซินโดรม” ถามหา วันแรงงานที่ใกล้จะถึงนี้ สังคมของคนทำงาน คงหนีไม่พ้น “พนักงานออฟฟิศ” ซึ่งถือเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสมัยนี้ ที่ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพ จากการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการนั่งหน้าจอคอมเป็นเวลานาน อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งในปัจจุบันความเร่งรีบของสังคมเมือง และความเจริญก้าวหน้าของโลกทำให้ชีวิตมีการแข่งขันกันมากขึ้น เมื่อทำงานหนักมากขึ้นอาจส่งผลให้เป็น "โรคติดงาน " หรือ "โรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)" ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า "โรคบ้างาน” มักเกิดกับผู้ที่มีบุคลิกเป็นคนสมบูรณ์แบบ เจ้าระเบียบ ชอบแข่งขัน มีความทะเยอทะยาน เอาจริงเอาจัง มีความสุขจากการทำงาน และมีจิตใจคิดวนเวียนอยู่กับการทำงาน อาการสำหรับผู้ที่เป็นโรคออฟฟิศซินโดรมมัก ปวดหัว ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดท้ายทอย สายตาพร่ามัว ปวดกล้ามเนื้อตา ซึ่งจะส่งผลเสียต่อร่างกาย จนกลายเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น โรคหัวใจ โรคกระเพาะ เบาหวาน และความดัน เป็นต้น ส่วนอาการในด้านอารมณ์ คือ กลายเป็นผู้ที่มองอะไรขวางหูขวางตาไปหมด เกรี้ยวกราดกับเพื่อนร่วมงาน การพูดคุยไม่เหมือนเดิม จะให้ความสนใจแต่เฉพาะในเรื่องของการทำงาน จนส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว
นพ. ปราโมทย์ อุดมเลิศวนสิน ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า อวัยวะที่สำคัญมากและมักเป็นต้นเหตุของอาการปวด คือ คอ ซึ่งเป็นอวัยวะหนึ่งที่มีการใช้มากที่สุด ยิ่งการทำงานในยุคปัจจุบันคนต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์ต้องก้มหน้าเงยหน้าอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับงานในปัจจุบันต้องใช้สมองมากทำให้เกิดความเครียด จึงเกิดอาการ ปวดคอ และปวดศีรษะ ซึ่งคอถือเป็นอวัยวะที่บอบบางเมื่อเทียบกับขนาดสมองและลำตัว สามารถเกิดความชอกช้ำหรือบาดเจ็บได้ง่าย นอกจากนั้นคอก็ยังเป็นศูนย์รวมของเส้นประสาทที่รับคำสั่งจากสมองไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย อาการปวดบริเวณคอพบได้ไม่บ่อยเท่าอาการปวดหลัง อาการปวดคอที่พบบ่อยที่สุดคือ กล้ามเนื้อคอหดเกร็งทำให้เอี้ยวคอหรือเคลื่อนไหวศีรษะไม่ได้ หรือที่เรียกว่าตกหมอน ซึ่งส่วนใหญ่จะหายเองได้ ซึ่งสาเหตุของการปวดคอที่พบบ่อย มักจะเกิดจากอิริยาบทหรือท่าที่ผิดลักษณะ ทำให้กล้ามเนื้อบางมัดถูกใช้งานจนเมื่อยร้าเกินไป เช่น บางคนชอบนั่งก้มหน้า หรือช่างที่ต้องเงยหน้าอยู่ตลอดเวลา ใช้หมอนสูงเกินไป วิธีแก้ต้องใช้หมอนหนุนต้นคอหรือบริเวณท้ายทอย ความเครียดทางจิตใจ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุ ที่เกิดจากสถานที่ทำงานไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เพื่อนร่วมงาน รวมถึงเจ้านาย หรือพักผ่อนที่ไม่พอเพียง ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อคอหดเกร็ง หรือ คอเคร็ดหรือยอก เกิดจากการที่กล้ามเนื้อคอต้องทำงานมากเกินไป เนื่องจากคอเคลื่อนไหวเร็วเกินไป หรือรุนแรงเกินไป ทำให้เอ็นและกล้ามเนื้อถูกยืดมากจนมีการฉีกขาดบางส่วน จนเกิดอาการปวด ตัวอย่างที่ทำให้เกิดคอเคล็ด เช่น การก้มเพื่อมองหาของใต้โต๊ะ การหกล้ม
นพ.ปราโมทย์ แนะนำการดูแลตนเองของผู้ที่ปวดคอเรื้อรังเนื่องจากการทำงานนั้น อาการปวดมักจะไม่รุนแรง เวลาก้มหรือเงย ตะแคงหรือเอี้ยวคอจะทำให้ปวดเพิ่มขึ้น การดูแลเบื้องต้นได้แก่ กินยาแก้ปวด ประคบด้วยน้ำแข็งหรือน้ำอุ่นไว้อาจทำภายหลังจากการอาบน้ำอุ่นหรือประคบร้อนแล้ว 10-15 นาที และสิ่งจำเป็นคือการออกกำลังกล้ามเนื้อคอ เป็นส่วนสำคัญในการป้องกัน การบริหารกล้ามเนื้อคอเพื่อเพิ่มความยืดยุ่นของเอ็นและกล้ามเนื้อรอบคอ การออกกำลังกายโดยทั่วไป นับเป็นส่วนสำคัญ เนื่องจากการออกกำลังกายจะทำให้หัวใจแข็งแรง มีการสูบฉีดโลหิตเพิ่มขึ้น กล้ามเนื้อของร่างกายหลายๆ ส่วน เช่น กล้ามเนื้อขา หลัง จะแข็งแรง กระดูกจะเสื่อมน้อยลง
สัญญาณอาการอันตรายที่ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ ได้แก่ ปวดต้นคอร้าวลงไหล่ถึงแขน หรือข้อมือ ปวดต้นคอร่วมกับชาที่นิ้วมือ ปวดต้นคอร่วมกับอาการมืออ่อนแรง ปวดต้นคอหรือปวดสะบักเรื้อรัง ท่านที่มีอาการเหล่านี้เมื่อมาพบแพทย์ แพทย์ก็จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกายของท่าน จากนั้นก็จะพิจารณาว่าสมควรตรวจเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเอกซเรย์ทั่วไปที่คอ หรือตรวจด้วยแม่เหล็ก หรือตรวจการนำกระแสประสาท เมื่อได้การวินิจฉัยโรคเพียงพอต่อการรักษาแล้ว ก็จะพิจารณาให้การรักษาที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งในรายที่เป็นไม่มากอาจจะแค่ใช้การรักษาโดยการทำกายภาพบำบัด หรืออาจใช้ยารับประทานประเภทแก้อักเสบ คลายกล้ามเนื้อ การใช้อุปกรณ์ประคอง (Soft Collar) ในรายที่เป็นมากปวดคอร่วมกับมีอาการชาแปล๊บๆ หรือปวดร้าวลงแขน โดยเฉพาะถ้าเคยรักษาโดยการรับประทานยา กายภาพบำบัด แล้วไม่ได้ผลก็อาจจะรักษาโดยวิธีอื่นเลย เช่น การฉีดยาไปที่เส้นประสาท (Nerve block) การจี้ด้วยคลื่นความร้อน (Nucleoplasty) ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลดีไม่ต้องผ่าตัด หรือรายที่เป็นมากมีอาการแขนและขาอ่อนแรง ก็จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่มากขึ้น ถึงกับต้องผ่าตัดก็ได้ วิธีการผ่าตัดก็มีหลายวิธี เช่น เอาหมอนรองกระดูกออก แล้วเชื่อมต่อให้ติดกันหรือใส่หมอนรองกระดูกเทียม
นอกจากนี้การดูแลตนเองให้ห่างจากโรคออฟฟิศซินโดรมง่าย ๆ เลยคือ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานที่หนักเกินไป ให้สมดุลกับเวลาพักผ่อน และควรมีการผ่อนคลายระหว่างการทำงาน เช่น พักสายตา หายใจลึก ๆ สักพัก เพียงทำเท่านี้ก็เป็นดูแลตนเองเบื้องต้นแล้วครับ นพ. ปราโมทย์ ฝากทิ้งท้าย