กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--โจนส์ แลง ลาซาลล์
ตลาดโรงแรมในกรุงเทพฯ มีผลประกอบการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมาระหว่างปี 2554 ถึง 2556 แต่ในไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่า อัตราการเข้าใช้ห้องพักและรายได้ของโรงแรมในกรุงเทพฯ ได้ปรับตัวลดลง ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดต่ำลงจากสาเหตุความไม่สงบทางการเมือง อย่างไรก็ดี แม้สถานการณ์ทางเมืองยังคงมีความไม่แน่นอนสูง แต่คาดว่าโรงแรมในกรุงเทพฯ น่าจะมีผลประกอบการที่ดีขึ้นในไตรมาสสอง หลังจากมีการประกาศยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ตามการรายงานจากหน่วยธุรกิจบริการด้านโรงแรมของ
เจแอลแอล (โจนส์ แลง ลาซาลล์) ซึ่งเป็นบริษัทบริการและที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์
นายแอนดรูว์ แลงดอน รองประธานบริหาร หน่วยธุรกิจบริการด้านโรงแรมของเจแอลแอล กล่าวว่า “เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เริ่มขยายตัวขึ้นอีกครั้งนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ตามมาด้วยการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในเดือนมกราคมของปีนี้ มีผลทำให้จำนวนชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ลดลง ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจโรงแรม ดังจะเห็นได้จากอัตราการใช้บริการห้องพักที่ลดต่ำลง ซึ่งมีผลทำให้รายได้จากการให้บริการห้องพักของโรงแรมลดลงไปด้วย แม้อัตราค่าบริการห้องพักของโรงแรมทุกระดับในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จะสูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว 1.2%-5.4%
ข้อมูลจากกรมการท่องเที่ยวระบุว่า ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ในปี 2556 มีจำนวนทั้งสิ้น 17.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 20.1% จากปี 2555 แต่สำหรับสามเดือนแรกของปีนี้ มีจำนวนลดลง 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การลดลงของจำนวนชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ดังกล่าว ส่งผลกระทบทันทีต่อภาคธุรกิจโรงแรมของกรุงเทพฯ
- กลุ่มโรงแรม 5 ดาวได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีอัตราการเข้าใช้บริการห้องพักลดลงจาก 75.2% ในไตรมาสแรกของปี 2556 เหลือ 45.2% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ทั้งนี้ แม้อัตราค่าบริการห้องพักในไตรมาสแรกของปีนี้ จะสูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว 5.4% แต่อัตราการเข้าใช้บริการห้องพักที่ลดลง ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อห้องพักที่มีไว้บริการทั้งหมด ปรับลดลง 36.6%
- ในช่วงเดียวกัน กลุ่มโรงแรม 4 ดาวมีอัตราค่าบริการห้องพักสูงขึ้น 1.2% แต่อัตราการเข้าใช้บริการห้องพักที่ปรับลดลงจาก 80.8% เหลือ 54% ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อห้องพักที่มีไว้บริการทั้งหมด ปรับลดลง 32.4%
- ส่วนกลุ่มโรงแรม 3 ดาวอัตราค่าบริการห้องพักสูงขึ้น 1.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2556 ในขณะที่อัตราการเข้าใช้ห้องพักลดต่ำลงจาก 81.3% เหลือ 55.3% ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อห้องพักที่มีไว้บริการทั้งหมด ปรับลดลง 30.9%
นายแลงดอนกล่าวว่า “แม้จะยังไม่มีรายงานข้อมูลตัวเลขอย่างเป็นทางการหลังจากมีการยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม แต่หลายฝ่ายมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ภาคธุรกิจโรงแรมของกรุงเทพฯ น่าจะมีผลประกอบการที่ดีขึ้นไตรมาสสองของปีนี้ เนื่องจากการยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน จะส่งผลดีต่อจำนวนชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ซึ่งจะช่วยให้ความต้องการใช้บริการห้องพักโรงแรมปรับตัวดีขึ้น”
“นอกจากนี้ โรงแรมที่จะสร้างเสร็จใหม่ในปีนี้ มีจำนวนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ หน้า ดังนั้น จึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดเพิ่มขึ้นมากนักในแง่ของอัตราการเข้าใช้บริการห้องพัก” นายแลงดอนกล่าว
ในขณะนี้ กรุงเทพฯ มีโรงแรมคิดเป็นจำนวนห้องพักรวมทั้งสิ้นประมาณ 100,000 ห้อง โดยในปีนี้ มีโรงแรมที่มีกำหนดจะสร้างเสร็จเพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น 2,200 ห้อง ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ชะลอลง เมื่อเทียบกับช่วง 4 ปีก่อนหน้าที่มีโรงแรมสร้างเสร็จเพิ่มเฉลี่ย 3,700 ห้องต่อปี
“แม้ไตรมาสสองจะมีแนวโน้มที่เป็นบวกกว่าไตรมาสแรกของปี แต่ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาทิศทางของตลาดโรงแรมในกรุงเทพฯ สำหรับช่วงที่เหลือของทั้งปี 2557 นี้ เนื่องจากต้องรอดูสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงต่อไป อย่างไรก็ดี ประสบการณ์จากวิกฤติการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ภาคธุรกิจโรงแรมของกรุงเทพฯ สามารถฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็ว จากอานิสงค์ของการที่กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก” นายแอนดรูว์สรุป
เจแอลแอลเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ดำเนินธุรกิจบริการและที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ใน 75 ประเทศ โดยในประเทศไทย เปิดดำเนินการนับตั้งแต่ปี 2533 และปัจจุบันเป็นบริษัทระหว่างประเทศรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในธุรกิจบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ มีพนักงานกว่า 1,350 คน และสำนักงานในกรุงเทพฯ ภูเก็ต และพัทยา